ภาพเหมือนอาร์นอลฟีนี

ภาพเหมือนอาร์นอลฟีนี (อังกฤษ: Arnolfini Portrait), การแต่งงานของอาร์นอลฟีนี (อังกฤษ: The Arnolfini Wedding) หรือ ภาพเหมือนของโจวันนี อาร์นอลฟีนี และภรรยา (ดัตช์: Portret van Giovanni Arnolfini en zijn vrouw; อังกฤษ: Portrait of Giovanni Arnolfini and his Wife) เป็นภาพเขียนสีน้ำมันบนไม้โอ๊กที่เขียนโดยยัน ฟัน ไอก์ จิตรกรเนเธอร์แลนด์เริ่มแรก ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่หอศิลป์แห่งชาติ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

ภาพเหมือนอาร์นอลฟีนี
ศิลปินยัน ฟัน ไอก์
ปีค.ศ. 1434
ประเภทจิตรกรรมสีน้ำมันบนไม้โอ๊ก
สถานที่หอศิลป์แห่งชาติ, ลอนดอน

ยัน ฟัน ไอก์เขียนภาพ "ภาพเหมือนอาร์นอลฟีนี" ในปี ค.ศ. 1434 เป็นภาพที่เชื่อกันว่าเป็นภาพเหมือนของโจวันนี อาร์นอลฟีนี (Giovanni Arnolfini) พ่อค้าจากเมืองลุกกาในอิตาลีและภรรยาในห้องที่อาจจะเป็นที่บ้านที่พำนักอยู่ในเมืองบรูชในฟลานเดอส์ เป็นภาพที่ถือกันว่าเป็นภาพที่มีความเป็นต้นตอและความซับซ้อนมากที่สุดภาพหนึ่งของจิตรกรรมตะวันตก ฟัน ไอก์ลงชื่อและวันที่ว่าวาดในปี ค.ศ. 1434 ต่อมาหอศิลป์แห่งชาติแห่งลอนดอนซื้อภาพเขียนนี้ในปี ค.ศ. 1842

"ภาพเหมือนอาร์นอลฟีนี" เป็นภาพเขียนแบบลวงตาที่น่าประทับใจสำหรับช่วงเวลาที่เขียนที่เห็นได้จากรายละเอียดต่าง ๆ ในภาพโดยเฉพาะการใช้แสง และในการสร้างช่องว่างภายในของภาพ และเป็นภาพที่ทำให้ผู้ดูสามารถเชื่อได้จริง ๆ ว่าเป็นภาพของห้องและผู้ที่อยู่ในห้อง[1]

จากการศึกษาภาพนี้อย่างละเอียด ศิลปินเดวิด ฮอกนีย์ (David Hockney) และนักฟิสิกส์ชาลส์ เอ็ม. แฟลโก (Charles M. Falco) ก็ตั้งสมมุติฐานว่าฟัน ไอก์ ใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่ากล้องทาบเงาในการช่วยเขียนภาพ อย่างน้อยก็ในบางส่วนของภาพ ข้อสันนิษฐานนี้เป็นที่รู้จักกันว่า วิทยานิพนธ์ฮอกนีย์-แฟลโก (Hockney–Falco thesis)

บุคคลในภาพ แก้

ภาพนี้เป็นภาพที่เชื่อกันอยู่เป็นเวลานานว่าเป็นภาพเหมือนของโจวันนี อาร์นอลฟีนี และโจวันนา เชนามี (ภรรยา) ภายในห้องแบบเฟลมิช แต่ในปี ค.ศ. 1997 ก็เป็นที่ทราบว่าอาร์นอลฟีนีและเชนามียังไม่แต่งงานกันในปี ค.ศ. 1447 ซึ่งเป็นเวลาสิบสามปีหลังจากปีที่ระบุว่าเป็นปีที่เขียนภาพและหกปีหลังจากที่ฟัน ไอก์ เสียชีวิตไปแล้ว ในปัจจุบันจึงเชื่อกันว่าเป็นภาพเขียนของลูกพี่ลูกน้องของโจวันนี ดี อาร์รีโก ที่ชื่อโจวันนี ดี นีโกลาโอ อาร์นอลฟีนี และภรรยา ที่อาจจะเป็นภรรยาคนที่สองที่ไม่มีเอกสารระบุ หรือตามทฤษฎีที่เสนอเมื่อไม่นานมานี้ว่าเป็นภรรยาคนแรกที่ชื่อคอสสแตนซา เทรนทาผู้ที่เสียชีวิตในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1433[2] ตามทฤษฎีนี้ก็ทำให้ภาพนี้กลายเป็นภาพอนุสรณ์แสดงให้เห็นภาพของผู้ที่ยังมีชีวิตคนหนึ่งและผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วอีกคนหนึ่ง โจวันนี ดี นีโกลาโอ อาร์นอลฟีนีเป็นพ่อค้าชาวอิตาลีที่เดิมมาจากเมืองลุกกาผู้มาตั้งถิ่นฐานในเมืองบรูชอย่างน้อยก็ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1419[3] อาร์นอลฟีนีเป็นแบบสำหรับภาพเหมือนอีกภาพหนึ่งที่เขียนโดยฟัน ไอก์ที่ปัจจุบันอยู่ที่เบอร์ลิน ที่ทำให้สันนิษฐานกันว่าอาจจะเป็นเพื่อนกับจิตรกร[4]

