ยฺหวิ่นเหริง (จีน: 允礽; พินอิน: Yǔnréng; 6 มิถุนายน 1674 – 27 มกราคม 1725) พระนามเดิมว่า อิ้นเหริง (จีน: 胤礽; พินอิน: Yìnréng) และพระนามแรกประสูติว่า เป่าเฉิง (จีน: 保成; พินอิน: Bǎochéng) เป็นเจ้าชายแมนจูในราชวงศ์ชิง และเป็นรัชทายาทสองสมัยในระหว่างปี 1675 ถึงปี 1712

ยฺหวิ่นเหริง
Yunreng
รัชทายาทแห่งราชวงศ์ชิง
ดำรงพระยศค.ศ. 1675 – 1708
(ครั้งที่หนึ่ง)
1709–1712
(ครั้งที่สอง)
ประสูติ6 มิถุนายน 1674
สิ้นพระชนม์27 มกราคม 1725 (พระชันษา 50 ปี 235 วัน)
พระนามเต็ม
อ้ายซินเจว๋หลัว อิ้นเหริง (愛新覺羅 胤礽)
ราชวงศ์ชิง
พระบิดาจักรพรรดิคังซี
พระมารดาจักรพรรดินีเซี่ยวเฉิงเหริน

พระประวัติ แก้

องค์ชายอิ้นเหริง ประสูติในตระกูลแมนจูอ้ายซินเจว๋หลัว ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่เจ็ดในจักรพรรดิคังซี แต่เป็นพระองค์ที่สองที่เติบโตจนเป็นผู้ใหญ่ พระองค์มีพระนามเดิมว่าเป่าเฉิง และได้เปลี่ยนเป็น อิ้นเหริง เมื่อมีพระชันษามากขึ้น

พระราชมารดาของพระองค์คือจักรพรรดินีเซี่ยวเฉิงเหริน สกุลเฮ่อเซ่อหลี่ ซึ่งเป็นหลานสาวของสั่วหนี (หนึ่งในคณะสำเร็จราชการของคังซี) พระนางเป็นสตรีที่จักรพรรดิคังซีรักมากที่สุด อิ้นเหริงทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ 2 ที่เกิดกับพระนาง (องค์แรกคือองค์ชายเฉิงฮู่สิ้นพระชนม์ไปก่อนหน้าแล้ว) อิ้นเหริงจึงเป็นโอรสที่พระนางหวังไว้สูงมาก ในปีคังซีที่ 13 เดือน 6 (ค.ศ.1674) หลังจากอิ้นเหริงประสูติได้ 1 เดือน จักรพรรดินีเซี่ยวเฉิงเหรินทรงประชวรหนักจากอาการตกเลือดจากการคลอดบุตร จักรพรรดิคังซีเสด็จไปเยี่ยมเพื่อดูใจครั้งสุดท้าย พระนางได้เอ่ยคำขอร้องก่อนตายต่อจักรพรรดิคังซีเพื่อให้คำมั่นสัญญาว่า จะยกตำแหน่งพระรัชทายาทให้แก่อิ้นเหริง พระโอรสองค์น้อยของพระนางเท่านั้น จักรพรรดิคังซีด้วยความรักเสน่หาต่อพระนางจึงรับคำในทันที จักรพรรดินีเซี่ยวเฉิงเหรินจึงวางใจเสด็จสวรรคตในเวลานั้น หลังจากนั้น 1 ปี ในปี ค.ศ.1675 อิ้นเหริงได้รับการสถาปนาเป็นพระรัชทายาท

อิ้นเหริงได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี และจักรพรรดิคังซีทรงสละเวลาสั่งสอนอบรมด้วยพระองค์เอง ซึ่งแตกต่างจากพระโอรสคนอื่นๆ ที่จะเรียนกับพระอาจารย์หลวงเท่านั้น จนพระองค์เป็นผู้มีความสามารถ ตรัสได้ถึง 3 ภาษาตั้งแต่ยังเด็ก อิ้นเหริงได้รับมอบหมายงานสำคัญๆจากพระราชบิดามากมาย ควบคุมหน่วยงานราชการหลายกรมกอง ซึ่งแรกๆ พระองค์ทรงขยันขันแข็งแบ่งเบาภาระพระราชบิดาเป็นอย่างดี จนเป็นพระโอรสที่จักรพรรดิคังซีรักและโปรดปรานมากที่สุด

