พระเจ้าเฮโรดมหาราช
พระเจ้าเฮโรดมหาราช (อังกฤษ: Herod the Great หรือ Herod I; ฮีบรู: הוֹרְדוֹס Horodos, กรีก: Ἡρῴδης (Hērōdēs)) (73 - 4 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เป็นพระเจ้าแผ่นดินแห่งมณฑลยูเดีย[1] (Iudaea Province) ของจักรวรรดิโรมัน เฮโรดมิได้สืบเชื้อสายมาจากชาวยิว และตอนแรกเป็นเพียงคนรับใช้[2] [3] กล่าวกันว่าเป็น “ผู้บ้าอำนาจและฆาตกรรมครอบครัวของตนเองและรับบีอีกหลายคน” [4] ยูเดียในรัชสมัยของพระองค์เจริญรุ่งเรืองและมีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญเป็นประวัติศาสตร์มากมาย
พระเจ้าเฮโรดมหาราช | |
---|---|
กษัตริย์แห่งยูเดีย | |
ครองราชย์ | 37 ปีก่อนค.ศ.– ประมาณ 4 ปีก่อนค.ศ. |
ถัดไป | |
ประสูติ | ประมาณ 74/73 ปีก่อนค.ศ. |
สวรรคต | ประมาณ 4 ปีก่อนค.ศ. เจริโค, ยูเดีย |
ฝังพระศพ | น่าจะฝังที่เฮโรเดียม |
สนม |
|
พระราชบุตร | |
ราชวงศ์ | ราชวงศ์เฮโรด |
พระราชบิดา | Antipater the Idumaean |
พระราชมารดา | Cypros |
ศาสนา | Second Temple Judaism |
พระเจ้าเฮโรดมหาราชมักจะสับสนกับเฮโรด อันทิปาสที่มาจากราชวงศ์เฮโรเดียน (Herodian dynasty) เดียวกัน ผู้เป็นประมุขของกาลิลี ระหว่างปีที่ 4 ก่อนคริสต์ศักราช จนถึง ค.ศ. 39 ในช่วงเวลาของนักบุญยอห์นผู้ให้บัพติศมาและพระเยซู พระเจ้าเฮโรดทรงมีชื่อเสียงในงานสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่ในกรุงเยรูซาเลมและบริเวณอื่น ๆ ในดินแดนโบราณรวมทั้งการก่อสร้างพระวิหารหลังที่สอง (Second Temple) ในกรุงเยรูซาเลมที่บางครั้งก็เรียกว่าพระวิหารของพระเจ้าเฮโรด พระราชประวัติของพระองค์ได้รับการกล่าวถึงบ้างในงานเขียนของโยเซพุส นักประวัติศาสตร์ชาวโรมัน-ยิวสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 1
ในคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า พระเจ้าเฮโรดมีพระราชโองการให้ประหารเด็กทุกคนในหมู่บ้านเบธเลเฮมเพราะทรงหวาดกลัวว่าเด็กที่เกิดใหม่จะเติบโตขึ้นมาเป็น “พระมหากษัตริย์แห่งชาวยิว” (King of the Jews) และยึดราชบัลลังก์ของพระองค์ ตามคำพยากรณ์ของแมไจตามที่บรรยายในพระวรสารนักบุญมัทธิว[5] แต่นักเขียนพระราชประวัติของพระเจ้าเฮโรดเมื่อไม่นานมานี้ค้านว่าเหตุการณ์การสังหารหมู่นั้น อาจจะมิได้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์[6]
ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่สองก่อนสากลศักราช ยูเดียอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์เซเลอคิดแห่งซีเรีย ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ราชวงศ์ที่เกิดขึ้นหลังจากจักรวรรดิของอะเล็กซานเดอร์มหาราชล่มสลาย อย่างไรก็ตาม ประมาณปี 168 ก่อนคริสต์ศักราช เมื่อกษัตริย์ของราชวงศ์เซเลอคิดพยายามจะนำเอาการนมัสการซูสเข้ามาแทนที่การนมัสการพระยะโฮวาในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเลม ชาวยิวซึ่งนำโดยตระกูลแมกคาบีจึงก่อกบฏ พวกแมกคาบีหรือฮัสโมเนียนปกครองยูเดียในช่วงปี 142-63 ก่อนคริสต์ศักราช