ภาพ แก้

 
รายละเอียดการตกแต่งที่ปลายแขนของเสื้อ

ภาพเขียนนี้[5]โดยทั่วไปแล้วอยู่ในสภาพที่ดี แม้ว่าสีเดิมจะหายไปบ้างและได้รับความเสียหายบ้างแต่ก็ไม่มากนัก และก็ได้รับการซ่อมแซมแล้ว เมื่อใช้เครื่อง reflectogram อินฟรา-เรดตรวจสอบก็พบว่ารายละเอียดของภาพหลายแห่งได้รับการแก้ไขที่รวมทั้งใบหน้าของตัวแบบทั้งสองคน กระจก และสิ่งอื่น ๆ

อาร์นอลฟีนีและภรรยายืนอยู่ในห้องชั้นบนในฤดูร้อนที่ทราบได้จากต้นเชอร์รีที่ออกผลอยู่นอกหน้าต่าง ห้องที่เห็นไม่ใช่ห้องนอนเช่นที่มักจะเข้าใจกันแต่เป็นห้องรับรอง เพราะในฝรั่งเศสและเบอร์กันดีนิยมการมีเตียงตั้งอยู่ในห้องรับรอง ที่ตามปกติแล้วก็ใช้เป็นที่นั่งนอกจากในกรณีที่เป็นแม่ลูกอ่อนที่รับแขก หน้าต่างทางด้านซ้ายของภาพมีบานไม้หกบาน แต่ตอนบนเท่านั้นที่เป็นกระจกแบบตาวัวที่ประดับด้วยกระจกสีสีน้ำเงิน แดง และเขียว

ภาพนี้เป็นภาพที่แสดงถึงความมั่งคั่งของผู้เป็นแบบ ที่จะเห็นได้จากแต่งตัวอย่างหรูหราที่เป็นเสื้อผ้าสำหรับหน้าหนาวที่มีเสื้อคลุมทับแม้ว่าภายนอกจะเป็นหน้าร้อน ชายเสื้อโค้ทสั้นของสามีและเสื้อของภรรยาตกแต่งด้วยขนสัตว์ ซึ่งอาจจะเป็นขนสัตว์ที่มีราคาเช่นขนเซเบิล (sable) สำหรับชาย และเออร์มินสำหรับสตรี แต่อาร์นอลฟีนีใส่หมวกย้อมสีดำซึ่งเป็นหมวกที่ใช้สวมกันในหน้าร้อนในขณะนั้น เสื้อโค้ทสั้นอาจจะเป็นสีม่วงกว่าที่เห็นในปัจจุบันเพราะสีที่จางไป เนื้อผ้าที่ใช้ทำอาจจะเป็นกำมะหยี่ไหมซึ่งเป็นของที่มีราคาสูงอีกเช่นกัน เสื้อชั้นในเสื้อโค้ทเป็นเสื้อที่มีลายทอที่อาจจะเป็นดามาสค์ไหม เสื้อของภรรยามีกรุยจีบตกแต่งแขนเสื้ออย่างละเอียดเป็นชายยาวที่เรียกว่า dagging เช่นที่เห็นในภาพ เสื้อชั้นในก็มีชายที่แต่งด้วยขนสัตว์

