พระนางตูโปอูโมเฮโอโฟ

พระนางตูโปอูโมเฮโอโฟ (ตองงา: Tupoumoheofo) เป็นตูอิกาโนกูโปลูพระองค์ที่ 12 แห่งจักรวรรดิตูอีโตงา และเป็นสตรีเพียงผู้เดียวที่เคยดำรงพระอิสริยยศนี้ พระองค์เป็นโมเฮโอโฟในพระเจ้าฟาตาเฟฮี เปาลาโฮซึ่งเป็นตูอิโตงา ทว่าพระองค์มีลำดับทางสังคมที่สูงกว่าพระสวามีอันเนื่องมาจากการสืบเชื้อสายจากพระมารดา หลังจากที่ตำแหน่งตูอิกาโนกูโปลูว่างลง พระองค์ใช้สถานะของพระองค์ตั้งพระองค์เองให้เป็นผู้สืบทอด และปกครองโตงาตาปูเป็นระยะเวลาที่น้อยกว่าหนึ่งปี ซึ่งอาจเริ่มประมาณ ค.ศ. 1792 ก่อนที่จะถูกถอดถอนโดยตูกูอาโฮที่เป็นพระญาติที่ห่างไกลพระองค์หนึ่ง พระนางตูโปอูโมเฮโอโฟได้เกษียณพระองค์เองจากการเมืองที่วาวาอู (ตอนเหนือของหมู่เกาะตองงา) โดยอยู่ภายใต้การคุ้มครองของตระกูลอูลูกาลาลา

พระนางตูโปอูโมเฮโอโฟ
ตูอิกาโนกูโปลูแห่งจักรวรรดิตูอีโตงา
โมเฮโอโฟในตูอิโตงา
ครองราชย์1791/92–1792/93
รัชกาลก่อนหน้าพระเจ้ามูลีกีฮาอะเมอา
รัชกาลถัดไปพระเจ้ามูมูอี
พระสวามีพระเจ้าฟาตาเฟฮี เปาลาโฮ
พระราชบุตรพระโอรส 1 พระองค์ พระธิดา 3 พระองค์
พระนางตูโปอูโมเฮโอโฟ
ราชวงศ์ตูอิกาโนกูโปลู
พระราชบิดาพระเจ้าตูโปอูลาฮี
พระราชมารดาเจ้าหญิงฟูโอนูกู

ครอบครัวและอันดับทางสังคม แก้

ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 พระนางตูโปอูโมเฮโอโฟอาจมีอันดับทางสังคมที่สูงสุดในตองงาขณะนั้นอันเนื่องมาจากเชื้อสายทางฟากพระมารดา[1] พระมารดาของพระมารดาของพระองค์ (พระอัยยิกา) มีสถานะเป็นตามาฮา ซึ่งเป็นพระธิดาของตูอีโตงาเฟฟีเน (พระธิดาองค์ใหญ่ของตูอีโตงา) และนั่นทำให้พระองค์มีสถานะสูงสุดในตองงา[1] นอกจากนี้พระองค็์ยังมีสถานะที่สูงผ่านทางสายพระบิดาด้วยการเป็นพระธิดาในพระเจ้าตูโปอูลาฮี ตูอิกาโนกูโปลูพระองค์ที่ 7 นอกจากนี้พระเจ้าตูอิฮาลาฟาไต ตูอิกาโนกูโปลูพระองค์ที่ 9 ยังเป็นพระพี่น้องร่วมพระบิดามารดาเดียวกันอีกด้วย[2]

ในปลายคริสต์ทศวรรษ 1760 พระนางอภิเษกสมรสกับพระเจ้าฟาตาเฟฮี เปาลาโฮ ตูอิโตงาพระองค์ที่ 36 ในฐานะพระมเหสีเอก (โมเฮโอโฟ) ซึงพระองค์อาจมีส่วนช่วยในการลอบปลงพระชนม์พระสวามีใน ค.ศ. 1791[3]

พระนางมีพระธิดาจำนวนมากกับพระสวามี[4] และคาดกันว่าเจ้าชายฟูอานูนูอีอาวา ซึ่งเป็นตูอิโตงาพระองค์ที่ 38 ในอนาคต เป็นพระโอรสของพระองค์ และการที่จะทำให้พระโอสมีพระอิสริยยศในอนาคตเป็นเป้าหมายหลักของพระนาง อย่างไรก็ตามลำดับวงศ์ตระกูลที่รวบรวมโดยนีล กุนสันชี้ว่าเจ้าชายฟูอานูนูอีอาวาไม่ใช่พระโอรสของพระนางตูโปอูโมเฮโอโฟ แต่เป็นพระโอรสของพระเจ้าเปาลาโฮกับพระชายารองอย่างโฟโกโนโฟ ดังนั้นแล้วพระนางจะมีเหตุผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่จะผลักดันเจ้าชายให้มีพระราชอำนาจ[4]