ในปี 66 ก่อนคริสต์ศักราช เจ้าชายแห่งฮัสโมเนียนสององค์คือ ฮีร์คานุสที่ 2 และอาริสโตบุลุสน้องชายได้ต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงบัลลังก์ หลังจากนั้นเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น ทั้งคู่จึงไปขอความช่วยเหลือจากปอมปีย์แม่ทัพของโรมันซึ่งเวลานั้นอยู่ในซีเรีย ปอมปีย์ก็ฉวยโอกาสเข้าแทรกแซงทันที
ที่จริง พวกโรมันกำลังขยายอิทธิพลไปทางตะวันออก และในเวลานั้นพวกเขายึดครองอาณาเขตส่วนใหญ่ของเอเชียไมเนอร์ได้แล้ว แต่เนื่องจากซีเรียมีผู้ปกครองที่ไม่เข้มแข็งสืบต่อกันมาหลายสมัย บ้านเมืองจึงตกอยู่ในสภาพที่ไม่มีขื่อไม่มีแปซึ่งขัดกับความพยายามของโรมที่ต้องการจะรักษาความสงบสุขในดินแดนทางตะวันออกเอาไว้ ดังนั้น ปอมปีย์จึงเข้ายึดครองซีเรีย
ปอมปีย์แก้ปัญหาความขัดแย้งในราชวงศ์ฮัสโมเนียนด้วยการสนับสนุนฮีร์คานุส และในปี 63 ก่อนคริสต์ศักราช พวกโรมันได้บุกโจมตีเยรูซาเลมและตั้งฮีร์คานุสเป็นกษัตริย์ แต่ฮีร์คานุสไม่ได้ปกครองอย่างเอกเทศ พวกโรมันได้เข้ามาแล้วและพวกเขาจะไม่ถอนอิทธิพลออกไปจากดินแดนนี้ ฮีร์คานุสกลายเป็นผู้นำประชาชนที่ต้องปกครองภายใต้อำนาจของโรม และต้องพึ่งการสนับสนุนจากโรมเพื่อรักษาบัลลังก์เอาไว้ เขาสามารถจะบริหารจัดการเรื่องราวภายในได้ตามที่ต้องการ แต่ในเรื่องความสัมพันธ์กับชาติอื่น ๆ เขาจะต้องทำตามนโยบายของโรม
ฮีร์คานุสเป็นผู้ปกครองที่ไม่เข้มแข็ง แต่เขาได้รับการสนับสนุนจากอันทิพาเทอร์ชาวอิดูเมีย ซึ่งเป็นบิดาของเฮโรดมหาราช อันทิพาเทอร์เป็นผู้มีอำนาจที่ให้การช่วยเหลืออยู่เบื้องหลัง เขาสามารถควบคุมพวกยิวกลุ่มต่าง ๆ ที่คิดจะต่อต้านกษัตริย์ได้ และในไม่ช้าตัวเขาเองก็มีอำนาจเหนือยูเดียทั้งหมด เขาได้ช่วยจูเลียส ซีซาร์ รบกับศัตรูในอียิปต์ และพวกโรมันได้ให้รางวัลแก่อันทิพาเทอร์โดยการตั้งเขาเป็นผู้สำเร็จราชการที่ขึ้นกับโรมโดยตรง ส่วนอันทิพาเทอร์เองก็แต่งตั้งบุตรชายสองคน คือฟาเซล ให้เป็นผู้ว่าราชการเยรูซาเลมและเฮโรด ให้เป็นผู้ว่าราชการแกลิลี
อันทิพาเทอร์ได้สอนลูกของตนว่าไม่ว่าจะทำสิ่งใดก็ตามไม่อาจสำเร็จได้ถ้าปราศจากการเห็นชอบจากโรม เฮโรดก็ได้จำคำสอนนี้ไว้อย่างดี ตลอดเวลาที่อยู่ในตำแหน่ง เขาพยายามจะเอาใจโรมที่ช่วยให้เขามีอำนาจ และขณะเดียวกันก็เอาใจชาวยิวที่อยู่ใต้อำนาจตนด้วย สิ่งที่ช่วยเขาก็คือความสามารถในการบริหารและการดูแลกองทัพ เมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการ เฮโรดในวัย 25 ปีก็กลายเป็นที่ชื่นชอบของทั้งชาวยิวและชาวโรมันเนื่องจากเขาได้ปราบปรามกองโจรทั้งหลายอย่างแข็งขันให้หมดไปจากเขตปกครอง
หลังจากอันทิพาเทอร์ถูกศัตรูวางยาพิษในปี 43 ก่อนคริสต์ศักราช เฮโรดก็กลายมาเป็นผู้มีอำนาจมากที่สุดในยูเดีย แต่เขาก็มีศัตรูด้วย พวกขุนนางในเยรูซาเลมถือว่าเฮโรดเป็นผู้ช่วงชิงอำนาจ และพยายามเกลี้ยกล่อมให้โรมถอดเขาออกจากตำแหน่ง ความพยายามนั้นล้มเหลว โรมยังระลึกถึงคุณความดีของอันทิพาเทอร์และชื่นชมความสามารถของเฮโรด
