มหาวิทยาลัยเคนซิงตัน
มหาวิทยาลัยเคนซิงตัน (อังกฤษ: Kensington University) เป็นสถาบันการศึกษาทางไกลซึ่งเดิมตั้งทำการอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียและต่อมาเปิดทำการในรัฐฮาวาย จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งสองสั่งปิดเนื่องจากไม่ผ่านการรับรองคุณภาพ
ประวัติ
แก้แอลเฟรด คาลาโบร (Alfred Calabro) ก่อตั้งสถาบันนี้ขึ้นใน ค.ศ. 1976 ที่เกรนเดล แคลิฟอร์เนีย เพื่อรองรับความต้องการผู้ใหญ่วัยทำงาน[1] ที่ตั้งของสถาบันนี้ในเกรนเดลยังใช้เป็นสำนักงานกฎหมายของคาลาโบรด้วย และสถาบันนี้ประสาทปริญญาทุกระดับในหลายวิชา[2]
นับแต่ก่อตั้งใน ค.ศ. 1976 สถาบันนี้มีสถานะเป็นสถาบันอิสระซึ่ง "ได้รับอนุญาต" สำหรับการศึกษาหลังมัธยมศึกษาในแคลิฟอร์เนีย[3] แต่หลังจัดตั้งสภาการศึกษาเอกชนหลังมัธยมศึกษาและอาชีวะแคลิฟอร์เนีย (California Council for Private Postsecondary and Vocational Education) ใน ค.ศ. 1989 เพื่อจัดระเบียบสถาบันอุดมศึกษาในแคลิฟอร์เนียแล้ว มีการกำหนดให้สถาบันแห่งนี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาดังกล่าว สภาเข้าตรวจสอบสถาบันนี้เป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1994 และพบความบกพร่องหลายประการ[1][2] หลังเป็นคดีความกันยืดเยื้อ สถาบันแห่งนี้ก็ถูกเจ้าหน้าที่รัฐแคลิฟอร์เนียสั่งปิดใน ค.ศ. 1996[2] สภาการศึกษาดังกล่าวแถลงว่า "ที่มหาวิทยาลัยเคนซิงตัน คุณสามารถได้รับปริญญาชั้นสูงโดยไม่ต้องมีมาตรฐานการศึกษาที่เคร่งครัดหรือน่าเชื่อถืออะไรมากมายหรือไม่ต้องมีเลยก็ได้"[2] ต่อมาในเดือนกันยายน ค.ศ. 1996 แอนโทนี คาลาโบร (Anthony Calabro) เปิดสถาบันแห่งนี้ใหม่[4] ที่เกาะโอวาฮู ฮาวาย[5] จนกระทั่งถูกศาลสั่งปิดอีกใน ค.ศ. 2003[6][7]
ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง
แก้มีรายงานใน ค.ศ. 1996 ว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้แล้ว 7,000 คน[8]
หนึ่งในผู้สำเร็จการศึกษาดังกล่าว คือ เจนนิเฟอร์ แคร์รอลล์ (Jennifer Carroll) ซึ่งดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการรัฐฟลอริดาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฟลอริดา แคร์รออล์ได้รับปริญญาบัตรชั้นมหาบัณฑิตสาขาบริหารธุรกิจจากสถาบันนี้ใน ค.ศ. 1995 แต่หลังรับทราบข้อชวนวิตกเกี่ยวกับความชอบธรรมของสถาบันแห่งนี้จากรายงานสืบสวนของสำนักข่าวซีบีเอสนิวส์ แคร์รอลล์ก็ถอดเรื่องการศึกษาดังกล่าวออกจากประวัติส่วนตัวใน ค.ศ. 2004 อย่างไรก็ดี ที่สุดแล้ว แคร์รอลล์ก็จำต้องลาออกจากตำแหน่งในคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยทุนการศึกษาจากประธานาธิบดี (National Commission on Presidential Scholars)[7][9] อีกผู้หนึ่งที่รายงานของซีบีเอสนิวส์ระบุว่า ได้รับปริญญาบัตรจากสถาบันแห่งนี้ คือ เรเน ดรูอิน (René Drouin) ซึ่งดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาประจำกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐ[7] ทั้งแคร์รอลล์และดรูอินให้สัมภาษณ์โดยยืนยันว่า ได้บากบั่นเล่าเรียนในการศึกษาที่สถาบันนี้ และเชื่อว่า หลักสูตรที่นี่ถูกต้อง[7][9]
มาร์ติน เอส. รอเดน (Martin S. Roden) อาจารย์สอนวิศวกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (ยูซีแอลเอ) เป็นอีกบุคคลที่ได้รับปริญญาบัตรชั้นดุษฎีบัณฑิตจากสถาบันแห่งนี้ใน ค.ศ. 1982 ซึ่งในเวลานั้นรอเดนได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์เต็มขั้นประจำยูซีแอลเอไปแล้ว[1][10] ใน ค.ศ. 1996 รอเดนให้สัมภาษณ์ว่า สถาบันแห่งนี้ "ไม่ใช่ของเก๊ แต่แน่นอนว่า คนจบจากที่นั่นเทียบชั้นกับคนจบจากยูซีแอลเอไม่ได้"[1] ภายหลัง รอเดนให้สัมภาษณ์แก่ ครอนิเคิลออฟไฮเออร์เอดยูเคชัน ว่า ตนมีปริญญาบัตรชั้นดุษฎีบัณฑิต (ชั้นดอกเตอร์) จากสถาบันนี้เพียงเพื่อจะได้ไม่ต้องคอยแก้ไขคำพูดของนักศึกษาที่เรียกตนผิด ๆ ว่า "ดอกเตอร์"[10]
อนึ่ง ปริญญาบัตรจากสถาบันแห่งนี้เป็นปริญญาบัตรจากสถาบันการศึกษาแห่งเดียวในโลกตะวันตกที่จัดแสดงไว้ ณ ทำเนียบของคิม อิล-ซ็อง ประธานาธิบดีเกาหลีเหนือผู้ล่วงลับแล้ว และภายหลังก็แสดงไว้ที่สุสานของเขาด้วย[11][12]
กฎหมายอาญาเท็กซัส
แก้ตามประมวลกฎหมายอาญาเท็กซัส การใช้ปริญญาบัตรจากสถาบันแห่งนี้เป็นความผิดอาญาลหุโทษ ถ้าเป็นการใช้ "ในการโฆษณาหรือส่งเสริมอย่างอื่นในทางธุรกิจ ไม่ว่าเป็นลายลักษณ์อักษรหรือเป็นวาจา หรือเพื่อความมุ่งประสงค์ที่จะได้รับเลือกเข้าทำงาน ได้รับใบอนุญาตหรือใบรับรองให้ประกอบการค้า วิชาชีพ หรืออาชีพ ได้รับการส่งเสริม ค่าตอบแทน หรือประโยชน์อย่างอื่น หรือได้รับการเพิ่มค่าตอบแทนหรือประโยชน์อย่างอื่นในการทำงานหรือในการประกอบการค้า วิชาชีพ หรืออาชีพ หรือได้รับการยอมรับเข้าหลักสูตรการศึกษาในรัฐนี้ หรือได้มาซึ่งตำแหน่งหน้าที่ทางราชการซึ่งมีอำนาจเหนือบุคคลอื่น ไม่ว่าผู้กระทำได้รับค่าตอบแทนสำหรับตำแหน่งหน้าที่นั้นหรือไม่"[13] ความผิดอาญาดังกล่าวมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 ดอลลาร์ จำคุกไม่เกิน 180 วัน หรือทั้งปรับทั้งจำดังกล่าว[14]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 Chandler, John (April 23, 1996). "Kensington University Faces Closure Hearing". Los Angeles Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 16, 2012.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 Chandler, John (January 4, 1996). "State Orders Closure of Area School: Regulators say the private, Glendale-based Kensington University lacks 'credible academic standards'". Los Angeles Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 16, 2012.
- ↑ California Postsecondary Education Commission. "California Colleges and Universities" (PDF). p. 13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ August 10, 2013. สืบค้นเมื่อ July 22, 2013.
- ↑ "BREG Online Services - powered by eHawaii.gov". สืบค้นเมื่อ 29 July 2014.
- ↑ Chandler, John (June 27, 1996). "University Sidesteps Close Order: Kensington correspondence school transfers Glendale student enrollment to 'paper campus' in Hawaii". Los Angeles Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 16, 2012.
- ↑ "Kensington University". State of Hawai’i Office of Consumer Protection. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ June 15, 2011. สืบค้นเมื่อ May 25, 2013.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 7.3 "Top Officials Hold Fake Degrees". CBS News. May 10, 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ May 12, 2004.
- ↑ Chandler, John (April 6, 1996). "Lawyer Fights to Keep His School Going". Los Angeles Times.
- ↑ 9.0 9.1 Majors, Stephen (May 12, 2004). "Lawmaker to check her degree's status". Florida Times-Union.
- ↑ 10.0 10.1 Bartlett, Thomas; Smallwood, Scott (June 25, 2004). "Psst. Wanna Buy a Ph.D.?". Chronicle of Higher Education.
- ↑ Burdick, Eddie (2010). Three Days in the Hermit Kingdom: An American Visits North Korea. McFarland. pp. 115–116. ISBN 978-0786448982.
- ↑ Lindval, Bengt. "Inside the Democratic People's Republic of Korea". Now Toronto. January 13, 2016.
- ↑ "Institutions Whose Degrees are Illegal to Use in Texas". Texas Higher Education Coordinating Board. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ July 12, 2017. สืบค้นเมื่อ July 19, 2017.
- ↑ "Section 12.22, Texas Penal Code ('Class B Misdemeanor')". Texas Constitution and Statutes. สืบค้นเมื่อ July 19, 2017.