การสวรรคตของพระสวามี แก้

แม้จะมีความเห็นต่างเกี่ยวกับเวลาที่พระเจ้าเปาลาโฮถูกปลงพระชนม์ว่าอยู่ใน ค.ศ. 1784 หรืออีกทศวรรษจากนั้น[5] แต่โดยทั่วไปคาดกันว่าพระองค์น่าจะสวรรคตใน ค.ศ. 1791 หรือ 1792 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่พระนางตูโปอูโมเฮโอโฟจะอ้างสิทธิ์ในพระอิสริยยศตูอิกาโนกูโปลู[6] จากการสัมภาษณ์โดยนักเดินเรือชาวสเปนในช่วงเวลาหนึ่งปีหลังจากนั้น ได้ข้อมูลว่าพระนางทรงเป็นผู้นำในพันธมิตรผู้สืบสกุลสายตูอิกาโนกูโปลูโดย "ออกเดินทางจากตองงาด้วยเรือแคนูขนาดใหญ่ 20 ลำ จอดเทียบท่าที่ท่าเรืออันนาโมกา [โนมูกา] และฮัปไป [ฮาอะไป] พวกเขามุ่งหน้าไปวาเวา [วาวาอู] ที่ซึ่งพระเจ้าเปาลาโฮในฐานะผู้นำผู้คนของพระองค์คอยอยู่ ทั้งสองฝ่ายสู้รบกันอันนำไปสู่การสวรรคตของผู้นั้นด้วยน้ำมือของวูนา หลังจากที่ผู้นำทั้งสองต่างต่อสู้ปะมือกัน"[7] ดังนั้นนี่จึงเป็นการแสดงว่าพระนางเป็นพันธมิตรกับมูมูอี ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นคู่ขัดแย้งกันเอง ทั้งสองต่างเป็นพระญาติในสายตูอิกาโนกูโปลู ผลลัพธ์ของการสู้รบครั้งนี้นำไปสู่การเสื่อมทางอำนาจของตูอีโตงาและยกระดับตูอิกาโนกูโปลูให้สูงขึ้น

การขึ้นเป็นตูอิกาโนกูโปลู แก้

ช่วงประมาณ ค.ศ. 1791 พระเจ้ามูลีกีฮาอะเมอา ตูอิกาโนกูโปลูที่ 11 สละตำแหน่งอย่างรวดเร็วหลังจากที่ได้ตำแหน่งไม่นาน[8] มีการคาดเดาสาเหตุอยู่หลายประการ เช่น พระองค์สูญเสียอิทธิพล[9] หรือพระองค์เข้ารับตำแหน่งใหม่ หรือมูมูอีและตูกูอาโฮบีบบังคับพระองค์ หรือมาจากพระนางตูโปอูโมเฮโอโฟกระตุ้นการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าผู้ดำรงตำแหน่งกาโนกูโปลูพระองค์ถัดไปจะมาจากการเลือกอย่างเป็นทางการโดยฮาอะงาตา[10] ซึ่งเป็นผู้พิทักษ์บรรพบุรุษของสายกาโนกูโปลูในฮีฮีโฟ โตงาตาปู ทว่าการตัดสินใจที่แท้จริงมาจากพระนางเนื่องจากสถานะทางสังคมที่สูง

มูมูอีซึ่งเป็นหัวหน้าชุมชนที่เข้มแข็งคนหนึ่งของโตงาตาปูได้รับการคาดหมายว่าจะได้รับตำแหน่งตูอิกาโนกูโปลู เขามีบรรพบุรุษร่วมกันกับพระนางตูโปอูโมเฮโอโฟผ่านทางพระเจ้ามาอะฟูโออูตูอิโตงา ตูอิกาโนกูโปลูพระองค์ที่ 6 แต่มาจากตระกูลรอง[11] ตูกูอาโฮผู้ซึ่งมีความทะเยอทะยานทางการเมือง (โอรสของมูมูอี) และดำรงตำแหน่งผู้ว่าการเออัว สนับสนุนการอ้างสิทธิ์ของบิดาของตนอย่างเข้มแข็ง โดยคาดหวังว่าจะเป็นการประกันอำนาจไว้ในตระกูลของตน[12]

ทว่าพระนางตูโปอูโมเฮโอโฟกลับทำสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดด้วยการประกาศพระนามพระองค์เองเป็นกาโนกูโปลู "พระองค์เสด็จสู่ฮีฮีโฟ สวมเสื่อตาโอวาลาที่เอว และนั่งใต้ต้นโกกา ซึ่งสถานที่ที่ใช้ในการสถาปนาตูอิกาโนกูโปลู จากนั้นพระองค์กลับมาและประกาศว่าเป็นตูอิกาโนกูโปลู"[13]