กับพี่น้อง อิ้นเหริงมีข้อขัดแย้งกับองค์ชายใหญ่อิ้นถีเป็นประจำ ด้วยมีวัยใกล้เคียงกัน และองค์ชายอิ้นถีเป็นพระโอรสองค์โตแต่เกิดกับสนมธรรมดา แต่มีผลงานความดีความชอบทางการทหารร่วมรบกับพระราชบิดาบ่อยครั้ง จึงคิดว่าจักรพรรดิคังซีลำเอียงต่ออิ้นเหริงมากเกินไป จึงมักจะฟ้องร้องพฤติกรรมต่างๆของอิ้นเหริงต่อจักรพรรดิคังซีเสมอๆ อิ้นเหริงมีความสัมพันธ์อันดีต่อองค์ชาย 4 อิ้นเจิน หรือ จักรพรรดิยงเจิ้ง ทั้งนี้องค์ชายอิ้นเจินเมื่อเริ่มรับราชการครั้งแรกได้เป็นผู้ช่วยเหลืองานอิ้นเหริง พระองค์จึงสนับสนุนช่วยเหลืออิ้นเจินให้มีผลงานเข้าตาจักรพรรดิคังซีหลายครั้ง แต่อิ้นเหริงไม่เป็นที่ชอบใจขององค์ชายคนอื่นๆ เนื่องจากการวางตัวที่เย่อหยิ่ง และอิจฉาพระอนุชาคนอื่นๆ ที่ทำผลงานเกินหน้าเกินตาตนเอง

ในปี ค.ศ.1696 – 1697 จักรพรรดิคังซียกทัพปราบเก๋อเอ่อตานข่าน อิ้นเหริงได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการรักษานครปักกิ่ง แม้จะมีเรื่องอื้อฉาวและข้อกล่าวหาของการทุจริตและความไม่ยุติธรรมต่อการปฏิบัติหน้าที่ พระองค์ยังคงเป็นที่โปรดปรานของพระราชบิดา แต่มีเกร็ดว่า ในครั้งนั้นระหว่างการปราบปรามกบฏเก๋อเอ่อตานข่าน จักรพรรดิคังซีเกิดทรงประชวรหนักมาก ถึงขั้นเรียกพระโอรสองค์โปรดทั้ง 2 คนคือพระรัชทายาทอิ้นเหริง กับองค์ชาย 3 อิ้นจื่อ ให้เข้าเฝ้าพร้อมกัน องค์ชายอิ้นจื่อเห็นพระราชบิดานอนซมรีบเข้าไปสวมกอดร้องห่มร้องไห้ แต่เมื่อจักรพรรดิคังซีทอดพระเนตรไปที่อิ้นเหริงก็ทรงเสียพระทัยที่สุด เพราะพระรัชทายาทกลับยืนมองพระองค์ด้วยสายตาเฉยเมย ไม่แสดงอาการยินดียินร้ายที่เห็นพระองค์ป่วยหนัก ซึ่งจากจุดนี้ทำให้จักรพรรดิคังซีหลังจากหายประชวรและปราบกบฏสำเร็จ จึงเริ่มทบทวนท่าทีนิสัยของพระรัชทายาท ทำให้ความสัมพันธ์ของพ่อลูกเริ่มห่างเหิน และจักรพรรดิคังซีเริ่มเปิดโอกาสให้พระโอรสคนอื่นๆ เข้ารับราชการแสดงฝีมือมากขึ้น