 
ชาร์ลพระเศียรล้านไปเยี่ยมจิตรกร
ดาวีด โอแบร์ (David Aubert) โดยไม่ได้บอกล่วงหน้า จุลจิตรกรรมที่แฝงความหมายหลายอย่างที่อาจจะเป็นนัยยะถึงอเล็กซานเดอร์มหาราช ผู้ไปเยี่ยมศิลปินโดยไม่ได้นัดหมายล่วงหน้า ผนังในฉากหลังดูเหมือนจะเป็นนัยยะถึง "ภาพเหมือนอาร์นอลฟีนี" ที่เขียนสี่สิบปีก่อนหน้านั้น ที่มีองค์ประกอบต่างเช่นที่ปรากฏในภาพเหมือน โดยเฉพาะคำจารึกบนผนัง เขียนก่อน ค.ศ. 1472

แม้ว่าเครื่องแต่งกายของทั้งสองคนเป็นเครื่องแต่งกายที่มีราคาสูงมาก แต่การใช้เครื่องประดับร่างกายนอกไปจากเสื้อก็เป็นไปอย่างจำกัดโดยเฉพาะในกรณีของฝ่ายชาย ภรรยาก็ใส่แต่เพียงสร้อยและแหวนทองเรียบ ๆ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะเป็นการแต่งตัวให้เหมาะสมกับฐานะที่เป็นพ่อค้า เพราะภาพเหมือนของผู้มีตระกูลหรือเจ้านายในสมัยนั้นมักจะมีเครื่องตกแต่งที่เป็นทองและเสื้อผ้าที่มีค่ามากกว่าที่เห็นในภาพนี้

สิ่งอื่นในห้องที่แสดงฐานะก็ได้แก่โคมทองเหลืองขนาดใหญ่ที่ตกแต่งอย่างหรูหราตามมาตรฐานร่วมสมัยและเป็นของมีค่า ที่อาจจะมีกลไกสำหรับดึงขึ้นลงที่ใช้ในการจุดหรือดับเทียน ที่ฟัน ไอก์ไม่ได้เขียนรายละเอียดเพราะไม่มีเนื้อที่ในภาพ กระจกโค้งนูนกลมในฉากหลังมีกรอบที่ทำด้วยไม้ที่มีภาพเขียนในชุดทุกขกิริยาของพระเยซูในช่องกลมเล็ก ๆ ล้อมรอบกรอบ กระจกนูนในภาพมีขนาดใหญ่กว่าที่สามารถทำได้ในขณะนั้น สิ่งที่ขาดไปอีกอย่างหนึ่งคือเตาผิง อีกอย่างที่แสดงฐานะอีกอย่างหนึ่งคือส้มที่อยู่บนขอบหน้าต่างและบนหีบทางซ้ายของภาพ ส้มเป็นผลไม้ที่หายากและมีราคาแพงในเบอร์กันดี และอาจจะเป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นธุรกิจของอาร์นอลฟีนีก็เป็นได้

อีกสิ่งหนี่งที่แสดงความมั่งคั่งคือเครื่องตกแต่งเตียงที่มีเพดานเหนือเตียง ที่ติดตั้งด้วยราวเหล็กจากเพดาน และรายละเอียดของเก้าอี้ หัวเตียง และม้านั่งที่แกะสลักติดกับผนังในฉากหลัง บนพื้นข้างเตียงปูด้วยพรมออเรียนทัล ผู้เป็นเจ้าของพรมชนิดนี้มักจะใช้ปูโต๊ะซึ่งก็ยังทำกันอยู่ในเนเธอร์แลนด์

ภาพสะท้อนในกระจกในฉากหลังเป็นรูปชายสองคนด้านในของประตูห้องที่ทั้งสองคนยืนอยู่ ชายที่ยืนอยู่ด้านหน้าใส่เสื้อที่น้ำเงินที่อาจจะเป็นฟัน ไอก์แ ต่ไม่ได้ทำท่าเขียนภาพเหมือนกับภาพ "ลัสเมนินัส" (Las Meninas) ของเดียโก เบลัซเกซ สุนัขในภาพเป็นพันธุ์ที่เพิ่งเริ่มผสมที่ปัจจุบันเรียกว่าบรัสเซลส์ กริฟฟอน

