มาดอนนาแห่งเคียฟ

มาดอนนาแห่งเคียฟ (ยูเครน: Київська Мадонна) คือภาพที่เป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิงที่ให้นมลูกซึ่งหลบภัยในสถานีรถไฟใต้ดินของกรุงเคียฟ เพื่อป้องกันตัวจากการถูกโจมตีทางอากาศใส่เมืองหลวงของประเทศยูเครนโดยกองทัพสหพันธรัฐรัสเซียใน พ.ศ. 2565 ภาพถ่ายดังกล่าวโดยอ็อนดราช เฟิลแด็ช (András Földes) ผู้สื่อข่าวชาวฮังการี ได้รับความนิยมทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งได้กลายเป็นตัวอย่างของทั้งวิกฤตด้านมนุษยธรรมและความไม่ยุติธรรมของสงคราม ภาพดังกล่าวเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างรูปบูชาที่แสดงในโบสถ์คาทอลิกของชุมชนมุญญาโนดีนาโปลี (Mugnano di Napoli) ในประเทศอิตาลี ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ทางศิลปะของความหวังและการต่อต้าน[1][2]

มาดอนนาแห่งเคียฟ
Київська Мадонна
ศิลปินมารือนา ซอลอแมนนือกอวา
ปี2565 (2022)
สถานที่มุญญาโนดีนาโปลี

ประวัติ แก้

ในวันแรกของการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย พ.ศ. 2565 ภาพของแตจานา บลิซญัก (Тетяна Блізняк) หญิงวัย 27 ปี กำลังให้นมแก่มาริชกา (Марічка) บุตรสาววัย 3 เดือนของเธอ ขณะเข้าไปหลบในอุโมงค์ของสถานีรถไฟใต้ดินอูนีแวร์ซือแตต (Університет) ของสายสเวียตอชึนสกอ-บรอวาร์สกา (Святошинсько-Броварська) ในกรุงเคียฟ เพื่อป้องกันตัวเองจากกองกำลังของสหพันธรัฐรัสเซียซึ่งทำการโจมตีด้วยขีปนาวุธร่อนใส่กรุงเคียฟ ดึงดูดความสนใจของอ็อนดราช เฟิลแด็ช นักข่าวชาวฮังการีของสำนักข่าว Telex.hu โดยสัญชาตญาณเขาได้ถ่ายภาพดังกล่าว ผู้หญิงคนนี้หลบภัยในรถไฟใต้ดินพร้อมกับสามีและลูกตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 แม้ว่าพวกเขาควรจะต้องอพยพในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ แต่เนื่องจากการสู้รบพวกเขาจึงไม่สามารถออกจากอุโมงค์ที่ใช้เป็นที่กำบังอยู่ได้[3][4] ภาพถ่ายดังกล่าวกลายเป็นไวรัลและได้รับการแชร์โดยเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของสำนักเลขาธิการวาติกัน[5] มารือนา ซอลอแมนนือกอวา (Марина Соломенникова) ศิลปินชาวยูเครนจากดนีปรอเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้เห็นภาพ เธอใช้ภาพสัญลักษณ์ของหญิงคนนี้เป็นแรงบันดาลใจในการรังสรรค์ภาพวาดพระแม่มารีย์และพระบุตร โดยในภาพแสดงผ้าโพกศีรษะของผู้หญิงยูเครนแทนผ้าคลุมพระพักตร์ของพระแม่มารีย์ และด้านบนพระเศียรปรากฏรัศมีเป็นภาพของแผนที่รถไฟใต้ดิน ในวันที่ 5 มีนาคม ศิลปินได้โพสต์ภาพเหมือนที่เธอสร้างขึ้นในอินเทอร์เน็ต[6]

ตามคำร้องขอของวิยาแชสเลา ออกุญ (В'ячеслав Окунь) บาทหลวงในคณะเยสุอิตยูเครนซึ่งกำลังศึกษาอยู่ที่กรุงโรม ได้มีการส่งสำเนาของภาพวาด มาดอนนัซแมตรอ (Мадонна з метро) ไปยังประเทศอิตาลีโดยเก็บไว้ในสถานที่ซึ่งคณะบาทหลวงเป็นผู้ดูแล[2] ในวันพฤหัสบดีศักดิ์สิทธิ์ อัครมุขนายกแห่งนาโปลีได้ถวายภาพวาดเพื่อเป็นวัตถุบูชา[4] ไอคอนนี้จัดแสดงในโบสถ์พระหฤทัยของพระเยซู โดยภาพมีชื่ออย่างลำลองว่า มาดอนนาแห่งเคียฟ โบสถ์ตั้งอยู่ในชุมชนมุญญาโนดีนาโปลีของเมืองนาโปลี ซึ่งมีผู้ลี้ภัยจากยูเครนประมาณ 40 คน[7] ต่อมามีพิธีถวายภาพนี้เป็นวัตถุบูชาโดยสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2565[8]

