เลโอนอร์ เด กุซมัน

เลโอนอร์ เด กุซมัน (สเปน: Leonor de Guzmán) เป็นชนชั้นสูงชาวกัสติยาซึ่งเป็นคนรักของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 11 แห่งกัสติยา ทั้งคู่เป็นบิดามารดาของพระเจ้าเอนริเกที่ 2 แห่งกัสติยา ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ตรัสตามารา

ภาพ "การร่ำลาครั้งสุดท้าย" โดยอันโตนิโอ อาโมโรส อี โบเตยา ปี ค.ศ. 1887 จากพิพิธภัณฑ์ปราโด กรุงมาดริด แสดงภาพฟาดริเก อัลฟอนโซ กำลังร่ำลามารดาต่อหน้าพระราชินีมารีอาแห่งโปรตุเกส

ชาติกำเนิด แก้

เลโอนอร์เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1310 ที่เซบิยา โดยมีชื่อเมื่อตอนแรกเกิดว่า เลโอนอร์ นุญเญซ เด กุซมัน อี ปอนเซ เด เลออน บิดามารดาของเธอเป็นขุนนางชื่อว่าเปโดร นุญเญซ เด กุซมัน และฆัวนา ปอนเซ เด เลออน เธอมีศักดิ์เป็นพระปนัดดาของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 9 แห่งเลออนในฝั่งของมารดา ครอบครัวของเธอจึงเป็นครอบครัวหนึ่งที่อยู่ในชนชั้นสูงสุดของแคว้น

สนมลับของกษัตริย์ แก้

เมื่อเริ่มเป็นสาวเลโอนอร์สมรสกับชายชื่อฆวน เด เบลัสโก ซึ่งต่อมาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1328 เลโอนอร์กลายเป็นม่ายด้วยวัยเพียง 18 ปี

หลังสามีเสียชีวิตได้ไม่นาน เลโอนอร์ก็ได้พบกับพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 11 แห่งเลออน, กัสติยา และกาลิเซียที่เซบิยา กษัตริย์ผู้อ่อนวัยกว่าหลงใหลในความงามของเลโอนอร์และรับเธอเป็นสนมลับของพระองค์ โดยขณะนั้นพระเจ้าอัลฟอนโซเพิ่งสมรสกับมารีอาแห่งโปรตุเกส พระธิดาของพระเจ้าอาฟงซูที่ 4 แห่งโปรตุเกสได้ไม่นาน พระองค์โปรดปรานเลโอนอร์ซึ่งเป็นสนมลับมากกว่าพระมเหสี

ไม่นานนักพระเจ้าอัลฟอนโซกับพระราชินีมารีอาแห่งโปรตุเกสก็มีพระโอรสด้วยกันสองคนชื่อว่าเฟร์นันโดและเปโดร แต่แทนที่จะทำให้ทั้งสองพระองค์สนิทสนมกันมากขึ้น พระเจ้าอัลฟอนโซกลับไม่สนใจพระมเหสีเลยแม้แต่น้อยหลังพระนางให้กำเนิดพระโอรส ทรงถือว่าพระองค์ได้ทำหน้าที่ในการผลิตทายาทสำเร็จแล้วและหันไปให้ความสำคัญกับเลโอนอร์ผู้เป็นคนโปรด พระราชินีผู้อับอายขายหน้าโกรธเคืองพระสวามีและขอให้พระองค์เลิกปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนคู่กับเลโอนอร์ แต่กษัตริย์ปฏิเสธคำร้องขอและพระราชทานที่ดินให้เลโอนอร์เพิ่ม ทั้งยังตั้งครัวเรือนให้เธอที่เซบิยา

เลโอนอร์ทั้งสวยและฉลาดทั้งยังเป็นที่โปรดปรานของกษัตริย์ ไม่นานเธอก็กลายเป็นสตรีที่มีอำนาจมากที่สุดในอาณาจักร กษัตริย์กับเธอไม่เคยอยู่ห่างกัน พระองค์ถึงขั้นอนุญาตให้เธอเข้าร่วมการประชุมทางการเมือง เมื่อใดที่กษัตริย์ไม่พร้อมทำงาน ราชทูตทุกคนที่พระมหากษัตริย์คนอื่น ๆ ส่งมาจะหันไปหาเลโอนอร์ที่ทำตัวราวกับเป็นพระราชินี