ฟัน ไอก์ลงชื่อและวันที่บนผนังเหนือกระจกว่า "Johannes de eyck fuit hic. 1434" ("ยาน เดอ ไอก์อยู่ที่นี่ ค.ศ. 1434") คำจารึกดูเหมือนกับเขียนบนกำแพงด้วยตัวอักษรขนาดใหญ่ และเขียนอย่างลักษณะการเขียนสุภาษิตหรือวลีบนผนังเช่นที่ทำกันในยุคนั้น ลายเซ็นอื่นของฟัน ไอก์ ที่เขียนแบบลวงตาเหมือนจริง (trompe l'oeil) บนกรอบไม้ที่ทำให้เหมือนกับแกะสลักลงไปบนเนื้อไม้[3]

ข้อโต้แย้งของนักวิชาการ แก้

 
ลายเซ็น "Johannes de eyck fuit hic. 1434" บนผนัง

ในปี ค.ศ. 1934 เออร์วิน พานอฟสกี (Erwin Panofsky) พิมพ์บทความชื่อ ""การแต่งงานของอาร์นอลฟีนี" โดย ยัน ฟัน ไอก์" ใน "นิตยสารเบอร์ลิงตัน" กล่าวว่าลายเซ็นอันใหญ่โตของฟัน ไอก์บนผนังของด้านหลังและสิ่งอื่นในภาพก็เพื่อเป็นบ่งว่าเป็นเอกสารทางกฎหมายที่เป็นการบันทึกการสมรส[6]

ตั้งแต่นั้นมาก็มีการโต้แย้งกันในหัวข้อนี้ นักประวัติศาสตร์ศิลปะเอ็ดวิน ฮอลล์กล่าวว่าเป็นภาพที่แสดงการหมั้นหมายไม่ใช่การแต่งงาน ส่วนมาร์กาเรต ดี. แคร์รอลล์ นักประวัติศาสตร์ศิลปะอีกคนหนึ่งโต้ว่าเป็นภาพเขียนที่แสดงการตกลงทางธุรกิจระหว่างสามีและภรรยาในบทความชื่อ "ในนามของพระเจ้าและผลประโยชน์: "ภาพเหมือนอาร์นอลฟีนี" โดยยัน ฟัน ไอก์" ที่เขียนในปี ค.ศ. 1993

ลอร์น แคมป์เบลล์ในแค็ตตาล็อกของหอศิลป์แห่งชาติไม่เห็นความจำเป็นในการแสวงหาความหมายที่มีเงื่อนงำของภาพเขียนนี้นอกไปจากการเป็นภาพเหมือนของคนสองคน ที่อาจจะเป็นภาพที่เขียนขึ้นเพื่อฉลองการแต่งงานแต่ไม่ใช่เพื่อเป็นบันทึกทางกฎหมาย แคมป์เบลล์อ้างตัวอย่างของจุลจิตรกรรมจากหนังสือต้นฉบับที่แสดงภาพการเขียนอักษรบนผนังแบบตกแต่งที่นิยมทำกันในสมัยนั้น ภาพเขียนอีกภาพหนึ่งของฟัน ไอก์ของหอศิลป์แห่งชาติที่เรียกกันว่า "Leal Souvenir" มีลายเซ็นที่มีลักษณะเป็นลายเซ็นสำหรับเอกสารที่เกี่ยวกับกฎหมาย[3]

ข้อคิดเห็นใหม่ของมาร์กาเรต คอสเตอร์กล่าวว่าเป็นภาพเขียนแบบอนุสรณ์ของภรรยาผู้เสียชีวิตไปราวปีหนึ่งก่อนหน้านั้นซึ่งลบล้างทฤษฎีต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น

นักประวัติศาสตร์ศิลปะมักซีมีลียาน มาร์เตินส์เสนอว่าเป็นภาพเขียนที่ตั้งใจจะให้เป็นของขวัญต่อตระกูลอาร์นอลฟีนีในอิตาลี ที่แสดงความอุดมสมบูรณ์และความมั่งคั่งของคู่บ่าวสาวในภาพ[ต้องการอ้างอิง] มาร์เตินส์มีความรู้สึกว่าเป็นเหตุผลที่อาจจะอธิบายสิ่งต่าง ๆ ที่แปลกในภาพ เช่นการที่อาร์นอลฟีนีและภรรยาแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่เป็นเสื้อผ้าสำหรับฤดูหนาวขณะที่เป็นหน้าร้อนที่มีต้นเชอร์รีออกผลอยู่นอกหน้าต่าง และสาเหตุที่ฟัน ไอก์ลงชื่อตัวใหญ่โตกลางภาพเขียนว่า "ยาน เดอ ไอก์อยู่ที่นี่ ค.ศ. 1434"

การตีความหมายและสัญลักษณ์ แก้

 
พานอฟสกีและคอสเตอร์มีความเห็นต่างกันเกี่ยวกับเทียนเล่มเดียวที่จุดอยู่ (ดูเล่มที่ดับไปแล้วด้านตรงข้ามทางขวา)
 
รายละเอียดของกระจกโค้งนูนทรงกลมที่มีภาพเขียนชุดทุกขกิริยาของพระเยซูล้อมรอบ
 
ส้มบนขอบหน้าต่างและบนหีบใต้หน้าต่าง

การวางท่าของบุคคลสองคนในภาพเป็นลักษณะการวางภาพตามที่ใช้กันในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ที่แสดงการสมรสและบทบาทของเพศ – สตรียืนใกล้เตียงและลึกเข้าไปในห้องทางด้านขวาของภาพเป็นสัญลักษณ์ของบทบาทในฐานะผู้ดูแลบ้าน ขณะที่โจวันนียืนอยู่ริมหน้าต่างที่เปิดที่เป็นสัญลักษณ์ของหน้าที่ที่มีในโลกภายนอก โจวันนีมองตรงมายังผู้ชมภาพโดยยกมือขวาขึ้นมาเป็นการแสดงว่าเป็นผู้มีอำนาจขณะที่มือของภรรยาอยู่ต่ำกว่าและแสดงความอ่อนน้อมกว่า

