พระพุทธทัตตะ เป็นพระคันถรจนาจารย์ฝ่ายเถรวาท เกิดหลัง พ.ศ.940 ที่เมืองอุรคปุระ (Uragapura) ปัจจุบันเรียกอุรัยปุระ ในอาณาจักรโจฬะทางอินเดียใต้[1] หลังจากอุปสมบทแล้วได้เดินทางไปเกาะลังกา เพื่อศึกษาพุทธศาสนาและรวบรวมคัมภีร์ทางพุทธศาสนาจากภาษาสิงหลแปลสู่ภาษาบาลี ในคราวที่พักอยู่สิงหล ท่านพักที่มหาวิหารเมืองอนุราธปุระ

เมื่อสำเร็จภารกิจแล้วก็เดินทางกลับสู่อินเดียโดยทางเรือ ระหว่างทางได้พบกับพระพุทธโฆสะที่แล่นเรือผ่านมา ท่านทั้งสองหยุดทักทายกัน แล้วท่านพระพุทธโฆสะกล่าวว่า "ท่านผู้เจริญ พระพุทธพจน์มีอยู่ในภาษาสิงหล ผมกำลังไปเกาะลังกาเพื่อแปลสู่ภาษามคธ" ท่านพุทธทัตตะกล่าวตอบว่า "ท่านผู้มีอายุ ผมไปเกาะลังกามาแล้ว เพื่อจุดประสงค์เดียวกับท่าน แต่ไม่อาจอยู่ได้นาน จึงทำงานไม่สำเร็จ เมื่อท่านรวบรวมอรรถกถาครบแล้วโปรดส่งให้ผมด้วย"

เมื่อได้รับปากกันแล้วทั้งสองรูปก็จากกัน ต่อมา เมื่อถึงอินเดียท่านก็ได้จำพรรษาที่วัดกฤษณทาส ที่พราหมณ์กฤษณทาส สร้างถวาย ริมฝั่งแม่น้ำกเวริ ณ ที่นี่ ท่านได้เขียนหนังสือหลายเล่ม เช่น

  1. อุตตรวินิจฉัย[2]
  2. วินยวินิจฉัย[3]
  3. อภิธรรมาวตาร
  4. รูปารูปวิภาค
  5. มธุรัตถวิลาสินี (อรรถกถาพุทธวงศ์)

ผลงานของท่านทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์ต่อนักการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ต่อมาท่านก็ถึงมรณภาพที่วัดนี้

คัมภีร์วินิจฉัยและอุตตรวินิจฉัยเป็นคัมภีร์ที่รวบรวมเนื้อหาคัมภีร์พระวินัยปิฎก รูปแบบการแต่งเป็นร้อยกรองทั้งเล่ม โครงสร้างคัมภีร์วินิจฉัยว่าด้วยเรื่องสิกขาบทของพระภิกษุ และภิกษุณี มหาวรรค และจุลวรรค ส่วนคัมภีร์อุตรวินิฉจัย ว่าด้วยเรื่องคัมภีร์ปริวาร คัมภีร์ทั้งสองแต่งเป็นร้อยกรอง โดยใช้ฉันทลักษณ์บาลีประเภทต่าง ๆ เช่น มัตตาสมกฉันท์ วิชชุขมาลาฉันท์ อินทรวิเชียรฉันท์ เป็นต้น องค์ความรู้การวินิจฉัย พระวินัยในคัมภีร์วินัยวินิจฉัย และอุตรวินิจฉัย เป็นการวินิจฉัยสิกขาบท ที่ประกอบด้วยสถานที่ บุคคล วัตถุ อาบัติ อนาบัติ เป็นต้น

องค์ความรู้การวินิจฉัยในส่วนสิกขาบท เป็นรูปแบบสำคัญในการศึกษาวิเคราะห์วินัย ในส่วนที่เป็นสิกขาบทของพระภิกษุ และภิกษุณี รูปแบบการวินิจฉัยเหล่านี้ มีความสอดคล้องกับการวินิจฉัยพระวินัยในคัมภีร์ระดับต้น ตั้งแต่พระวินัยปิฎกจนถึงอรรถกถา

อ้างอิง แก้

  1. Potter, Karl H; Encyclopedia of Indian Philosophies: Buddhist philosophy from 350 to 600 A.D. pg 216
  2. ดร.เสถียร ทั่งทองมะดั่น. (2561). คัมภีร์วินัยวินิจฉัยและอุตรวินิจฉัย : การแปลและศึกษาวิเคราะห์. สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
  3. ดร.เสถียร ทั่งทองมะดั่น. (2561). คัมภีร์วินัยวินิจฉัยและอุตรวินิจฉัย : การแปลและศึกษาวิเคราะห์. สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.