พระเจ้าเอนริเกที่ 2 แห่งกัสติยา

พระเจ้าเอนริเกที่ 2 (สเปน: Enrique II) หรือ เอนริเกแห่งตรัสตรามารา (สเปน: Enrique de Trastámara) หรือ เอนริเกผู้สังหารพี่น้อง (สเปน: Enrique El Fratricida) หรือ เอนริเกผู้เป็นบุตรนอกสมรส (สเปน: Enrique El Bastardo) (ค.ศ. 1333 – 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1379) เป็นกษัตริย์แห่งกัสติยา ผู้เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ตรัสตามารา พระองค์เป็นบุตรชายนอกสมรสของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 11 แห่งกัสติยา

พระเจ้าเอนริเกที่ 2
กษัตริย์แห่งกัสติยาและเลออน
ครองราชย์13 มีนาคม ค.ศ. 1366 – 3 เมษายน ค.ศ. 1367 (ครั้งที่ 1)
23 มีนาคม ค.ศ. 1369 – 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1379 (ครั้งที่ 2)
ราชาภิเษก29 มีนาคม ค.ศ. 1366
ที่วิหารซันตามารีอาลาเรอัลเดลาสอูเอลกัส
รัชกาลก่อนหน้าพระเจ้าเปโดรแห่งกัสติยา
รัชกาลถัดไปพระเจ้าเปโดรแห่งกัสติยา (ครั้งที่ 1)
พระเจ้าฆวนที่ 1 แห่งกัสติยา (ครั้งที่ 2)
พระมเหสีฆัวนา มานูเอล สมเด็จพระราชินีแห่งกัสติยา
พระราชบุตรพระเจ้าฆวนที่ 1 แห่งกัสติยา
เลโอนอร์แห่งกัสติยา สมเด็จพระราชินีแห่งนาวาร์
อินฟันตาฆัวนา
ราชวงศ์ตรัสตรามารา
พระราชบิดาพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 11 แห่งกัสติยา
พระมารดาเลโอนอร์ เด กุซมัน
ประสูติ13 มกราคม ค.ศ. 1334
เซบิยา
สวรรคต29 พฤษภาคม ค.ศ. 1379 (45 พรรษา)
ฝังพระศพอาสนวิหารโตเลโด

ผู้สังหารพี่น้อง แก้ไข

เลโอนอร์ เด กุซมัน พระมารดาของเอนริเกเป็นสนมลับของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 11 (โดยเธอเป็นลูกหลานของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 9 แห่งเลออน) สัมพันธภาพนอกสมรสของทั้งคู่ได้ให้กำเนิดบุตรธิดา 10 คนซึ่งหนึ่งในนั้นคือเอนริเก เอนริเกเติบโตมาพร้อมกับฝาแฝดของพระองค์ที่มีชื่อว่าฟาดริเก อัลฟอนโซแห่งกัสติยา พระองค์ได้รับพระราชทานทรัพย์สินที่ดินมากมายจากพระราชบิดา หนึ่งในนั้นคือเคาน์ตีตรัสตรามารา เช่นเดียวกับบุตรชายคนอื่นๆ ของเลโอนอร์ ในขณะที่เปโดร ทายาทตามกฎหมายซึ่งเกิดจากมารีอาแห่งโปรตุเกส พระราชินีผู้ไม่เป็นที่สนใจของกษัตริย์ไม่ได้รับความสำคัญใดๆ กระทั่งในปี ค.ศ. 1350 เมื่อพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 11 สวรรคตอย่างกระทันหันด้วยโรคระบาดด้วยวัยเพียง 40 พรรษา สถานการณ์ก็พลิกผันเมื่อราชบัลลังก์กัสติยาตกเป็นของเปโดรผู้เป็นพระราชโอรสตามกฎหมาย

การขึ้นมามีอำนาจของพระเจ้าเปโดรที่ 1 กับมารีอาแห่งโปรตุเกสผู้เป็นพระราชมารดาทำให้ขุนนางกลุ่มใหญ่เลิกให้การสนับสนุนจนบุตรของเลโอนอร์ต้องหนีไปจากราชสำนัก ระหว่างเดินทางไปเซบิยาเพื่อร่วมพิธีศพของกษัตริย์ผู้ล่วงลับ เลโอนอร์ เด กุซมันถูกจับกุมตัว โดยเธอถูกกล่าวหาว่าได้วางแผนสมคบคิดให้เอนริเก บุตรชายของตนได้ขึ้นกษัตริย์ บุตรของเลโอนอร์ได้ลุกฮือขึ้นก่อกบฏทั่วราชอาณาจักร พระเจ้าเปโดรจึงมีคำสั่งให้ประหารชีวิตเลโอนอร์ในตาลาเบราเดลาไรนา

