โต๊ะหมู่บูชา
โต๊ะหมู่บูชา คือ โต๊ะที่จัดตั้งเครื่องสักการะพระพุทธรูป พระบรมฉายาลักษณ์ พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบรมรูปหล่อของพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ หรือรูปของบรรพบุรุษ ตามความเชื่อของแต่ละบ้าน ใช้วางเครื่องบูชาเพื่อแสดงความเคารพ และแสดงถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ[1]
โต๊ะหมู่บูชาประกอบด้วชุดโต๊ะที่มีการจัดลำดับการตั้งวางลดหลั่นกันไป อาจมีการจัดโต๊ะตั้งแต่แบบหมู่ 3, 4, 5, 7 และ 9 โดยโต๊ะหมู่บูชาหมู่ 9 จะเป็นโต๊ะที่มีขนาดใหญ่มากที่สุด บนโต๊ะหมู่มักจะตั้งวางพระพุทธรูป สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ รวมไปถึงเชิงเทียน กระถางธูป พานพุ่ม หรือแจกันดอกไม้ เป็นต้น[2]
โต๊ะหมู่บูชาเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เดิมเรียกว่า เครื่องบูชาอย่างม้าหมู่ เป็นแนวคิดการบูชาอย่างไทยแกมจีน โดยประยุกต์เอาเครื่องเรือนอย่างจีน หรือที่เรียกว่า ลายฮ่อ และลายแจกัน เครื่องถ้วยชามอย่างจีน เรียกว่า ลายปักโก๊ ที่สวยงามมาใช้ โดยเมื่อ พ.ศ. 2391 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้จัดสร้างม้าหมู่ขึ้น โดยดัดแปลงตามเครื่องฮ่อ ใช้สำหรับตั้งเครื่องบูชาหน้าพระประธานในพระอุโบสถในงานฉลองวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ภายหลังมีความนิยมเอาอย่าง มีการจัดโต๊ะเครื่องบูชาอย่างม้าหมู่สำหรับใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปและมีโต๊ะประกอบที่ตั้งเครื่องบูชา ในการทำบุญโอกาสต่าง ๆ ของพระบรมวงศานุวงศ์และเจ้านายในสมัยนั้นๆ[3]
อ้างอิง
แก้- ↑ "วิธีจัดโต๊ะหมู่บูชา และการเลือกพระประธานที่ถูกต้อง". ไทยรัฐ.
- ↑ "โต๊ะหมู่บูชาสำคัญหรือไม่ จำเป็นแค่ไหนที่จะต้องมีโต๊ะหมู่บูชาในบ้าน?". มติชน.
- ↑ "อธิบายเครื่องบูชา พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ". สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ.