มธุรัตถวิลาสินี
มธุรัตถวิลาสินี เป็นคัมภีร์อรรถกถา อธิบายความในพุทธวงศ์ แห่งขุททกนิกาย ผลงานของพระพุทธทัตตะ ซึ่งเป็นพระอรรถกถาจารย์รุ่นหลังพระพุทธโฆสะ เนื้อหาหลักของคัมภีร์นี้ ก็เพื่ออธิบายรายละเอียดเกี่ยวที่ปรากฏในหมวดพุทธวงศ์ ซึ่งว่าด้วยพุทธประวัติ พระจริยาวัตร และพุทธลักษณะของพระพุทธเจ้าพระองค์ต่าง ๆ
ชื่อคัมภีร์
แก้มธุรัตถวิลาสินี สามารถแยกได้ออกเป็น 3 คำ คือ "มธุร" แปลว่า "ไพเราะ" หรือ "อร่อย" ส่วนคำว่า "อัตถ" แปลว่า "เนื้อความ" และคำว่า "วิลาสินี" แปลว่า "งาม" รวมเป็น มธุรัตถวิลาสินี อันมีความหมายว่า "อรรถกถานี้งามด้วยเนื้อความอันไพเราะ" นอกจากนี้ คัมภีร์นี้ยังมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า "มธุรัตถัปปกาสินี" ซึ่งแปลว่า "เป็นอรรถประกาศเนื้อความอันไพเราะ" [1]
ผู้แต่ง
แก้นิคมนกถา หรือ คำส่งท้ายเรื่องของมธุรัตถวิลาสินี ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าพระพุทธทัตตะคือผู้รจนาคัมภีร์นี้ ดังปรากฏข้อความว่า "พระเถระโดยนามที่ท่านครูทั้งหลายขนานให้ปรากฏว่า พระพุทธทัตตะ แต่งคัมภีร์อรรถกถา ชื่อมธุรัตถวิลาสินี" [2]
โดยท่านผู้รจนาพรรณนาว่า คัมภีร์นี้แต่งขึ้นขณะที่ ท่านจำพรรษาอยู่ที่วิหารริมฝั่งชุมทางแม่น้ำกาวีระ แถบท่าเรือกาวีระ ในแคว้นโจฬะ อินเดียใต้ โดยท่านพักอาศัยอยู่ ณ พื้นปราสาทด้านทิศตะวันออกในวิหารนั้น โดยวิหารอันงดงามและรื่นรมย์สมดังที่ท่านพรรณนาว่า "มีกำแพงและซุ้มประตูอันงามโดยอาการต่าง ๆ ถึงพร้อมด้วยร่มเงาและน้ำ น่าดู น่ารื่นรมย์ เป็นที่คับแคบแห่งทุรชนที่ถูกกำจัด เป็นที่สงัดสบาย น่าเจริญใจ" แห่งนี้ สร้างขึ้นโดยสาธุชนผู้มีนามว่า กัณหทาส[3]
ข้อมูลชั้นเดิมระบุว่า ผู้ที่รจนาคัมภีร์นี้คือพระพุทธทัตตะ พระเถระชาวอินเดียใต้สมัยราชวงศ์โจฬะ ผู้เดินทางไปสืบพระศาสนาที่ลังกาและอยู่ร่วมสมัยกับพระพุทธโฆสะ แม้แต่ข้อมูลชั้นหลังส่วนใหญ่ก็ระบุตรงกันว่า พระพุทธทัตตะคือ ผู้รจนาคัมภีร์มธุรัตถวิลาสินี [4] โดยท่านได้รับการอาราธนาจากพุทธสีหะ ให้แต่งคัมภีร์นี้ขึ้น เพื่อทำลายความชั่วร้ายในใจปวง เพื่อความตั้งมั่น แห่งพระพุทธศาสนา เพื่อความเกิดและเจริญแห่งบุญของปวงประชารวมถึงตัวท่านผู้รจนาเอง และที่สำคัญที่สุดคือเพื่อยังมหาชนให้เลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนา และสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า [5]
อย่างไรก็ตาม มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า คัมภีร์อรรถกถานี้อาจจะเป็นงานที่มีก่อนพระพุทธโฆสะไปลังกาด้วยซ้ำ [6] โดยคาดว่า เนื่องจากมีผู้แสดงความเห็นว่าพระพุทธทัตตะอาจมีอายุมากกว่าหรือเท่ากับพระพุทธโฆสะ แต่ข้ออ้างนี้ตกไปเนื่องจาก [7]นอกจากนี้ในคัมภีร์พุทธโฆสุปปัตติ หรือชีวประวัติพระพุทธโฆสะระบุว่า พระพุทธทัตตะเดินทางไปลังกาก่อนอีกฝ่ายเพื่อรจนาคัมภีร์ชินาลังการ และคัมภีร์ทันตะธาตุโพธิวงศ์ แต่มิได้รจนาอรรถถาหรือฎีกาอธิบายพระไตรปิฎกแต่อย่างใด จึงอาราธนาให้พระพุทธโฆสะช่วยรจนาอรรถกถาพระไตรปิฎกด้วย [8] หลักฐานส่วนนี้ช่วยยืนยันความเป็นไปได้ที่มธุรัตถวิลาสินีอาจถูกรจนาขึ้นหลังจากยุคที่ผลงานของพระพุทธโฆสะเจิดจรัสในลังกา
ทั้งนี้ ในคัมภีร์จูฬคันถวงศ์ ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่รวบรวมสารบัญคัมภีร์ทางพุทธศาสนา แต่งขึ้นในพม่าในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 ระบุว่า มธุรัตถวิลาสินีแต่งขึ้นโดยผู้ที่มีนามว่ากัสสปะ อย่างไรก็ตาม คาดว่าเป็นการระบุถึงคัมภีร์คนละเล่มกัน [9]
เนื้อหา
แก้พระพุทธทัตตะ ระบุไว้ในนิคมนกถา ว่า การแต่งคัมภีร์นี้อิงกับอรรถกถาเดิม โดยมีการตัดทอนส่วนที่เยิ่นเย้อออกไป แล้วเรียบเรียงเนื้อความให้มีความไพเราะขึ้น (ข้าพเจ้ายึดทางแห่งอรรถกถาเก่า อันประกาศ ความแห่งบาลี เป็นหลักอย่างเดียวแต่งอรรถกถาพุทธวงศ์ เพราะละเว้นความที่เยิ่นเย่อ ประกาศแต่ความ อันไพเราะทุกประการ ฉะนั้น จึงชื่อว่า มธุรัตถวิลาสินี) [10]
ในตอนท้ายสุดของคัมภีร์ ท่านผู้รจนาระบุรายละเอียดเพิ่มเติมว่า "คัมภีร์มธุรัตถวิลาสินี กล่าวโดยภาณวารมี 26 ภาณวาร (หมวด) โดยคันถะมี 6,500 คันถะ (ผูก) โดยอักษรมี 23,000 อักษร" [11]
เนื้อหาของมธุรัตถวิลาสินีพรรณาความแห่งพระคัมภีร์พุทธวงศ์ตั้งแต่ต้นจนจบ วิธีการประพันธ์ใช้ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง เล่าเรื่องก่อนแล้วสรุปเรื่องเข้าหาคาถาที่ตั้งเป็นนิกเขปบทไว้เป็นตอน ๆ แล้วอธิบายคาถาให้แจ่มแจ้งทั้งอรรถะและพยัญชนะ ทั้งไวยากรณ์ ซึ่งเป็วรรณนาที่ทำให้เข้าใจความในพระคัมภีร์พุทธวงศ์ได้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้น [12]
การอธิบายความในคัมภีร์นี้ มีทั้งการให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับพุทธประวัติและลักษณะของพระพุทธเจ้าทั้งในอดีตและปัจจุบันรวม 25 องค์ และมีการพยากรณ์ถึงพระอนาคตพุทธเจ้าอีก 1 พระองค์ นอกจากนี้ ยังมีการอธิบายในทำนองถามตอบ ว่าด้วยนัยแห่งศัพท์และหลักธรรมต่าง ๆ ที่ปรากฏในคัมภีร์นี้
อาทิเช่นการอธิบายความหมายโดยพิสดารของคำว่า "ตถาคต" [13] การอธิบายคำว่า "สัตถา" หรือ "ศาสดา" ว่าเพราะพระพุทธเจ้าทรงพร่ำสอนสัตว์ทั้งหลายตามความเหมาะสม ด้วยประโยชน์ปัจจุบัน และประโยชน์ภายหน้า [14]เป็นต้น
การอธิบายทศพลญาณหรือกำลังญาณทั้ง 10 ประการของพระพุทธเจ้า [15] การแจกแจงลักษณะของการสร้างบารในการเป็นพระพุทธเจ้ามี ว่า แบ่งออกเป็น การบริจาคสิ่งของภายนอกเรียกว่า "บารมี" การบริจาคอวัยวะเรียกว่า "อุปบารมี" การบริจาคชีวิต เรียกว่า "ปรมัตถบารมี" [16] เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการให้รายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลสำคัญที่ปรากฏในพุทธประวัติ อาทิ การอธิบายว่า พรหมที่มาทูลอาราธนาให้พระศาสดาแสดงธรรม เคยเป็นพระเถระชื่อ สหกะ ในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้าทำปฐมฌานให้เกิด จบชีวิตแล้ว ก็บังเกิดเป็นมหาพรหมในปฐมฌานภูมิมีอายุ 1 กัป เรียกกันว่า ท้าวสหัมบดีพรหม [17] เป็นต้น