ตลอดรัชสมัยของพระเจ้าเปโดรที่ 1 เอนริเกได้แสดงตนเป็นกบฏต่อพระเชษฐาต่างมารดา ในปี ค.ศ. 1353 พระเจ้าเปโดรได้อภิเษกสมรสกับบล็องแห่งบูร์บงซึ่งถูกกษัตริย์ทอดทิ้งหลังสมรสได้เพียงสองวันเนื่องจากข้อเรียกร้องทางการเงินของฝรั่งเศสและความเฉยเมยที่มีต่อกันของสองสามีภรรยา เป็นเหตุให้ความสัมพันธ์ของพระองค์กับฝรั่งเศสเกิดรอยร้าว อิทธิพลของมาริอา เด ปาดิยา ธิดาขุนนางกัสติยาซึ่งเป็นสนมลับของกษัตริย์มีบทบาทสำคัญทำให้พระองค์ตัดสินใจผิดสัญญากับฝรั่งเศส

ความขัดแย้งระหว่างพระเจ้าเปโดรกับเอนริเกผู้เป็นพระอนุชาต่างมารดาลุกลามเป็นความขัดแย้งระดับนานาชาติเมื่ออังกฤษกับฝรั่งเศสซึ่งกำลังต่อสู้กันในสงครามร้อยปีได้ยื่นมือเข้ามายุ่ง เอนริเกได้ทำการปฏิวัติในอัสตูเรียสในปี ค.ศ. 1352 และปฏิวัติอีกครั้งในซิวดัดโรดริโกในปี ค.ศ. 1354 หลังพ่ายแพ้พระองค์ได้หนีไปฝรั่งเศสและได้สร้างสัมพันธไมตรีกับกษัตริย์ฝรั่งเศส ความขัดแย้งได้ขยายเข้าสู่ราชอาณาจักรอารากอนในปี ค.ศ. 1357 เมื่อเอนริเกหนีมาอารากอน พระเจ้าเปโดรที่ 4 แห่งอารากอนให้การสนับสนุนเอนริเก ขณะที่อินฟันเตเฟร์นันโด พระอนุชาของพระองค์ให้การสนับสนุนพระเจ้าเปโดร การห้ำหั่นกันระหว่างสองราชอาณาจักรอิสปาเนียเป็นจุดเริ่มต้นของการพิชิตปราสาทบิเฆสกาและตาราโซนาของกัสติยา ชื่อเสียงด้านความโหดเหี้ยมของพระเจ้าเปโดรเพิ่มมากขึ้นเมื่อพระองค์ได้ประหารชีวิตผู้คนมากมายจนทำให้ได้รับฉายานามว่าพระเจ้าเปโดรผู้โหดเหี้ยม

ด้วยความช่วยเหลือของทหารรับจ้างอังกฤษ กษัตริย์แห่งกัสติยายึดเมืองสำคัญของอารากอนได้หลายแห่ง เช่น เตรูเอล เกาเดเต และอาลิกันเต ในปี ค.ศ. 1358 ฟาดริเก อัลฟอนโซ ฝาแฝดของเอนริเกเดินทางมาเซบิยาเพื่อรับการอภัยโทษจากกษัตริย์ ทว่ากลับถูกจับกุมตัว บุตรชายนอกสมรสของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 11 สามารถหนีออกไปที่ลานของอัลกาซาร์ได้ แต่ก็ถูกสังหารโดยทหารของกษัตริย์ พงศาวดารบางฉบับกล่าวว่ากษัตริย์ได้สังหารพระอนุชาต่างมารดาด้วยน้ำมือพระองค์เอง

เอนริเกกลับมากัสติยาอีกครั้งพร้อมกับสมัครพรรคพวกของเบร์ตร็อง ดู เกสแกล็ง ด้วยความร่วมมือจากอารากอนและฝรั่งเศสชาติพันธมิตร พระองค์สามารถขับไล่พระเจ้าเปโดรออกจากประเทศได้สำเร็จ กษัตริย์ลี้ภัยไปอยู่ในกุยเยน ขณะที่เคานต์แห่งตรัสตรามาราประกาศตนเป็นกษัตริย์ในกาลาออร์รา พระเจ้าเปโดรที่ 1 ได้รับการช่วยเหลือจากกองทหารอังกฤษนำโดยเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ (หรือเจ้าชายดำ) และปราบพระเจ้าเอนริเกได้ที่สมรภูมินาเฆราซึ่งต่อสู้กันในวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1367