  • แม้ว่าผู้ชมในปัจจุบันจะสรุปว่าภรรยากำลังตั้งครรภ์แต่ไม่เชื่อกันว่าจะเป็นเช่นนั้น นักประวัติศาสตร์ศิลปะหลายคนชี้ให้เห็นว่ามีภาพนักบุญสตรีหลายภาพที่แต่งกายในลักษณะเดียวกันและเชื่อว่าการแต่งกายลักษณะนี้เป็นความนิยมกันในสมัยนั้น[7]
  • ต้นเชอร์รีที่ออกผลอยู่นอกหน้าต่างอาจจะเป็นสัญลักษณ์ของความรัก ส้มที่ตั้งอยู่บนขอบหน้าต่างและหีบใต้หน้าต่างอาจจะเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์และไร้เดียงสาในสวนอีเด็นก่อนการถูกขับจากสวรรค์[8] การใช้ส้มเป็นสัญลักษณ์ในทางปรัชญาเช่นนี้ไม่ใช้กันนักในเนเธอร์แลนด์และถ้าใช้ก็เป็นการแสดงความมั่งคั่ง แต่ในอิตาลีส้มเป็นสัญลักษณ์ของความสามารถในการมีบุตรธิดาของคู่สมรส[9]
  • รองเท้าแตะไม้ (patten) ที่วางอยู่ทางล่างซ้ายของภาพอาจจะเป็นการแสดงความเคารพพิธีสมรสและเป็นการชี้ให้เห็นว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่ตามปกติแล้วเป็นรองเท้าที่ใช้สวมนอกบ้าน ตามธรรมเนียมแล้วสามีมักจะให้รองเท้าแตะไม้เป็นของขวัญต่อภรรยา[8] หรืออาจจะเป็นการแสดงความสงบสุขของความเป็นอยู่ภายในบ้าน
  • สุนัขเป็นสัญลักษณ์ของความจงรักภักดี[8] หรืออาจจะเป็นสัญลักษณ์ของความไคร่ ที่ชี้ให้เห็นถึงความต้องการที่จะมีบุตรธิดาของคู่สามีภรรยา[10]
  • เสื้อสีเขียวของภรรยาเป็นสัญลักษณ์ของความหวัง ซึ่งอาจจะเป็นความหวังในการเป็นแม่ ผ้าคลุมผมสีขาวเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์
  • ด้านหลังคู่สามีภรรยาม่านแห่งการแต่งงานก็ถูกเบิก ม่านสีแดงอาจจะเป็นนัยยะถึงการสมสู่ของคู่สามีภรรยา
  • เทียนเล่มเดียวทางด้านซ้ายบนโคมทองเหลืองเจ็ดก้านอาจจะเป็นเทียนที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ในประเพณีการแต่งงานเฟลมิช[8] เทียนจุดทั้งที่ยังเป็นเวลากลางวันเหมือนกับเทียนภายในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในวัด เทียนอาจจะเป็นสัญลักษณ์ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่สถิตอยู่ในที่นั้นหรือแสงสว่างอันเป็นนิรันดรของพระเจ้า แต่อีกทฤษฎีหนึ่งของมาร์กาเรต คอสเตอร์ในหัวข้อเดียวกันนี้ที่เสนอว่าเป็นภาพอนุสรณ์ การมีเทียนเพียงเล่มเดียวที่จุดอยู่ทางด้านที่โจวันนียืนอยู่ ตรงกันข้ามกับอีกเล่มหนึ่งที่ดับทางด้านภรรยา ซึ่งเป็นอุปมาที่นิยมใช้กันในงานวรรณกรรมว่าฝ่ายหนึ่งยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไปหลังจากที่อีกฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตไปแล้ว
  • เหนือหัวเสาของเตียงมีรูปสลักของนักบุญมาร์กาเรตผู้เป็นนักบุญผู้พิทักษ์ของสตรีผู้มีครรภ์และการให้กำเนิดทารก[8] นักบุญมาร์กาเรตเป็นนักบุญผู้ให้ความช่วยเหลือเมื่อสตรีเจ็บท้องและช่วยกำจัดความเป็นหมัน ใต้หัวเสาที่เป็นนักบุญมาร์กาเรตก็มีแปรงแขวนอยู่ที่เป็นสัญลักษณ์ของการดูแลบ้านเรือน นอกจากนั้นแล้วแปรงและลูกประคำที่มักจะเป็นของขวัญแต่งงานที่นิยมให้กันก็ตั้งอยู่สองข้างของกระจกที่อาจจะเป็นนัยยะความหมายควบของปรัชญาที่ว่า "ora et labora" หรือ "สวดมนต์ไปทำงานไป"
  • วงกลมเล็ก ๆ รอบกรอบกระจกนูน (convex mirror) บนผนังในฉากหลังของภาพวาดจากฉากของทุกขกิริยาของพระเยซู และอาจจะเป็นสัญลักษณ์ของคำสัญญาของพระเจ้าที่จะทรงไถ่บาปให้แก่ผู้ที่ปรากฏอยู่ในกระจก นอกจากนั้นถ้าตีความหมายว่าเป็นภาพอนุสรณ์แล้วภาพทุกขกิริยาทางด้านภรรยาก็เป็นภาพการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูและการคืนชีพของพระองค์ ภาพทางสามีเป็นภาพที่เกี่ยวกับพระเยซูขณะที่ยังมีพระชนม์อยู่
  • ตัวกระจกเองก็อาจจะเป็นสัญลักษณ์ของพระเนตรของพระเจ้าที่ทรงเป็นพยานในการตั้งปฏิญาณของการแต่งงาน นอกจากนั้นกระจกที่ไม่มีตำหนิก็ยังเป็นสัญลักษณ์ของพระแม่มารีที่เป็นนัยยะถึงการกำเนิดบริสุทธิ์ (immaculate conception) และความบริสุทธิ์[8]
  • กระจกสะท้อนให้เห็นคนสองคนที่ประตู คนหนึ่งอาจจะเป็นฟัน ไอก์เอง ตามทฤษฎีที่ออกจะเป็นที่ขัดแย้งโดยผู้อื่นกล่าวว่าการมีบุคคลสองคนในกระจกก็เพื่อเป็นการแสดงว่ามีพยานสองคนตามการระบุที่ต้องการทางกฎหมาย และลายเซ็นของฟัน ไอก์บนผนังก็เป็นการแสดงว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการที่ฟัน ไอก์เป็นพยานผู้อยู่ในเหตุการณ์