ในปี ค.ศ.1703 สั่วเอ้อถู (อาของจักรพรรดินีเซี่ยวเฉิงเหริน) ได้ถูกจับกุมด้วยข้อหาวางแผนลอบปลงพระชนม์และทุจริต เขาได้ถูกจำคุกและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทำให้อิ้นเหริงเริ่มมีความขัดแย้งกับพระราชบิดา ปี ค.ศ.1708 อิ้นเหริงถูกข้อหาว่า ได้นำม้าต้นที่เผ่ามองโกลถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการให้จักรพรรดิคังซีนำไปขี่เล่น ซึ่งทำให้มีการตำหนิอย่างหนัก แถมข่าวลือเรื่องนำเด็กชายเข้าตำหนักเพื่อเสพกามเป็นเรื่องซุบซิบนินทาอื้อฉาวไปทั่ว รวมถึงการซ่องสุมขุนนางไว้จำนวนมากส่อแววการก่อกบฏ เมื่อได้ทำการไตร่สวนอิ้นเหริงต่อหน้าพระพักต์ อิ้นเหริงมีอาการสติไม่ดีพูดจาวกวนไปมา จักรพรรดิคังซีจึงตัดสินใจมีคำสั่งปลดอิ้นเหริงจากตำแหน่งพระรัชทายาทไว้ก่อน แต่ในภายหลังได้มีการสืบค้นสาเหตุที่พระรัชทายาทมีอาการวิกลจริต พบว่ามีการเล่นคุณไสยต่ออิ้นเหริงจริง (สมัยนั้นเรื่องเวทมนต์คาถาคุณไสยเป็นความเชื่อของคนทั่วไป) จึงมีการจับกุมองค์ชายใหญ่อิ้นถี ด้วยข้อหาทำไสยศาสตร์ใส่พระรัชทายาท ปลดตำแหน่งอิ้นถีออกจากฐานันดรทุกตำแหน่งและคุมขังไว้ตลอดชีวิต ต่อมาในปี ค.ศ.1709 เมื่อจักรพรรดิคังซีได้ตรวจสอบอิ้นเหริงใหม่ เห็นว่ามีอาการเป็นปกติแล้ว จึงได้สถาปนาแต่งตั้งขึ้นเป็นพระรัชทายาทอีกครั้ง ตลอดช่วงระยะเวลาสามปีต่อมา อิ้นเหริงยิ่งมีพฤติกรรมที่แย่ลง ยังใช้อำนาจในทางมิชอบ รังแกเหล่าพระอนุชา และที่สำคัญมีการซ่องสุมกลุ่มขุนนางเตรียมการก่อกบฏ จักรพรรดิคังซีจึงสั่งปลดจากตำแหน่งรัชทายาทเป็นการถาวร ในปี ค.ศ.1712 โดยไม่มีการแต่งตั้งรัชทายาทองค์ใหม่อีกเลยตลอดรัชกาล และได้มีการสั่งคุมขังอิ้นเหริงไว้ พร้อมกับยึดทรัพย์ปลดจากฐานันดรศักดิ์ทุกตำแหน่ง

ปี ค.ศ.1722 จักรพรรดิคังซีสวรรคต องค์ชาย 4 อิ้นเจินได้สืบทอดราชบังลังก์เป็นจักรพรรดิยงเจิ้ง อิ้นเหริงต้องเปลี่ยนพระนามเป็นยฺหวิ่นเหริง เพื่อไม่ให้ใช้คำว่า อิ้น เหมือนองค์จักรพรรดิ ในปี ค.ศ.1725 ยฺหวิ่นเหริงสิ้นพระชนม์ขณะยังถูกคุมขัง จักรพรรดิยงเจิ้งทรงสถาปนาให้เป็นเหอชั่วหลี่มี่ชินหวัง (和碩理密親王) อีกทั้งจักรพรรดิยงเจิ้งได้รับเอาโอรสองค์โตของอิ้นเหริงคือ องค์ชายหงซีมาช่วยงานราชการ และเป็นที่โปรดปรานสถาปนาให้เป็น "อี่เก๋อหลี่ชินหวัง" อีกด้วย

