มักซีมีเลียน เบียร์เชอร์-เบ็นเนอร์

ดร.มักซีมีเลียน อ็อสคาร์ เบียร์เชอร์-เบ็นเนอร์ (เยอรมัน: Maximilian Oskar Bircher-Benner; 22 สิงหาคม พ.ศ. 2410 – 24 มกราคม พ.ศ. 2482) เป็นแพทย์และนักโภชนาการชาวสวิสรุ่นบุกเบิก ผู้ทำให้มูสลีเป็นที่นิยม

มักซีมีเลียน อ็อสคาร์ เบียร์เชอร์-เบ็นเนอร์
เกิด22 สิงหาคม ค.ศ. 1867(1867-08-22)
อาเรา สวิตเซอร์แลนด์
เสียชีวิต24 มกราคม ค.ศ. 1939(1939-01-24) (71 ปี)
ซือริช สวิตเซอร์แลนด์
อาชีพแพทย์, นักโภชนาการ
มีชื่อเสียงจากผู้ทำให้มูสลีเป็นที่นิยม
ผลงานวิทยาศาสตร์การอาหารสำหรับทุกคน

ประวัติ แก้

มักซีมีเลียน อ็อสคาร์ เบียร์เชอร์-เบ็นเนอร์ เกิดเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2410 ในเมืองอาเรา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีบิดาชื่อ ไฮน์ริช เบียร์เชอร์ (Heinrich Bircher) และมารดาชื่อ แบร์ทา ครือซี (Berta Krüsi)[1] เขาเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยซูริก เพื่อศึกษาทางด้านแพทยศาสตร์ จากนั้นเขาได้ก่อตั้งคลินิกโรคทั่วไปของตนเอง ในปีแรกที่เขาเปิดคลินิก เบียร์เชอร์-เบ็นเนอร์มีอาการของโรคดีซ่าน และเขาอ้างว่าเขาหายได้เพราะรับประทานแอปเปิลสด จากข้อสังเกตนี้ เขาได้ทำการทดลองเกี่ยวกับผลกระทบที่อาหารสดมีต่อร่างกาย และได้ส่งเสริมการบริโภคมูสลี ที่ประกอบไปด้วยข้าวโอ๊ตดิบ ผลไม้ และถั่ว[2] เบียร์เชอร์-เบ็นเนอร์ขยายงานวิจัยด้านโภชนาการของเขา และได้เปิดสถานพยาบาลชื่อ "พลังชีวิต" (Vital Force) ใน พ.ศ. 2440 เขาเชื่อว่าผลไม้และผักสดมีคุณค่าทางอาหารสูงสุด อาหารที่ผ่านการปรุงหรือกระบวนการอื่นๆ มีคุ่นค่าทางอาหารน้อยรองลงมา ส่วนเนื้อมีคุ่นค่าทางอาหารน้อยที่สุด เบียร์เชอร์-เบ็นเนอร์เลิกกินเนื้อในที่สุด แม้นักวิทยาศาสตร์คนอื่นในขณะนั้นไม่ค่อยเห็นด้วยกับสิ่งที่เขาเรียกว่า "วิทยาศาสตร์การอาหารรูปแบบใหม่" สักเท่าไหร่ ทว่าคนทั่วไปกลับติดใจในความคิดของเขาและได้ชี้นำทางทำให้เขาสามารถขยายสถานพยาบาลของเขา[3][4] รูปแบบการรับประทานตามแบบโภชนาการของเขาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2482 ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ด้วยวัย 71 ปี[5] เบียร์เชอร์-เบ็นเนอร์เขียนหนังสือที่ชื่อว่า วิทยาศาสตร์การอาหารสำหรับทุกคน (Food Science for All)[6][7]

โภชนาการ แก้

ณ สถานพยาบาลของเขาที่เมืองซือริช อาหารซึ่งประกอบด้วยผักและผลไม้สดถูกใช้เพื่อรักษาผู้ป่วย โดยเป็นการปฏิบัติซึ่งขัดต่อความเชื่อในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 เบียร์เชอร์-เบ็นเนอร์เชื่อว่าอาหารดิบมีสารอาหารมากกว่าเนื่องจากได้รับพลังงานโดยตรงจากดวงอาทิตย์[8] เขาเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์คนแรก ๆ ในยุโรปที่เชื่อว่าอาหารไม่เพียงแต่สนองความหิวได้เท่านั้น แต่ยังสามารถใช้ทำให้ร่างกายแข็งแรง เขาสนับสนุนให้ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงรับประทานอาหารดิบประมาณ 50% ทุกวัน ส่วนผู้ที่ร่างกายแข็งแรงควรรับประทานอาหารดิบ 100% อาลีเซอและแบร์ทา (พี่สาวและน้องสาวของเบียร์เชอร์-เบ็นเนอร์) สร้างสูตรอาหารที่ใช้ส่วนประกอบสด ๆ มากมายเพื่อทำให้อาหารดิบดูน่ารับประทานยิ่งขึ้น ด้วยความช่วยเหลือจากพี่สาวและน้องสาว สถานพยาบาลของเขาได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม นอกจากนี้เขายังขยายคลินิกของเขาอีกด้วย[9][10]

