มงกุฎพระราชินีแมรีแห่งโมดีนา

มงกุฎพระราชินีแมรีแห่งโมดีนา (อังกฤษ: Crown of Mary of Modena) เป็นมงกุฎพระอัครมเหสี (Consort Crown) ที่มีความสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์อังกฤษ สั่งทำขึ้นเพื่อสำหรับสมเด็จพระราชินีแมรี พระอัครมเหสีในสมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ

มงกุฎพระราชินีแมรีแห่งโมดีนา
Crown of Mary of Modena

มงกุฎพระราชินีแมรีแห่งโมดีนา
รายละเอียด
สำหรับ อังกฤษ (จนถึง ค.ศ. 1707)
 สหราชอาณาจักร (ตั้งแต่ ค.ศ. 1707)
ผลิตเมื่อค.ศ. 1685
ผู้ครอบครองพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร
จำนวนโค้ง2 โค้ง
วัตถุดิบหลักทองคำ
วัสดุซับในกำมะหยี่สีม่วงกรุขอบด้วยขนเออร์มิน
อัญมณีสำคัญเพชร ไข่มุก คริสตัล
องค์ถัดไปมงกุฎพระราชินีอเดลเลด
พระสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระราชินีแมรี พระอัครมเหสีในสมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ พร้อมมงกุฎของพระองค์ซึ่งจัดสร้างขึ้นสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ตามประเพณีแห่งราชสำนักอังกฤษ เมื่อมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ พระอัครมเหสีจะต้องเสด็จเข้าในพระราชพิธีฯด้วย โดยหลังจากการฟื้นฟูราชวงศ์อังกฤษ สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 2 เข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในปีค.ศ. 1661 โดยปราศจากพระอัครมเหสี จนกระทั่งผลัดแผ่นดินมาในรัชสมัยของพระอนุชาของพระองค์ ซึ่งเป็นดยุกแห่งยอร์ก ได้เสด็จเสวยราชสมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ (หรืออีกพระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 7 แห่งสกอตแลนด์") ซึ่งมีพระอัครมเหสีคือ สมเด็จพระราชินีแมรี จึงมีพระดำริให้จัดสร้างมงกุฎพระอัครมเหสีขึ้นสำหรับพระองค์ ซึ่งในครั้งนั้นได้มีการจัดสร้างทั้งหมด 3 อย่าง ได้แก่ "มงกุฎราชาภิเษก" (Coronation Crown) "มงกุฎแห่งพระราชวงศ์" (State Crown) และ "มงกุฎองค์เล็ก" (เดียเด็ม - คาดพระเกษา) ซึ่งในปัจจุบันหลงเหลือแต่เพียงสองอย่างสุดท้ายเท่านั้น

รูปแบบ แก้

 
มงกุฎพระราชินีแมรีแห่งโมดีนา

สำหรับตัวเรือนมงกุฎทำจากทองคำ ประดับด้วยคริสตัล (แทนที่เพชรที่ถูกย้ายไปประดับที่มงกุฎองค์อื่น) เงิน และไข่มุก ภายในกรุด้วยผ้ากำมะหยี่สีม่วงเข้ม ขอบทำด้วยขนเออร์มิน บริเวณฐานประดับเพชรทรงรีจำนวน 18 เม็ด ขนาบบนล่างด้วยไข่มุก ด้านบนเป็นสัญลักษณ์ดอกลิลลี (เฟลอร์ เดอ ลีส) จำนวนสี่ดอก สลับกับกางเขนแพตตี ซึ่งองค์ประกอบทั้งแปดนี้ประดับด้วยเพชรใหญ่น้อยขนาดต่างๆ ด้านบนมงกุฎเป็นส่วนโค้งจำนวน 2 โค้ง (4 ก้าน) ประดับด้วยไข่มุกยาวตลอดก้าน และขนาบด้วยเพชรทั้งสองด้าน โดยก้านทั้งสี่นั้นแล่นขึ้นไปบรรจบที่ลูกโลกประดับเพชร ซึ่งด้านบนสุดนั้นเป็นกางเขนแพตตีฝังเพชรเม็ดใหญ่ ปลายแขนกางเขนทั้งสามประดับด้วยไข่มุกด้านละ 1 เม็ด

คริสตัลแก้วเจียระไนได้ถูกนำมาใส่แทนที่เพชรที่ถูกเช่ามาสำหรับใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระราชสวามีในปีค.ศ. 1685 และพระราชพิธีอื่นๆ ซึ่งมงกุฎองค์นี้ถือเป็น "มงกุฎพระอัครมเหสี" (Consort Crown) องค์แรกของอังกฤษภายหลังจากการฟื้นฟูราชวงศ์ในปีค.ศ. 1660 (ช่วงสงครามกลางเมืองอังกฤษ มงกุฎแห่งราชวงศ์อังกฤษได้ถูกทำลายลงสิ้นภายใต้การปกครองของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์) มงกุฎทั้งสามองค์นี้สร้างโดยช่างอัญมณีแห่งราชสำนักในสมัยนั้น คือ ริชาร์ด โบวัวร์ ซึ่งภายหลังได้รับการบันทึกโดย ฟรานซิส แซนด์ฟอร์ด ว่า "ได้รับเกียรติอย่างสูงยิ่งที่ทำให้ทั้งสองพระองค์พึงพอพระราชหฤทัยยิ่ง"

การใช้งาน แก้

 
พระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระราชินีแมรีแห่งอังกฤษ (แมรีแห่งโมดีนา)

ถึงแม้ว่าสมเด็จพระราชินีแมรี จะไม่ได้ทรงมงกุฎองค์นี้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์เอง แต่ก็มีความสำคัญในเวลาต่อมา เพื่อใช้เป็นมงกุฎราชาภิเษกสำหรับพระราชินี ที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสำหรับพระอัครมเหสีพระองค์ถัดไปจนถึงปีค.ศ. 1831[1] โดยพระองค์ได้ทรง"มงกุฎราชาภิเษก"ของพระองค์ในระหว่างพระราชพิธีฯ ซึ่งต่อมาได้หายไป และได้ใช้"มงกุฎแห่งพระราชวงศ์" สำหรับเป็นมงกุฎพระอัครมเหสีในรัชกาลถัดมา

มงกุฎองค์นี้จะถูกประดับด้วยอัญมณีและเพชรในแต่ครั้งที่มีงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยได้ผ่านการใช้งานในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 2 (ค.ศ. 1689), สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ (ค.ศ. 1702)[2] และสมเด็จพระราชินีแคโรไลน์ (ค.ศ. 1727) จึงเป็นธรรมเนียมไปโดยปริยายที่ ว่าที่สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษนั้นจะต้องทรงมงกุฎองค์นี้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจนกระทั่งถูกแทนโดย "มงกุฎพระราชินีชาร์ลอตต์" ตามมาโดย มงกุฎพระราชินีอเดลเลด ในปีค.ศ. 1831 และในที่สุดธรรมเนียมได้เปลี่ยนไปโดยให้มีการสร้างมงกุฎองค์ใหม่สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสำหรับสมเด็จพระราชินี ซึ่งองค์ล่าสุดที่มีการสร้างนั้น คือ มงกุฎพระราชินีเอลิซาเบธ สำหรับสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี

อ้างอิง แก้

  1. Anna Keay,'The Crown Jewels (Official handbook) Historic Royal Palaces, 2002, p27.
  2. http://www.royalcollection.org.uk/collection/31707/mary-of-modenas-crown-of-state

ดูเพิ่ม แก้