มาลาเอกูลา (ตองงา: Malaʻekula หรือ Malaʻe Kula) (จตุรัสแดง) เป็นชื่อเรียกสุสานหลวงกลางกรุงนูกูอาโลฟาในราชอาณาจักรตองงา ประเทศทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก สถานที่แห่งนี้เป็นที่ฝังพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ตองงาและพระบรมวงศานุวงศ์ที่ใกล้ชิด (พระราชชายา, พระราชสวามี, พระราชบุตร) ส่วนพระบรมวงศานุวงศ์ที่สืบสายห่างออกไปจากสายหลัก เช่น พระภาดา พระภคินี พระชามาดา เป็นต้น จะได้รับการฝังพระบรมศพในบริเวณอื่น พระมหากษัตริย์ในอดีต เช่น ตูอีโตงา จะได้รับการฝังพระบรมศพในลางีที่เมืองมูอา

ถนนกษัตริย์มุ่งหน้าสู่มาลาเอกูลา โดยมีหลุมฝังพระศพของพระเจ้าจอร์จ ตูโปอูที่ 1 ในพื้นหลัง

มาลาเอกูลาตั้งอยู่ทางตอนใต้ของพระราชวังในระยะทางที่ไม่ไกลนักไปตามฮาลาตูอิ (ถนนกษัตริย์) ถนนกษัตริย์เป็นชื่ออย่างเป็นทางการของถนนเส้นนี้ และจากชื่อก็สื่อถึงว่าเป็นถนนเส้นสุดท้ายที่พระมหากษัตริย์ตองงาทุกพระองค์ได้เดินทางในรัชสมัยของแต่ละพระองค์ เพื่อมุ่งสู่สุสานของพระองค์ที่มาลาเอกูลา ถนนแห่งนี้ยังเป็นที่รู้จักในชื่อฮาลาไปนี (ถนนไพน์) เนื่องจากว่ามีการปลูกต้นสนฉัตร (ต้นไม้หลวงของตองงา) โดยชาวยุโรปตามแนวถนน แต่ปัจจุบันไม่มีปรากฎแล้ว เนื่องจากรากหยั่งลึกถึงน้ำเค็มใต้ดิน สุสานแห่งนี้ได้รับการสถานาเมื่อพระมหากษัตริย์ตองงายุคใหม่พระองค์แรก (พระเจ้าจอร์จ ตูโปอูที่ 1) สวรรคต หลุมฝังพระศพของพระองค์ตั้งอยู่ใจกลางของทุ่ง ซึ่งสามารถมองเห็นได้จากบริเวณพระราชวังไปตามฮาลาตูอิ

ศัพท์คำว่า มาลาเอ มีความหมายในภาษาตองงาว่า (หมู่บ้าน)-สีเขียว, สวน, สนามเด็กเล่นและอื่น ๆ แต่ยังเป็นคำราชาศัพท์ของคำว่า สุสาน อีกด้วย ส่วน กูลา มีความหมายว่า สีแดง ที่มาของชื่อเช่นนี้เป็นการระลึกถึงเทศกาลที่มีชื่อเสียงคือ กาโตอางากูลา (ตองงา: kātoanga kula) หรือเทศกาลแดงที่จัดขึ้น ณ ที่แห่งนี้เมื่อ ค.ศ. 1885 เทศกาลดังกล่าวเป็นการระดมเงินทุนสำหรับวิทยาลัยตองงา (ซึ่งมีสีประจำสถาบันเป็นสีชาด เปิดทำการใน ค.ศ. 1882) และในวันนั้นทุกคนต่างสวมชุดสีแดง

อ้างอิง แก้

  • Hixon, Margaret, 2000. Sālote, Queen of Paradise, A Biography. University of Otago Press.
  • Wood-Ellem, Elizabeth, 1999. Queen Sālote of Tonga. Auckland University Press.

21°08′10″S 175°12′14″W / 21.13611°S 175.20389°W / -21.13611; -175.20389