แตจานา บลิซญัก มาจากแคว้นลวิว เธอจบการศึกษาด้านการบูรณะงานศิลปะจากสถาบันศิลปะแห่งชาติลวิว (Львівська Національна академія мистецтв) ต่อมาเธอได้แต่งงานและย้ายไปเคียฟโดยทำงานในสตูดิโอศิลปะ แตจานือ บลิซญัก ได้ลี้ภัยไปยังลวิวหลังจากการโจมตีของรัสเซีย[9]

ความหมาย แก้

ภาพดังกล่าวกลายเป็นทั้งภาพประกอบของวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมและสงครามที่ไม่ยุติธรรม และเป็นสัญลักษณ์ของความหวังและการต่อต้านอย่างเงียบ ๆ ของชาวยูเครน[2] ในทางกลับกันถือเป็นภาพสัญลักษณ์ของพระแม่มารีย์ในสมัยปัจจุบัน ผู้หลบซ่อนจากความรุนแรงของสงครามและบริบาลบุตรของเธอ เช่นเดียวกับภาพพระมารดาของพระเยซูชาวนาซาเรธซึ่งซ่อนพระองค์จากภัยของพระเจ้าเฮโรดมหาราช[10] ศาสตราจารย์ลุยจี ซันโตปาโอโล (Luigi Santopaolo) นักเทววิทยาชาวอิตาลี กล่าวว่าภาพบูชานี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แทนชาวยูเครนพลัดถิ่นทางตอนใต้ของอิตาลีทั้งหมด[11]

อ้างอิง แก้

  1. Molnár, Szabina (20 เมษายน 2022). "Egy olasz templomban megfestették a „kijevi Madonnát"". index.hu (ภาษาฮังการี). สืบค้นเมื่อ 10 มีนาคม 2023.
  2. 2.0 2.1 2.2 Toma, Mihai (30 เมษายน 2022). ""Madona din Kiev". Poza cu o ucraineancă alăptându-și copilul într-un adăpost de la metrou, ajunsă icoană într-o biserică din Italia". Libertatea (ภาษาโรมาเนีย).
  3. Földes, András (14 มีนาคม 2022). "Megtaláltuk a pár hete még a kijevi metrós óvóhelyen kisbabát szoptató anyukát". telex.hu (ภาษาฮังการี). Van Másik Zrt. สืบค้นเมื่อ 10 มีนาคม 2023.
  4. 4.0 4.1 Marcu, Nina (25 เมษายน 2022). "Madona del Metro la Napoli". Ziarul Puterea (ภาษาโรมาเนีย).
  5. "Francesco: penso alle mamme e ai bimbi in fuga dalle guerre, il mondo ritrovi concordia". vaticannews.va (ภาษาอิตาลี). Dicasterium pro Communicatione. มีนาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 10 มีนาคม 2023.
  6. Mauro, J-P (28 มีนาคม 2022). "Ukrainian mother breastfeeding during war becomes Marian icon". Aleteia (ภาษาอังกฤษ).
  7. Volosatska, Natalia; Pavlovska, Olga; Verbetska, Tetyana (3 พฤษภาคม 2022). "Le regard des journalistes ukrainiens. La Madone de Kiev". Arte (ภาษาฝรั่งเศส). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 ธันวาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 21 มีนาคม 2023.
  8. ""Madonna of Kyiv" icon depicted in one of the churches of Naples". Religious Information Service of Ukraine (ภาษาอังกฤษ). 20 เมษายน 2022.
  9. Pietrarosa, Emma (24 เมษายน 2022). "Madonna di Kiev: la donna ucraina che allatta diventa un simbolo di culto". Roba da Donne (ภาษาอิตาลี).
  10. Melnyczuk, Askold (2 มีนาคม 2022). "With Madonna in Kyiv". AGNI Magazine. Boston University.
  11. Getten, Nelson; Guez, Ariel (3 พฤษภาคม 2022). "Tatiana, la «Madone de Kiev», est devenue «un symbole de toutes les mères d'Ukraine»". BFMTV (ภาษาฝรั่งเศส). สืบค้นเมื่อ 21 มีนาคม 2023.