พิธีการไว้จุกและโกนจุก เป็นประเพณีโบราณที่ปรากฏในกัมพูชา ไทย ลาว และพม่า[1] ที่เริ่มต้นจากการไว้จุกจนกระทั่งถึงพิธีโกนจุก มีทั้งพิธีหลวงซึ่งเรียกว่า พระราชพิธีโสกันต์ และพิธีราษฎร์ ซึ่งพิธีหลวงสิ้นสุดในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระราชพิธีโสกันต์พระองค์เจ้าอินทุรัตนาเมื่อ พ.ศ. 2474 นับเป็นองค์สุดท้ายของประเทศไทย ปัจจุบันมีประเพณีราษฎร์ในประเทศไทยที่เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ กรุงเทพมหานคร อันเป็นพิธีหลังเสร็จพิธีตรียัมปวาย ยังมีพิธีโกนจุกเพื่อสิริมงคลเช่นที่วัดพิกุลทอง จังหวัดนนทบุรี พิธีกรรมโกนจุกเรียกเป็นภาษาเขมรว่า กอร์เซาะกำป็อด[2]

เด็กจะไว้ผม โดยทรงที่นิยมคือ จุก แกละ เปีย และโก๊ะ จะมีพิธีโกนจุกเมื่ออายุประมาณ 13–15 ปี สำหรับเด็กชาย

โดยเมื่อเด็กอายุครบ 1 เดือนจะมี พิธีโกนผมไฟ ทำขึ้นเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าทารกนั้นได้รอดพ้นจากอันตรายแล้วจึงรับเข้าเป็นสมาชิกในตระกูล ด้วยเหตุนี้จึงมี การทำขวัญเดือนและโกนผมไฟ โดยจะโกนผมเด็กทั้งศีรษะ และต่อไปเด็กก็จะไว้จุก และต้องคอยโกนส่วนอื่นของศีรษะให้เกลี้ยง ส่วนที่เป็นจุกอยู่กลางศีรษะก็จะเกล้าและปักปิ่นและถอนไรจุกโดยรอบ พิธีโกนจุกจะทำในวัยเด็กก่อนวัยรุ่น สืบเนื่องจากพระอิศวรโกนพระเกศาพระพิฆเนศวร พระโอรส เมื่อชันษา 11 ปี บนยอดเขาพนมไกรลาส ดังนั้นในพิธีหลวงจะมีปะรำพิธีที่ทำพิธีประพรมน้ำพระพุทธมนต์ สำหรับเจ้านายในพิธีโสกันต์จึงสร้างบนยอดเขาจำลอง สมมติว่าเป็นพนมไกรลาส[3]

พิธี แก้

พิธีโกนจุกของเด็กไทยในสมัยโบราณส่วนใหญ่นิยมไว้จุกกัน สำหรับเด็กผู้หญิงจะโกนจุกเมื่ออายุประมาณ 11 ปี เด็กผู้ชายเมื่ออายุประมาณ 13–15 ปี พิธีมงคลโกนจุกมักจัดกัน 2 วัน แล้วนิมนต์พระสงฆ์เพื่อมาสวดมนต์เย็นในวันสุกดิบและฉันเช้าในวันงาน อุปกรณ์ที่ใช้ได้แก่ โต๊ะหมู่บูชาพร้อมเครื่องสักการะ โต๊ะสำหรับวางพานมงคล พานใส่ใบบัว มีดโกนและกรรไกร พานล้างหน้าและพานรองเกี้ยว สายสิญจน์ ด้ายผูกข้อมือ แป้งเจิม แหวนนพเก้า ใบมะตูม ชุดถวายของพระ ไทยธรรม ภัตตาหาร เครื่องดื่มถวายพระและเลี้ยงแขกในงาน

เวลาเย็นในวันสุกดิบ พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์โดยเจ้าภาพนำเด็กไปไว้ที่บ้านญาติ โกนผมรอบจุกของเด็กแล้วแห่มาจนถึงบ้านของตนเอง เข้ามานั่งสวดมนต์โดยสวมมงคลลงยังผมจุกของเด็กแล้วเอาสายสิญจน์ มาคล้องศีรษะเด็ก จากนั้นหมอทำขวัญทำพิธีสู่ขวัญเด็ก หลังเสร็จพิธีพิณพาทย์ประโคม ลั่นฆ้องและโห่ร้องเอาชัย จากนั้นให้เด็กเปลี่ยนชุดแต่งกายเป็นธรรมดา เป็นอันเสร็จพิธีวันแรก ในช่วงกลางคืนอาจมีมหรสพสมโภช และกินเลี้ยงฉลองกัน

เช้าวันที่สองมีการเลี้ยงพระ เด็กนุ่งขาวห่มขาว แบ่งผมจุกเด็กออกเป็น 3 ปอย นำสายสิญจน์ผูกปลายผมกับแหวนนพเก้าและใบมะตูมทั้งสามปอย ปอยละ 1 วง เอาใบเงินใบทองแซมไว้ที่ผม และเอาหญ้าแพรกขมวดเป็นแหวนหัวพิรอดสวมครอบจุกไว้ จากนั้นนำเด็กออกจากพิธี ชาวบ้านที่มาร่วมงานร่วมกันทำบุญตักบาตร นำอาหารถวายพระ เมื่อพระฉันเสร็จและได้เวลาฤกษ์ก็ลั่นฆ้องชัย เจ้าภาพของเด็กเชิญประธานมาตัดจุก พราหมณ์ส่งสังข์ให้รดน้ำศีรษะเด็กและส่งกรรไกรตัดผมออกจุกหนึ่ง แล้วเอา มีดเงิน ทอง นาก โกนเล่มละ 3 ที พอเป็นพิธี แล้วเชิญแขกตัดอีก 2 ปอย จากนั้นมอบให้ช่างโกนผมจนเสร็จ นำเด็กไปยังที่นั่งเบญจารดน้ำ แขกจะทะยอยมาให้พรเด็ก เสร็จแล้วทัดใบมะตูมที่หูขวา จากนั้นนำเด็กไปเปลี่ยนชุดให้ทันก่อนพระฉันเพลเสร็จ เด็กถวายเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์ เป็นอันจบพิธี ส่วนผมที่โกนจะนำไปใส่กระทงลอยน้ำอธิษฐานขอความก้าวหน้า[4]

อ้างอิง แก้

  1. "พิธีโสกันต์ เจ้าชายที่พนมเปญ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 1901". ฐานข้อมูลหนังสือเก่า.
  2. "สถานภาพ บทบาทและการดำรงอยู่ ของประเพณี พิธีกรรมและความเชื่อของชาวไทยเขมร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-08-19. สืบค้นเมื่อ 2021-12-09.
  3. โชติกา นุ่นชู. "ย้อนรอยพระราชพิธีโสกันต์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้านายพระองค์ใดโสกันต์คนแรก-คนสุดท้าย?". ศิลปวัฒนธรรม.
  4. "ประเพณีการไว้จุกและการโกนจุกของเด็กไทย" (PDF). กรมศิลปากร.