แต่ไม่นานกองทหารอังกฤษก็ถอนทัพออกไปจากกัสติยา เอนริเกกลับมาเคลื่อนไหวทางทหารอีกครั้งโดยทำการปิดล้อมเมืองโตเลโดและปราบกองทหารของกษัตริย์ได้ที่สมรภูมิมอนติเอลในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1369 ขณะถูกปิดล้อมอยู่ในปราสาทมอนติเอล พระเจ้าเปโดรที่ 1 หาทางเจรจากับเอนริเกและตกหลุมพรางที่พระอนุชาวางไว้ด้วยการให้เบร์ตร็อง ดู เกสแกล็งแกล้งทำเป็นรู้สึกผิดและเสนอตัวพากษัตริย์หลบหนี สุดท้ายพระองค์ถูกล่อลวงไปให้เอนริเกทำการฆาตกรรมและแย่งบัลลังก์กลับมาเป็นของตน

กษัตริย์แห่งกัสติยา แก้ไข

 
ภาพเหมือนของพระเจ้าเอนริเกที่ 2 แห่งกัสติยา โดยโฆเซ มารีอา โรดริเกซ

การสวรรคตของพระเจ้าเปโดรที่ 1 เป็นการสิ้นสุดการปกครองกัสติยาของราชวงศ์บูร์กอญและเป็นการเริ่มต้นศักราชของราชวงศ์ตรัสตามารา การสร้างความมั่นคงทางอำนาจไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อมีเพียงฝรั่งเศสชาติเดียวที่ให้การสนับสนุนพระเจ้าเอนริเกที่ 2 ขณะที่พระองค์ต้องคุ้มกันตนเองจากการโจมตีของอังกฤษ, โปรตุเกส, และนาวาร์ ทั้งยังไม่สามารถควบคุมแคว้นต่างๆ เช่น กาลิเซีย, ซาโมรา, ซิวดัดโรดริโก และการ์โมนา ที่ยังคงซื่อสัตย์ต่ออดีตกษัตริย์ผู้ถูกฆาตกรรม

พระเจ้าเอนริเกเริ่มต้นด้วยการพระราชทานรางวัลให้แก่พันธมิตร แต่พระองค์รักษาผลประโยชน์ให้แก่ราชอาณาจักรด้วยการไม่ยอมยกอาณาเขตให้แก่กษัตริย์อารากอนตามที่เคยได้ข้อตกลงไว้ สำหรับการเมืองภายใน พระองค์ได้สร้างราชอาณาจักรที่ได้รับความเสียหายจากสงครามกลางเมืองขึ้นมาใหม่ ทรงเพิ่มอำนาจของกษัตริย์ วิกฤตทางเศรษฐกิจตามมาเมื่อพระองค์รักษาสัญญาด้วยการให้รางวัลแก่ขุนนางที่เคยช่วยพระองค์ต่อสู้กับพระเชษฐาต่างมารดา ทั้งยังต้องใช้เงินก้อนโตไปกับการทำสงครามภายในที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

หลังชนะสงครามกลางเมือง พระองค์ได้นำกองทัพเข้าต่อสู้กับโปรตุเกส หลังยึดบรากังซาได้ พระองค์ได้ทำสนธิสัญญาสงบศึกอัลเกาชิงในปี ค.ศ. 1371 กับพระเจ้าเฟร์นังดูที่ 1 แห่งโปรตุเกส ศัตรูคนสำคัญในระดับนานาชาติของพระองค์คืออังกฤษซึ่งเป็นอดีตพันธมิตรของพระเจ้าเปโดร พระราชธิดาสองคนของพระเจ้าเปโดรที่เกิดจากมาเรีย เด ปาดียาได้สมรสกับพระราชโอรสของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ คือ กอนส์ตันซาสมรสกับจอห์นแห่งกอนท์ ดยุคแห่งแลงคัสเตอร์ และอิซาเบลสมรสกับเอ็ดมันด์ ดยุคแห่งยอร์ก อังกฤษมองว่าดยุคทั้งสองเป็นผู้สืบทอดที่ถูกต้องตามกฎหมายของบัลลังก์กัสติยา พระเจ้าเอนริเกที่ 2 จึงตัดสินใจเข้าร่วมสงครามร้อยปีโดยอยู่ฝั่งเดียวกับฝรั่งเศส กองทัพกัสติยาได้ร่วมกับกองทัพฝรั่งเศสปลดแอกลาโรเชลจากอังกฤษ สมรภูมิทางเรือลาโรเชลในปี ค.ศ. 1372 เป็นตัวแทนแสดงถึงชัยชนะของกัสติยาเหนืออังกฤษ ซึ่งส่งผลดีต่อการทหารและเศรษฐกิจของกัสติยา จากนั้นพระองค์กลับไปคุกคามโปรตุเกสอีกครั้งด้วยการยึดอัลเมดาและวีเซว และปิดกั้นท่าเรือลิสบอน กระทั่งพระเจ้าเฟร์นังดูยอมลงนามในสนธิสัญญาซังตาเร็ง ประกาศให้กองเรือโปรตุเกสอยู่ฝั่งฝรั่งเศสและกัสติยา