พระบรมวงศานุวงศ์ แก้

  • พรบิดา : จักรพรรดิคังซี
  • พระมารดา : จักรพรรดินีเซี่ยวเฉิงเหริน
  • พระชายาเอก
    • พระชายาเอก สกุลกัวเอ่อร์เจีย
  • พระชายารอง
    • พระชายารอง สกุลหลี่เจีย
    • พระชายารอง สกุลเฉิงเจีย
    • พระชายารอง สกุลถังเจีย
  • พระอนุชายา
    • พระอนุชายา สกุลหวังเจีย
    • พระอนุชายา สกุลหลินเจีย
    • พระอนุชายา สกุลฟ่านเจีย
    • พระอนุชายา สกุลหลิวเจีย
  • ภรรยาน้อย
    • สตรี สกุลหลิว
    • สตรี สกุลเฉียน
    • สตรี สกุลชิว
    • สตรี สกุลจู
    • สตรี สกุลฉี
    • สตรี สกุลเผย
  • พระโอรส
    • เจ้าชายไม่ปรากฏพระนาม (4 กุมภาพันธ์ 1692 – 27 ธันวาคม 1701) โอรสในพระชายารอง สกุลหลี่เจีย
    • เจ้าชายหงซี (弘晳, 25 สิงหาคม 1694 – 26 ตุลาคม 1742) อี่เก๋อหลี่ชินอ๋อง (已革理親王, 1723–1739) โอรสในพระชายารอง สกุลหลี่เจีย
    • เจ้าชายหงจิ้น (弘晉, 14 พฤศจิกายน 1696 – 23 เมษายน 1717) เฟิ่งเอินฟู่กั๋วกงผิงจี๋ (奉恩輔國公) โอรสในพระชายารอง สกุลหลี่เจีย
    • เจ้าชายไม่ปรากฏพระนาม (1 พฤศจิกายน 1704 – 4 กุมภาพันธ์ 1706) โอรสในพระชายารอง สกุลถังเจีย
    • เจ้าชายไม่ปรากฏพระนาม (16 ธันวาคม 1708) โอรสในสตรี สกุลหลิว
    • เจ้าชายหงเอี้ยน (弘曣, 5 สิงหาคม 1712 – 19 พฤษภาคม 1750) เฟิ่งเอินฟู่กั๋วเก๋อซีกง (奉恩輔國恪僖公) โอรสในพระชายารอง สกุลถังเจีย
    • เจ้าชายหงเฉา (弘晀, 16 มิถุนายน 1714 – 28 สิงหาคม 1774) อี่เก๋อฟู่กั๋วกง (已革輔國公) โอรสในพระอนุชายา สกุลหวังเจีย
    • เจ้าชายไม่ปรากฏพระนาม (1 มีนาคม 1715 – 4 กรกฎาคม 1726) โอรสในสตรี สกุลเฉียน
    • เจ้าชายหงเหยียว (弘暚, 3 กรกฎาคม 1716 – 9 กุมภาพันธ์ 1783) องครักษ์ (三等侍衛) โอรสในสตรี สกุลชิว
    • เจ้าชายหงเหวย (弘㬙, 27 มกราคม 1719 – 25 กันยายน 1780) หลี่เก๋อจุ้นอ๋อง (理恪郡王, 1739–1780) โอรสในพระชายารอง สกุลเฉิงเจีย
    • เจ้าชายหงปิง (弘昞, 8 กุมภาพันธ์ 1720 – 4 พฤษภาคม 1763) โอรสในพระอนุชายา สกุลหวังเจีย
    • เจ้าชายหงหวั่น (弘晥, 6 พฤศจิกายน 1724 – 29 พฤษภาคม 1775) เฟิ่งเอินฟู่กั๋วกง (奉恩輔國公) โอรสในพระชายารอง สกุลเฉิงเจีย
  • พระธิดา
    • เจ้าหญิงไม่ปรากฏพระนาม (27 พฤษภาคม 1693 – มิถุนายน 1693) ธิดาในพระชายารอง สกุลหลี่เจีย
    • เจ้าหญิงไม่ปรากฏพระนาม (11 มีนาคม 1694 – มีนาคม 1694) ธิดาในพระชายารอง สกุลหลี่เจีย
    • เจ้าหญิงเหอซั่วเก๋อเก๋อ (25 กันยายน 1697 – 5 พฤษภาคม 1735) ธิดาในพระชายาเอก สกุลกัวเอ่อร์เจีย
    • เจ้าหญิงไม่ปรากฏพระนาม (16 มีนาคม 1706 – 16 มีนาคม 1706) ธิดาในพระอนุชายา สกุลฟ่านเจีย
    • เจ้าหญิงไม่ปรากฏพระนาม (4 มกราคม 1708 – กุมภาพันธ์/มีนาคม 1712) ธิดาในพระอนุชายา สกุลฟ่านเจีย
    • เจ้าหญิงเหอซั่วซูเซิ่นกงจวู่ (和碩淑慎公主, 24 มกราคม 1708 – 23 ตุลาคม 1784) ธิดาในพระชายารอง สกุลถังเจีย
    • เจ้าหญิงไม่ปรากฏพระนาม (25 พฤศจิกายน 1711 – พฤศจิกายน/ธันวาคม 1716) ธิดาในสตรี สกุลหลิว
    • เจ้าหญิงเหอซั่วเก๋อเก๋อ (2 มีนาคม 1714 – 21 พฤศจิกายน 1760) ธิดาในพระชายารอง สกุลเฉิงเจีย
    • เจ้าหญิงตัวหลัวเก๋อเก๋อ (10 มกราคม 1715 – 12 กรกฎาคม 1762) ธิดาในพระอนุชายา สกุลหลินเจีย
    • เจ้าหญิงไม่ปรากฏพระนาม (27 กรกฎาคม 1717 – กุมภาพันธ์/มีนาคม 1720) ธิดาในพระชายารอง สกุลเฉิงเจีย
    • เจ้าหญิงไม่ปรากฏพระนาม (27 กรกฎาคม 1717 – 29 มีนาคม 1725) ธิดาในพระอนุชายา สกุลหลิวเจีย
    • เจ้าหญิงเหอซั่วเก๋อเก๋อ (14 พฤศจิกายน 1717 – 30 เมษายน 1776) ธิดาในสตรี สกุลฉี
    • เจ้าหญิงไม่ปรากฏพระนาม (4 กุมภาพันธ์ 1718 – พฤษภาคม/มิถุนายน 1719) ธิดาในสตรี สกุลจู
    • เจ้าหญิงไม่ปรากฏพระนาม (25 เมษายน 1722 – สิงหาคม/กันยายน 1722) ธิดาในสตรี สกุลเผย