พระเจ้าฟาตาเฟฮี เปาลาโฮ

(เปลี่ยนทางจาก พระเจ้าเปาลาโฮ)

พระเจ้าฟาตาเฟฮี เปาลาโฮ หรือ พระเจ้าเปา (ตองงา: Fatafehi Paulaho หรือ Pau) เป็นตูอิโตงาที่ 36 แห่งจักรวรรดิตูอิโตงา พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสในพระเจ้าฟาตาเฟฮี ตูอิปูโลตูที่ 2 ตูอิโตงารัชกาลก่อนหน้ากับเลามานากีลูเป หญิงที่กำเนิดในตระกูลตูอิกาโนกูโปลู พระองค์อภิเษกสมรสกับพระนางตูโปอูโมเฮโอโฟ ซึ่งต่อมาจะสถาปนาพระองค์เองขึ้นเป็นตูอิกาโนกูโปลู แม้ว่าตามสถานะทางตำแหน่งพระองค์จะเป็นพระมหากษัตริย์สูงสุดของจักรวรรดิตูอิโตงา ทว่าในด้านสถานะทางสังคม จากการที่ลำดับชั้นสังคมตองงายึดหลักมาตาธิปไตย ทำให้พระองค์มีสถานะที่ต่ำกว่าพระมเหสี จากการที่พระนางตูโปอูโมเฮโอโฟสืบเชื้อสายมาจากตามาฮาและตูอีโตงาเฟฟีเน[1]

พระเจ้าฟาตาเฟฮี เปาลาโฮ
ตูอิโตงาแห่งจักรวรรดิตูอีโตงา
ครองราชย์ค.ศ. 1770–1784
รัชสมัย14 ปี
รัชกาลก่อนหน้าพระเจ้าฟาตาเฟฮี ตูอิปูโลตูที่ 2
รัชกาลถัดไปพระเจ้าฟาตาเฟฮี มาอูลูเปโกโตฟา
ประสูติค.ศ. 1749
สวรรคตค.ศ. 1784
ฝังพระศพ
พระมเหสีพระนางตูโปอูโมเฮโอโฟ
พระราชบุตรพระโอรส 2 พระองค์
พระธิดา 9 พระองค์
พระเจ้าฟาตาเฟฮี เปาลาโฮ
ราชวงศ์ตูอีโตงา
พระราชบิดาพระเจ้าฟาตาเฟฮี ตูอิปูโลตูที่ 2
พระราชมารดาเลามานากีลูเป

การที่พระองค์ได้ขึ้นครองราชย์เป็นตูอิโตงายังคงเป็นปริศนา เนื่องจากพระองค์ไม่ใช่พระราชโอรสองค์โตของพระบิดาหรือเป็นพระโอรสที่ประสูติจากโมเฮโอโฟที่ได้รับการยกย่อง[2] โดยพระมารดาของพระองค์ถือว่าเป็นชนชั้นขุนนางระดับล่าง[3] นักวิชาการตั้งข้อสันนิษฐานว่าการที่พระองค์ได้ราชสมบัติน่าจะมาจากการที่พระโอรสที่ประสูติแต่โมเฮโอโฟสิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์ ทำให้พระบิดาเลือกพระองค์ขึ้นเป็นรัชทายาท หรือพระขนิษฐาของพระบิดา (ตูอีโตงาเฟฟีเน) เลือกพระองค์ให้สืบราชสมบัติ[4] หรืออาจมาจากความเป็นผู้นำและความสามารถในการรบของพระองค์[5] ซึ่งในเวลาต่อมาพระองค์จะพยายามแสวงหาอำนาจทางการเมืองเพิ่มขึ้น หลังจากที่ในระยะหลังตูอิโตงามีสถานะเป็นเพียงกษัตริย์นักบวชเท่านั้น[4]

ในรัชสมัยของพระองค์ กัปตันเจมส์ คุกได้เดินทางมาเยี่ยมเยียนตองงาเป็นครั้งที่สองใน ค.ศ. 1777 ซึ่งในครั้งนี้คุกได้มีโอกาสเข้าพบพระเจ้าฟาตาเฟฮี เปาลาโฮ จากการที่เข้าพบกับพระเจ้าฟีเนา อูลูกาลาลาที่ 1 ที่ฮาอะไป ซึ่งในระยะแรกคุกเข้าใจว่าพระเจ้าฟีเนา อูลูกาลาลาที่ 1 เป็นพระมหากษัตริย์ของหมู่เกาะตองงาทั้งมวล ทว่าเมื่อพระเจ้าฟาตาเฟฮี เปาลาโฮเสด็จมายังฮาอะไป เขาก็ทราบทันทีว่าพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์สูงสุดของหมู่เกาะแห่งนี้[6] ต่อมาคุกได้ติดตามพระเจ้าฟาตาเฟฮี เปาลาโฮไปยังโตงาตาปู ศูนย์กลางอำนาจของจักรวรรดิ[6] และได้เข้าร่วมในพิธีการอีนาซี[4]