เบียร์เชอร์-เบ็นเนอร์เปลี่ยนนิสัยการกินของช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 จากที่กินแต่เนื้อสัตว์และขนมปังขาว เขาวางหลักของการกินผลไม้ ผัก และถั่ว นอกจากนี้ความคิดของเขาไม่ได้มีเพียงแต่ด้านโภชนาการเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงวินัยรูปแบบต่าง ๆ ณ สถานพยาบาลของเขาที่เมืองซือริช ผู้ป่วยต้องทำตามตารางประจำวันซึ่งคล้ายกับชีวิตอารามวาสี รวมไปถึง การเข้านอนเร็ว (เวลา 3 ทุ่ม) การฝึกด้านกายภาพ และงานการทำสวน อาหารแต่ละมื้อเริ่มต้นด้วยมูสลีชามเล็ก ซึ่งพัฒนาโดยเบียร์เชอร์-เบ็นเนอร์ ตามด้วยผักสดเป็นส่วนใหญ่และของหวาน ผู้ป่วยถูกห้ามไม่ให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ ช็อกโกแลต หรือสูบบุหรี่ ขณะกำลังรับการรักษา เบียร์เชอร์-เบ็นเนอร์ยังแนะนำให้ผู้ป่วยของเขาตากแดด อาบน้ำเย็น และใช้การอาบน้ำซึ่งมีคุณสมบัติเป็นยาที่ถูกพัฒนาโดยแพทย์ชาวอเมริกันที่มีชื่อว่า จอห์น ฮาร์วีย์ เคลล็อกก์[11] ทฤษฎีการใช้ชีวิตของเขาตั้งอยู่บนความกลมกลืนของคนและธรรมชาติ เหตุนี้เขาจึงตั้งชื่อสถานพยาบาลของเขาว่า "พลังชีวิต" ความคิดบางอย่างของเขาได้มาจากการเฝ้าดูชีวิตประจำวันของคนเลี้ยงแกะบนเทือกเขาแอลป์ ที่ใช้ชีวิตเรียบง่ายและมีร่างกายแข็งแรง

บทวิจารณ์ แก้

ความคิดทางด้านโภชนาการของเบียร์เชอร์-เบ็นเนอร์ตรงข้ามกับความเชื่อในสมัยนั้น ความคิดหลายอย่างของเขามาจากการสังเกตโดยไม่ได้ผ่านการทดลองและการวิเคราะห์ ด้วยเหตุนี้ เบียร์เชอร์-เบ็นเนอร์จึงถูกวิจารณ์อย่างหนักและไม่ค่อยได้รับความเคารพในฐานะนักโภชนาการ บทวิจารณ์หนึ่งในหนังสือสูตรอาหารของเขากล่าวว่า มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่สามารถรับประทานแค่ผักและผลไม้สดอย่างที่เบียร์เชอร์-เบ็นเนอร์แนะนำ เพราะว่าคนไม่ใช่สัตว์กินพืช[12]

มรดก แก้

ผลงานของเบียร์เชอร์-เบ็นเนอร์ไม่ได้รับการยอมรับจากนักวิทยาศาสตร์คนอื่น จนวิตามินและเกลือแร่ถูกค้นพบในผักและผลไม้เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2473[13] ไม่นานหลังการเสียชีวิตของเขา สถานพยาบาลแห่งที่สองก็ถูกก่อตั้งขึ้นภายใต้ชื่อ "สถานพยาบาลของประชาชนสำหรับวิถีชีวิตบนฐานของธรรมชาติ" และบริหารตามความคิดของเบียร์เชอร์-เบ็นเนอร์ ใน พ.ศ. 2482 คลินิกพลังชีวิตถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "คลินิกเบียร์เชอร์-เบ็นเนอร์" เพื่อเป็นการระลึกถึงเขา[14] ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 หลังการปิดตัวของสถานพยาบาล สถานที่ถูกใช้เป็นที่พักราคาประหยัดสำหรับนักเรียนอยู่พักหนึ่ง ก่อนถูกบริษัทประกันภัย Zürich Financial Services ซื้อไปและเปลี่ยนชื่อเป็น Zürich Development Center ซึ่งถูกใช้เพื่อฝึกอบรมผู้บริหาร และยังเป็นที่เก็บงานศิลปะส่วนบุคคลอีกด้วย

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. "Maximilian Oskar Bircher-Benner". CooksInfo.com. สืบค้นเมื่อ 2015-10-09.
  2. "Biography of Max Bircher-Benner - Zurich Development Center". www.zurichdevelopmentcenter.com. สืบค้นเมื่อ 2015-10-09.
  3. "Maximilian Oskar Bircher-Benner". CooksInfo.com. สืบค้นเมื่อ 2015-10-09.
  4. Notes on Books. The British Medical Journal. 1925-01-26. p. 157.
  5. "Dr. M. Bircher-Benner". The British Medical Journal. 1939-02-11. {{cite journal}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)
  6. "Dr. M. Bircher-Benner". The British Medical Journal. 1939-02-11. {{cite journal}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)
  7. Champat Rai Jain (1934). Jainism and World Problems. p. 192.
  8. Thuringer, Joseph M. (1927-09-01). Books Abroad. Board of Regents of the University of Oklahoma. p. 44.
  9. "Dr. M. Bircher-Benner". The British Medical Journal. 1939-02-11. {{cite journal}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)
  10. "Maximilian Oskar Bircher-Benner". CooksInfo.com. สืบค้นเมื่อ 2015-10-09.
  11. "Maximilian Oskar Bircher-Benner". CooksInfo.com. สืบค้นเมื่อ 2015-10-09.
  12. "Notes on Books". The British Medical Journal. 1935-01-26. {{cite journal}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)
  13. "Maximilian Oskar Bircher-Benner". CooksInfo.com. สืบค้นเมื่อ 2015-10-09.
  14. "Biography of Max Bircher-Benner - Zurich Development Center". www.zurichdevelopmentcenter.com. สืบค้นเมื่อ 2015-10-09.