ตลอดระยะเวลา 20 ปีเลโอนอร์มีบุตรธิดาให้พระเจ้าอัลฟอนโซสิบคน คือ

  1. เปโดร อัลฟอนโซ ลอร์ดแห่งอากิลาร์เดกัมโปโอ (เกิด ค.ศ. 1330) เสียชีวิตในวัยเด็ก
  2. ฆัวนา อัลฟอนโซ เลดีแห่งตรัสตามารา (เกิด ค.ศ. 1330)
  3. ซันโช อัลฟอนโซ ลอร์ดแห่งเลเดสมา (เกิด ค.ศ. 1331) เสียชีวิตในวัยเด็ก
  4. พระเจ้าเอนริเกที่ 2 แห่งกัสติยา (เกิด ค.ศ. 1334)
  5. ฟาดริเก อัลฟอนโซ มาสเตอร์แห่งคณะทหารคริสต์ซานเตียโกและลอร์ดแห่งอาโร (เกิด ค.ศ. 1334)
  6. เฟร์นันโด อัลฟอนโซ ลอร์ดแห่งเดเลสมา
  7. เตโย อัลฟอนโซ ลอร์ดแห่งอากิลาร์เดกัมโปโอ (เกิด ค.ศ. 1337)
  8. ฆวน อัลฟอนโซ ลอร์ดแห่งบาดาโฆซและเฆเรซเดลาฟรอนเตรา (เกิด ค.ศ. 1341)
  9. ซันโช อัลฟอนโซ เคานต์แห่งอัลบูร์เกร์เก (เกิด ค.ศ. 1342)
  10. เปโดร อัลฟอนโซ (เกิด ค.ศ. 1345)

บุตรธิดาแต่ละคนต่างได้รับความมั่งคั่งและยศถาบรรดาศักดิ์เพื่อชดเชยให้กับการเป็นบุตรนอกสมรส พระเจ้าอัลฟอนโซยังตอบแทนคนรักที่มีบุตรมากมายให้พระองค์ด้วยการมอบที่ดินมากมายให้เธอ ทำให้เธอกลายเป็นเจ้าของที่ดินที่มีที่ดินในครอบครองมากที่สุด ครอบครัวและมิตรสหายของเลโอนอร์พลอยได้รับผลประโยชน์จากความสัมพันธ์ครั้งนี้ไปด้วย ทุกคนมีตำแหน่งดี ๆ ในราชสำนัก ความคุยโวโอ้อวดของญาติ ๆ ของเลโอนอร์ทำให้เธอมีศัตรูมากมาย ถึงขั้นทำให้สมเด็จพระสันตะปาปาเข้ามาแทรกแซงโดยผลักดันให้โปรตุเกสบุกกัสติยาในปี ค.ศ. 1340 หลังสงครามจบ พระเจ้าอัลฟอนโซถูกบีบให้ส่งตัวเลโอนอร์เข้าคอนแวนต์เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับพระสสุระที่เป็นกษัตริย์แห่งโปรตุเกส เมื่อทุกอย่างสงบลง เลโอนอร์ก็ได้กลับมาที่ราชสำนักอีกครั้ง

วันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 1350 พระเจ้าอัลฟอนโซในวัยเพียง 38 พรรษาสิ้นพระชนม์ด้วยโรคระบาด เปโดร พระโอรสตามกฎหมายของพระองค์เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งต่อโดยมีมารีอา พระมเหสีม่ายเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน การสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าอัลฟอนโซนำพาความตกต่ำมาสู่เลโอนอร์และพรรคพวกเมื่อพระราชินีมารีอาได้เข้ายึดราชสำนัก พระนางสั่งให้จองจำเลโอนอร์โดยกล่าวหาว่าเธอเป็นผู้ปลุกระดมให้เกิดการปฏิวัติต่อพระเจ้าเปโดร กษัตริย์คนใหม่ซึ่งเป็นพระโอรสของพระนาง เมื่อสัมผัสได้ว่าความตายของตนกำลังใกล้เข้ามา เลโอนอร์จึงรีบจับเอนริเก บุตรชายของตนสมรสกับฆัวนา มานูเอล บุตรสาวของขุนนางที่เฟื่องฟูที่สุดในอาณาจักร

ปี ค.ศ. 1351 เลโอนอร์ถูกประหารชีวิตในปราสาทอาหรับของอับดุรเราะห์มานที่ 3 ในตาลาเบราเดลาเรย์นา เชื่อกันว่าพระราชินีม่ายมารีอาเป็นตัวการในเรื่องนี้แม้จะไม่มีหลักฐานหลงเหลืออยู่ก็ตาม เลโอนอร์ไม่ได้ถูกประหารอย่างสมเกียรติ แต่กลับเสียชีวิตจากการถูกกริชเฉือนคอ

แม้ผู้กระทำการจะเชื่อว่าการตายของเลโอนอร์จะนำความสงบสุขมายังราชตระกูล แต่กลับไม่เป็นอย่างที่คิด การเสียชีวิตของเธอทำให้สถานการณ์แย่ยิ่งกว่าเก่า บุตรชายของเลโอนอร์กับพระเจ้าอัลฟอนโซเปิดสงครามแย่งชิงบัลลังก์กับพระเจ้าเปโดร น้องชายต่างมารดาของตนเอง หลังเลโอนอร์เสียชีวิต 18 ปี เอนริเก บุตรชายของเธอก็ปราบพระเจ้าเปโดรได้ เอนริเกสังหารน้องชายต่างมารดาของตนด้วยการจ้วงแทงพระองค์ไม่ยั้งที่สมรภูมิมอนติเอลและประกาศตนกษัตริย์ในชื่อพระเจ้าเอนริเกที่ 2 แห่งกัสติยา

อ้างอิง แก้