ต่อมาทรงนำทัพเข้าต่อสู้กับนาวาร์และได้รับชัยชนะจนนำไปสู่การทำสนธิสัญญาสงบศึกบริยอน สุดท้ายทรงทำศึกกับพระเจ้าเปโดรที่ 4 แห่งอารากอนซึ่งพ่ายแพ้ต่อพระองค์เช่นกันและได้มีการลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกอัลมาซานในปี ค.ศ. 1375 ในสนธิสัญญาทั้งสามฉบับที่ทำกับโปรตุเกส, นาวาร์ และอารากอน พระเจ้าเอนริเกที่ 2 ได้สร้างพันธมิตรผ่านทางการสมรสระหว่างพระโอรสธิดาของพระองค์กับพระโอรสธิดาของกษัตริย์ของอาณาจักรทั้งสาม อันเป็นจุดเริ่มของการขยายราชวงศ์

 
รูปแกะสลักหลุมศพของพระเจ้าเอนริเกที่ 2 แห่งกัสติยาในอาสนวิหารโตเลโด

การเคลื่อนไหวนอกประเทศของพระองค์ได้ยุติการถูกคุกคามอาณาเขตของกัสติยา พระองค์ได้รับการสนับสนุนจากตระกูลใหญ่ที่ได้รับพระราชทานทั้งอภิสิทธิ์ สิ่งของ และที่ดิน ในช่วงท้ายรัชสมัยพระองค์ถูกบีบให้กลับไปทำสงครามต่างแดนอีกครั้งในการรับมือการโจมตีร่วมกันของอังกฤษและนาวาร์ในปี ค.ศ. 1377 และได้มีการลงนามทำสนธิสัญญาสงบศึกซันโตโดมิงโกเดลากัลซาดาในปี ค.ศ. 1379 ก่อนที่พระองค์จะสวรรคต

พระเจ้าเอนริเกที่ 2 สวรรคตในวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1379 ในซันโตโดมิงโกเดลากัลซาดา พงศาวดารบางฉบับกล่าวว่าพระองค์ถูกวางยาพิษตามคำสั่งของกษัตริย์แห่งกรานาดาซึ่งเคยเป็นพันธมิตรของพระเจ้าเปโดร หรือไม่พระองค์อาจสวรรคตด้วยโรคไขข้อ ผู้สืบทอดบัลลังก์กัสติยาต่อจากพระองค์คือพระเจ้าฆวนที่ 1 แห่งกัสติยา พระราชโอรสที่ต้องต่อสู้กับลูกหลานของพระเจ้าเปโดรเพื่อปกป้องสิทธิ์ในบัลลังก์ของตนเช่นกัน

การสมรสและทายาท แก้ไข

พระเจ้าเอนริกาที่ 2 สมรสเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1350 กับฆัวนา มานูเอล เด บิเยนา เลดีแห่งบิเยนา, เอสกาโลนา และปัญญาฟิเอล ทั้งคู่มีพระราชโอรสธิดาด้วยกัน 3 คน คือ

  • ฆวน (ประสูติ ค.ศ. 1358) สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระราชบิดาเป็นพระเจ้าฆวนที่ 1 แห่งกัสติยา
  • เลโอนอร์ (ประสูติ ค.ศ. 1362) สมรสกับพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งนาวาร์และเป็นพระราชินีคู่สมรสแห่งนาวาร์
  • ฆัวนา (ประสูติ ค.ศ. 1367) สิ้นพระชนม์ในวัยเด็ก

นอกจากนี้พระองค์ยังมีบุตรธิดานอกสมรสอีกจำนวนมาก

อ้างอิง แก้ไข