วิธีที่ปอมปีย์แก้ปัญหาการสืบราชบัลลังก์ของฮัสโมเนียนประมาณ 20 ปีก่อนได้สร้างความขมขื่นให้กับหลายฝ่าย ฝ่ายที่สนับสนุนอาริสโตบุลุสพยายามที่จะแย่งอำนาจคืนมาหลายครั้งหลายหนแต่ไม่ประสบความสำเร็จ แต่แล้วในปี 40 ก่อนคริสต์ศักราช พวกเขาก็ประสบความสำเร็จด้วยความช่วยเหลือจากชาวปาร์เทียซึ่งเป็นศัตรูของโรม ระหว่างที่เกิดความโกลาหลวุ่นวายในกรุงโรมเนื่องจากสงครามกลางเมือง พวกเขาได้ฉวยโอกาสโจมตีซีเรีย ถอดถอนฮีร์คานุส และแต่งตั้งสมาชิกของราชวงศ์ฮัสโมเนียนคนหนึ่งที่ต่อต้านโรมให้ขึ้นครองอำนาจ
เฮโรดหนีไปโรมและได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ชาวโรมันต้องการขับไล่พวกปาร์เทียออกไปจากยูเดียและยึดดินแดนนั้นกลับมา และตั้งผู้ปกครองที่ตนเห็นชอบ พวกเขาต้องการพันธมิตรที่ไว้ใจได้และเห็นว่าเฮโรดคือผู้ที่เหมาะสม สภาสูงของโรมจึงได้ตั้งเฮโรดเป็นกษัตริย์แห่งยูเดีย เพื่อจะรักษาอำนาจของตนไว้ เฮโรดได้ทำหลายสิ่งที่เป็นการประนีประนอมความเชื่อ สิ่งหนึ่งก็คือเขาได้นำขบวนแห่จากสภาสูงไปยังวิหารแห่งจูปีเตอร์เพื่อถวายเครื่องบูชาให้แก่เหล่าเทพเจ้านอกรีต
ด้วยความช่วยเหลือจากกองทหารโรมัน เฮโรดเอาชนะศัตรูในยูเดียและทวงบัลลังก์คืนมาได้ เขาแก้แค้นผู้ที่เคยต่อต้านตนอย่างโหดเหี้ยม เขากำจัดราชวงศ์ฮัสโมเนียนและเหล่าขุนนางชาวยิวที่สนับสนุนราชวงศ์นี้ รวมทั้งใครก็ตามที่ไม่พอใจจะอยู่ใต้อำนาจผู้ปกครองที่เป็นมิตรกับโรม
ในปี 31 ก่อนคริสต์ศักราช เมื่อออกเตเวียสได้ชัยชนะเหนือมาร์ก แอนโทนีที่อักทิอุม และกลายเป็นผู้ปกครองที่มีอำนาจแต่ผู้เดียวของโรม เฮโรดก็กลัวว่าออกเตเวียสจะสงสัยตนเนื่องจากเคยมีมิตรภาพอันยาวนานกับมาร์ก แอนโทนี เฮโรดจึงรีบไปหาออกเตเวียสเพื่อยืนยันว่าตนยังจงรักภักดีอยู่ ผู้ปกครององค์ใหม่ของโรมก็ได้รับรองกับเฮโรดว่าเขายังเป็นกษัตริย์ของยูเดียและมอบดินแดนเพิ่มให้อีก
ในช่วงหลายปีหลังจากนั้น เฮโรดได้สร้างความมั่นคงให้กับอาณาจักรของตนโดยทำให้กรุงเยรูซาเลมกลายเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมกรีก เขาได้ริเริ่มโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น ราชวังหลายหลัง, เมืองท่าซีซาเรีย, และพระวิหารในกรุงเยรูซาเลมที่ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างใหม่ ๆ ที่ใหญ่โตหรูหรา ตลอดช่วงเวลานั้น นโยบายของเฮโรดมุ่งเน้นที่การรักษาความสัมพันธ์กับโรมซึ่งเป็นขุมกำลังของตน
อำนาจปกครองของเฮโรดเหนือยูเดียนั้นเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด นอกจากนี้ เฮโรดยังใช้อำนาจเหนือมหาปุโรหิตด้วย โดยแต่งตั้งผู้ที่ตนพอใจให้ดำรงตำแหน่งนี้
ชีวิตส่วนตัวของเฮโรดมีแต่เรื่องวุ่นวาย ในจำนวนมเหสีสิบคนของเฮโรดมีหลายคนที่ต้องการให้บุตรชายของตนสืบบัลลังก์ต่อจากราชบิดา แผนร้ายต่าง ๆ ในราชวังทำให้เฮโรดระแวงสงสัยและทำสิ่งที่เหี้ยมโหด ด้วยความหึงหวง เขาได้สั่งประหารมาเรียมมเหสีคนโปรด และต่อมาสั่งให้รัดคอบุตรชายสองคนของนางเนื่องจากมีคนกล่าวหาว่าคบคิดแผนชั่วต่อต้านตน บันทึกในมัดธายเกี่ยวกับการสั่งฆ่าเด็กทุกคนในเบทเลเฮมจึงสอดคล้องลงรอยกับเรื่องที่ผู้คนรู้กันดีเกี่ยวกับนิสัยของเฮโรดรวมทั้งความมุ่งมั่นของเขาที่จะกำจัดทุกคนที่สงสัยว่าเป็นศัตรู
บางคนบอกว่าเนื่องจากเฮโรดรู้ตัวว่าไม่เป็นที่นิยมชมชอบ เขาจึงตั้งใจจะทำให้คนทั้งชาติโศกเศร้าในการตายของตนแทนที่จะดีใจ เพื่อให้แผนการสำเร็จ เขาได้จับประชาชนระดับผู้นำของยูเดียและสั่งไว้ว่าให้ฆ่าคนเหล่านี้เมื่อมีการประกาศการตายของเขา แต่ก็ไม่ได้มีการปฏิบัติตามคำสั่งนี้
เมื่อเฮโรดสิ้นพระชนม์ โรมได้แต่งตั้งอาร์คีลาอุสให้เป็นผู้ปกครองยูเดียต่อจากราชบิดา และแต่งตั้งบุตรชายอีกสองคนของเฮโรดเป็นเจ้าชายหรือเจ้าผู้ครองแคว้นที่ไม่ขึ้นกับโรม คืออันทีพัสเป็นผู้ครองแคว้นแกลิลีและพีเรีย ส่วนฟิลิปเป็นผู้ครองแคว้นอิตูเรียและทราโคนิทิส อาร์คีลาอุสไม่เป็นที่ชื่นชอบของราษฎรและของโรม หลังจากปกครองได้สิบปีโดยไม่มีผลงานที่น่าพอใจ โรมจึงปลดเขาออกจากตำแหน่งและแต่งตั้งผู้ว่าราชการของโรมเองให้ปกครอง ซึ่งก็คือผู้ที่ดำรงตำแหน่งก่อนปอนติอุสปีลาต ในระหว่างนั้น อันทีพัสซึ่งลูกาเรียกสั้น ๆ ว่าเฮโรด ยังคงปกครองแคว้นของตนต่อไปเช่นเดียวกับฟิลิป นี่เป็นสถานการณ์ทางการเมืองตอนที่พระเยซูเริ่มทำงานประกาศสั่งสอน—ลูกา 3:1
อ้างอิง
แก้- ↑ "Herod". Encyclopædia Britannica Online. Encyclopædia Britannica. 2007. สืบค้นเมื่อ 2007-07-27.
born 74 BC died March/April, 4 BC, Jericho, Judaea byname Herod the Great, Latin Herodes Magnus Roman-appointed king of Judaea ... his father, Antipater, was an Edomite (an Arab from the region between the Dead Sea and the Gulf of Aqaba)
- ↑ http://www.jewishvirtuallibrary.org/jsource/Archaeology/jericho.html
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-08-06. สืบค้นเมื่อ 2009-04-06.
- ↑ http://www.aish.com/literacy/JewishHistory/Crash_Course_in_Jewish_History_Part_31_-_Herod3_the_Great.asp
- ↑ MATTHEW 2:16 "When Herod realized that he had been outwitted by the Magi, he was furious, and he gave orders to kill all the boys in Bethlehem and its vicinity who were two years old and under, in accordance with the time he had learned from the Magi." 'HOLY' Bible, New International Version (Eng. Bible-NIV095-00301 ABS-1986-20,000-Z-1)
- ↑ "Most recent biographies of Herod the Great deny it entirely", Paul L. Maier, "Herod and the Infants of Bethlehem", in Chronos, Kairos, Christos II, Mercer University Press (1998), 170; see also Geza Vermes, The Nativity: History and Legend, London, Penguin, 2006, p22; E. P. Sanders, The Historical Figure of Jesus, Penguin, 1993, p.85
ดูเพิ่ม
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ พระเจ้าเฮโรดมหาราช