อ้างอิง
แก้- ↑ มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ. (2529). มธุรัตถวิลาสินี. หน้า 26
- ↑ พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาพุทธวงศ์. ขุททกนิกาย. พระสุตตันตปิฎก. เล่ม 9 ภาค 2 หน้า 752
- ↑ พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาพุทธวงศ์. ขุททกนิกาย. พระสุตตันตปิฎก. เล่ม 9 ภาค 2 หน้า 751
- ↑ Bimala Charan Law. (1923). หน้า 96
- ↑ พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาพุทธวงศ์. ขุททกนิกาย. พระสุตตันตปิฎก. เล่ม 9 ภาค 2 หน้า 16
- ↑ คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). วรรณคดีบาลี. หน้า 129
- ↑ Bimala Charan Law. (1923). หน้า 100
- ↑ Bimala Charan Law. (1923). หน้า 97
- ↑ G.P. MALALASEKERA. (2007). หน้า 310
- ↑ พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาพุทธวงศ์. ขุททกนิกาย. พระสุตตันตปิฎก. เล่ม 9 ภาค 2 หน้า 751
- ↑ พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาพุทธวงศ์. ขุททกนิกาย. พระสุตตันตปิฎก. เล่ม 9 ภาค 2 หน้า 753
- ↑ มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ. (2529). มธุรัตถวิลาสินี. หน้า 30
- ↑ พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาพุทธวงศ์. ขุททกนิกาย. พระสุตตันตปิฎก. เล่ม 9 ภาค 2 หน้า 44
- ↑ พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาพุทธวงศ์. ขุททกนิกาย. พระสุตตันตปิฎก. เล่ม 9 ภาค 2 หน้า 103
- ↑ พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาพุทธวงศ์. ขุททกนิกาย. พระสุตตันตปิฎก. เล่ม 9 ภาค 2 หน้า 14
- ↑ พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาพุทธวงศ์. ขุททกนิกาย. พระสุตตันตปิฎก. เล่ม 9 ภาค 2 หน้า 153
- ↑ พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาพุทธวงศ์. ขุททกนิกาย. พระสุตตันตปิฎก. เล่ม 9 ภาค 2 หน้า 37
บรรณานุกรม
แก้- คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). วรรณคดีบาลี. กรุงเทพฯ. กองวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
- พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาพุทธวงศ์. ขุททกนิกาย. พระสุตตันตปิฎก. เล่ม 9 ภาค 2
- มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ. (2529). มธุรัตถวิลาสินี. กรุงเทพฯ. โรงพิมพ์มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ.
- G.P. MALALASEKERA. (2007). Dictionary of Pali Proper Names: N-H. New Delhi. Motilal Banarsidass.
- Bimala Charan Law. (1923). The Life and Work of Buddhaghosa. Calcutta : Thacker, Spink & Co.