ด้วยเหตุที่พระองค์ขึ้นครองราชย์ทั้งที่ไม่ใช่รัชทายาทลำดับต้น เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงในอนาคตของพระโอรสของพระองค์ พระองค์จึงให้เจ้าชายฟูอานูนูอีอาวาร่วมเสวยพระกระยาหารร่วมกันในพิธีการอีนาซี ซึ่งเท่ากับว่าพระองค์ยกเกียรติพระโอรสเทียบเท่ากับพระองค์ ซึ่งถือได้ว่าผิดธรรมเนียมเป็นอย่างมาก[7] เนื่องจากไม่เพียงแต่ตูอิโตงายังมีพระชนม์ชีพอยู่ แต่ยังเป็นประธานหลักของงานอีกด้วย[8] ซึ่งความแปลกประหลาดในครั้งนี้ นักวิชาการสันนิษฐานว่าอาจมาจากความพยายามของพระนางตูโปอูโมเฮโอโฟ[9] หรืออาจจะมาจากพระองค์เองที่ต้องการแสดงเจตจำนงว่าได้เลือกรัชทายาทไว้แล้ว หากมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น[8]

ความปรารถนาของพระองค์ที่ต้องการให้อำนาจทางการเมืองการปกครองกลับคืนสู่ตูอิโตงา ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับตระกูลตูอิกาโนกูโปลู และนำไปสู่การสวรรคตของพระองค์ในสงครามที่วาวาอูซึ่งอาจเกิดเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1784 หรืออีกทศวรรษหลังจากนั้น[10] พระองค์สวรรคตจากการสู้รบกับวูนา ซึ่งอยู่ในฝ่ายของตูอิกาโนกูโปลูที่มีพระนางตูโปอูโมเฮโอโฟ พระมเหสีของพระองค์เองเป็นผู้นำ[11] พระศพของพระองค์ถูกหมิ่นพระเกียรติด้วยการฝังที่วาวาอูในฐานะหัวหน้าชุมชนไม่ใช่ตูอิโตงา ด้วยเหตุที่พระมารดามีชาติตระกูลต่ำ[12] กลุ่มตูอิกาโนกูโปลูเลือกพระเชษฐาต่างพระมารดาของพระองค์เป็นตูอิโตงา โดยกีดกันพระโอรสของพระองค์ อย่างไรก็ตามในท้ายที่สุดพระโอรสของพระองค์จะได้ขึ้นเป็นตูอิโตงาในเวลาต่อมา[12]

อ้างอิง แก้

อ้างอิง แก้

  1. van der Grijp, p.538
  2. Herda & Lythberg, p.290
  3. Gunson, p.39
  4. 4.0 4.1 4.2 Herda & Lythberg, p.291
  5. Collocott, p.168
  6. 6.0 6.1 Claessen, p.508
  7. Herda & Lythberg, p.291–292
  8. 8.0 8.1 Herda & Lythberg, p.292
  9. Gunson, p.39–40
  10. Claessen, p.510
  11. Herdra, p.206
  12. 12.0 12.1 Herda & Lythberg, p.293

บรรณานุกรม แก้

  • Herda, Phyllis; Lythberg, Billie (2014). "Featherwork and Divine Chieftainship in Tonga". The Journal of the Polynesian Society. 123 (3): 277–300. สืบค้นเมื่อ 2021-02-06.
  • Claessen, H. J. M. (1968). "A Survey of the History of Tonga: Some New Views". Bijdragen Tot De Taal-, Land- En Volkenkunde. 124 (4): 505–520. สืบค้นเมื่อ 2021-02-07.
  • Collocott, E. E. V. (1924). "An Experiment in Tongan History". Journal of the Polynesian Society. 33 (3(131)): 166–184. สืบค้นเมื่อ 2021-02-07.
  • Gunson, Niel (1979). "The Hau Concept of Leadership in Western Polynesia". The Journal of Pacific History. 14 (1): 28–49. สืบค้นเมื่อ 2021-02-07.
  • van der Grijp, Paul (2004). "Strategic Murders. Social Drama in Tonga's Chiefly System (Western Polynesia)". Anthropos. 99 (2): 535–550. สืบค้นเมื่อ 2021-01-21.
  • Herda, Phyllis (1987). "Gender, Rank and Power in 18th Century Tonga: The Case of Tupoumoheofo". The Journal of Pacific History. 22 (4): 195–208. สืบค้นเมื่อ 2021-01-21.