วิธีเขียน แก้

ฟัน ไอก์เขียนภาพบนผิวที่เหมือนกับผิวที่สะท้อนโดยการทาสีเคลือบใสหลายชั้น สีที่สว่างที่ใช้ในภาพช่วยทำให้เน้นความเป็นจริงมากขึ้นและแสดงถึงสิ่งต่าง ๆ ในภาพที่เป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งของอาร์นอลฟีนี ฟัน ไอก์ใช้ประโยชน์ของการแห้งที่ช้าของสีน้ำมัน (เมื่อเทียบกับสีฝุ่น) ในการผสานสีที่ใช้วิธีที่เรียกว่า "wet-in-wet" คือเขียนสีใหม่บนสีเก่าที่ยังไม่แห้งเพื่อที่จะให้ได้แสงและเงาที่ต้องการและทำให้เพิ่มความเป็นสามมิติของภาพเพิ่มขึ้น ฟัน ไอก์เขียนรายละเอียดต่าง ๆ อย่างบรรจง และใช้ทั้งการใช้ทั้งแสงที่ส่องตรงและแสงที่กระทบกระจายสาดบนวัตถุต่าง ๆ ในภาพ มีผู้เสนอว่าฟัน ไอก์ใช้กระจกขยายในการเขียนรายละเอียดที่มีขนาดเล็กมากในภาพเช่นเงาบนลูกประคำแต่ละเม็ดที่ห้อยอยู่ข้างกระจกโค้งนูนบนผนังในฉากหลัง

ประวัติการเป็นเจ้าของ แก้

 
รายละเอียด
 
ดิเอโก เด เกบารา มอบภาพเขียนให้แก่ราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค โดยไมเคิล ซิตโตว์ (Michael Sittow) ราว ค.ศ. 1517

ประวัติการเป็นเจ้าของของภาพเขียนเท่าที่ทราบตามลำดับเวลา:[11]

  • ค.ศ. 1434 - ภาพเขียนเขียนและลงวันที่โดย ฟัน ไอก์ อาจจะเป็นเจ้าของโดยผู้เป็นแบบ
  • ก่อน ค.ศ. 1516 - เป็นของดอน ดิเอโก เดอ เกบารา (เสียชีวิตที่บรัสเซลส์ ในปี ค.ศ. 1520) ข้าราชสำนักชาวสเปนของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในเนเธอร์แลนด์และอาจจะรู้จักอาร์นอลฟีนี เมื่อมาถึง ค.ศ. 1516 ก็ได้มอบภาพนี้ให้แก่อาร์คดัชเชสมาร์กาเรตแห่งออสเตรียผู้สำเร็จราชการของฮาพส์บวร์คแห่งเนเธอร์แลนด์
  • ค.ศ. 1516 - ภาพเขียนเป็นสิ่งแรกในรายการสำรวจภาพเขียนของอาร์คดัชเชสมาร์กาเรตที่ทำต่อหน้าพระองค์ที่เมเคอเลิน ที่มีคำบรรยายเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า "ภาพเขียนขนาดใหญ่ที่เรียกว่า "Hernoul le Fin กับภรรยาในห้อง" ที่ได้รับจากดอน ดิเอโก ที่มีตราอาร์มบนภาพดังกล่าว; เขียนโดยจิตรกรโยฮันน์" และมีข้อเขียนเล็ก ๆ บนขอบรายการว่า "เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องใส่ล็อกเพื่อจะปิดภาพ: ตามคำสั่งของมาดาม[อาร์ชดัชเชสมาร์กาเรต]"
  • ค.ศ. 1523-1524 - ในรายการสำรวจภาพเขียนเมเคอเลินอีกรายการหนึ่งก็มีคำบรรยายที่คล้ายคลึงกัน แต่ครั้งนี้ชื่อผู้เป็นแบบเปลี่ยนเป็น "Arnoult Fin" แทนที่จะเป็น "Hernoul le Fin"
  • ค.ศ. 1558 - ในปี ค.ศ. 1530 มาเรียแห่งออสเตรีย หลานของอาร์คดัชเชสมาร์กาเรตก็ได้เป็นเจ้าของภาพเขียน และในปี ค.ศ. 1556 พระองค์ก็เสด็จไปพำนักในประเทศสเปน ในรายการสำรวจภาพเขียนหลังจากที่สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1558 ระบุว่าภาพเขียนตกไปเป็นของพระเจ้าเฟลิเปที่ 2 แห่งสเปน ภาพเขียนของพระราชธิดาสองพระองค์ของพระเจ้าเฟลิเปเห็นได้ชัดว่าวางท่าเช่นเดียวกับภาพเขียนนี้[1]
  • ค.ศ. 1599 - ผู้เข้าเยี่ยมชมพระราชวังอัลกาซาร์ในมาดริดเห็นภาพเขียนภาพนี้ และมีประโยคจากโอวิดบนกรอบว่า "See that you promise: what harm is there in promises? In promises anyone can be rich." เชื่อกันว่าเดียโก เบลัซเกซ รู้จักภาพเขียนภาพนี้ซึ่งอาจจะเป็นภาพที่มีอิทธิพบต่อการเขียนภาพ "ลัสเมนินัส" ที่เป็นภาพของห้องในพระราชวังเดียวกัน
  • ค.ศ. 1700 - ในรายการสำรวจภาพเขียนหลังจากการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าการ์โลสที่ 2 แห่งสเปนภาพเขียนก็ยังคงอยู่ในพระราชวังพร้อมด้วยประโยคจากโอวิด
  • ค.ศ. 1794 - ภาพเขียนไปอยู่ที่พระราชวังใหม่ในมาดริด
  • ค.ศ. 1816 - ภาพเขียนไปอยู่ที่ลอนดอนโดยมีนายพันเจมส์ เฮย์เป็นเจ้าของ เฮย์นายทหารสกอตอ้างว่าหลังจากที่ได้รับบาดเจ็บในยุทธการวอเตอร์ลู (Battle of Waterloo) ในปีก่อนหน้านั้นก็เห็นภาพเขียนแขวนอยู่ในห้องผู้ป่วยในบรัสเซลส์ เฮย์ก็ตกหลุมรักภาพนี้และหว่านล้อมให้เจ้าของขายให้ แต่ที่น่าจะเป็นจริงมากกว่าคือเฮย์เข้าร่วมในยุทธการที่บิตอเรียในสเปนในปี ค.ศ. 1813 ที่ฝ่ายอังกฤษปล้นรถม้าใหญ่ที่เต็มไปด้วยภาพเขียนที่โจเซฟ โบนาปาร์ต ไปขนมาจากราชสำนักสเปน เฮย์นำภาพเขียนมาถวายเจ้าชายผู้สำเร็จราชการผู้ต่อมาขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 4 แห่งสหราชอาณาจักรผ่านทางเซอร์ทอมัส ลอว์เรนซ์ เจ้าชายผู้สำเร็จราชการทรงรับและตั้งไว้ที่คฤหาสน์คาร์ลตันเป็นเวลาสองปีก่อนที่จะคืนให้เฮย์ในปี ค.ศ. 1818.
  • ราว ค.ศ. 1828 - เฮย์มอบภาพเขียนให้เพื่อนดูแลและไม่ได้พบกับเพื่อนคนนี้อีกสิบสามปี จนกระทั่งมาจัดให้ภาพเขียนออกแสงในนิทรรศการ
  • ค.ศ. 1841 - ภาพเขียนออกแสงในนิทรรศการ
  • ค.ศ. 1842 - หอศิลป์แห่งชาติแห่งลอนดอนที่เพิ่งก่อตั้งซื้อภาพเขียนจากเฮย์เป็นจำนวน 600 ปอนด์ บานภาพและกรอบเดิมหายไป

อ้างอิง แก้

  1. Dunkerton, Jill, et al., Giotto to Dürer: Early Renaissance Painting in the National Gallery, page 258. National Gallery Publications, 1991. ISBN 0-300-05070-4
  2. Margaret Koster, Apollo, Sept 2003. เก็บถาวร 2008-09-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Also see Giovanni Arnolfini for a fuller discussion of the issue
  3. 3.0 3.1 3.2 National Gallery catalogue: The Fifteenth Century Netherlandish Paintings by Lorne Cambell, 1998, ISBN 1-85709-171-X
  4. http://www.artchive.com/artchive/v/van_eyck/eyck_giovanni.jpg
  5. Cambell 1998, op cit, pp. 186-91 for all this section
  6. Repeating the material in his Early Netherlandish Painting, cited here
  7. Hall, Edwin. The Arnolfini Bethrothal. 1994. pp. 105-106.Online edition
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 Panofsky, Erwin. Early Netherlandish Painting. Cambridge: Harvard University Press, 1953. pp. 202-203.
  9. Orange blossom remains the traditional flower for a bride to wear in her hair.
  10. as the Art Historian Craig Harbison has argued
  11. Cambell 1998, op cit, pp. 175-78 for all this section

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้