นักประวัติศาสตร์ยังมีข้อถกเถียงถึงความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่ง มิชชันนารีชาวยุโรปในตองงาช่วงแรกให้ภาพพระองค์ว่า "บ่อนทำลาย" "ทรราชย์" "น่ารังเกียจถึงที่สุด"[14] และมีนักมานุษยวิทยากล่าวว่าพระองค์ "ไม่ชอบธรรม"[15] อย่างไรก็ตามนักวิชาการในระยะหลังชี้ว่าพฤติกรรมของพระองค์ไม่ได้ถึงกับผิดจากแบบอย่างในประวัติศาสตร์และสอดคล้องกับตำแหน่งและสถานะแต่เดิมของพระองค์[16] พระนางได้รับการสนับสนุนโดยทันทีจากหัวหน้าชุมชนจำนวนมาก[17]

สงครามกับตูกูอาโฮ แก้

ตูกูอาโฮโกรธที่พระนางตูโปอูโมเฮโอโฟขึ้นเป็นตูอิกาโนกูโปลูแทนที่จะมอบตำแหน่งให้กับมูมูอีบิดาชองตน ตูกูอาโฮประนามและยึดที่ดินบางส่วนของพระนาง[18] พระนางปฏิเสธที่จะลงจากอำนาจ และเตือนสติตูกูอาโฮว่าสถานะของพระองค์นั้นสูงกว่า[19] พระนางข่มขู่ที่จะเอาชีวิตหากเขายังไม่เชื่อฟัง ใน ค.ศ. 1793 ตูกูอาโฮนำกำลังเขาบุกรุกโตงาตาปูและเอาชนะพระนางได้ อย่างไรก็ตามหัวหน้าชุมชนในโตงาตาปูต่างรับประกันความปลอดภัยให้กับพระนางเพราะ "พระนางเป็นพระธิดาของตามาฮา"[20] และอนุญาตให้พระนางลี้ภัยไปที่วาวาอู

ต่อมาพระนางตูโปอูโมเฮโอโฟได้นำกองทัพเข้าโจมตีโตงาตาปู แต่ไม่ประสบความสำเร็จ "ในครั้งนี้พระองค์ถูกไล่ตามถึงฮาอะไป ที่กองทัพของพระนางต่างติดอยู่บนเกาะฮาอะโนและถูกสังหาร กระดูกเหล่านั้นยังคงมองเห็นได้เป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะผ่านมากว่าครึ่งศตวรรษ"[21] ในฐานะผู้ชนะ ตูกูอาโฮแต่งตั้งให้บิดาขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นตูอิกาโนกูโปลู[22]

จากนั้นเป็นต้นมา พระนางตูโปอูโมเฮโอโฟดำรงพระชนม์ชีพในวาวาอูภายใต้การคุ้มครองของตระกูลอูลูกาลาลา ซึ่งปฏิปักษ์กับตูกูอาโฮและมูมูอี ซึ่งในเวลาต่อมาฟีเนา อูลูกาลาลาที่ 2 และตูโปอูนีอัวผู้เป็ญาติได้ร่วมกันสังหารตูกูอาโฮใน ค.ศ. 1799[23] วิลเลียม มารีเนอร์ กะลาสีชาวอังกฤษที่อยู่กับฟีเนา อูลูกาลาลาระหว่าง ค.ศ. 1806–10 ได้เขียนว่าการสังหารในครั้งนี้เกิดขึ้นจากการรบเร้าของพระนางตูโปอูโมเฮโอโฟเพื่อล้างแค้นจากความพ่ายแพ้ก่อนหน้า

สิ่งสืบเนื่องและแหล่งข้อมูล แก้

หลักฐานชั้นต้นส่วนมากเกี่ยวกับพระนางตูโปอูโมเฮโอโฟมาจากชาวยุโรปที่มักมีการบันทึก คำอธิบาย เส้นเวลาที่ขัดแย้งกัน รวมไปถึงอคติ การขาดความสอดคล้องต่าง ๆ ทำให้เรื่องของพระนางเป็นที่ถกเถียงกัน ผู้ที่เขียนบันทึกทางประวัติศาสตร์หลายคนต่างก็เป็นแขกของศัตรูพระนาง ซึ่งท้ายที่สุดได้อำนาจและชนะพระนางในที่สุด ซึ่งผู้สืบสกุลของบุคคลเหล่านั้นคือราชวงศ์ปัจจุบันของตองงา แหล่งข้อมูลเหล่านี้มีแนวโน้มให้เห็นภาพพระนางในทางลบในฐานะผู้ชิงอำนาจที่เลวมาก พระนางยังถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจเพื่อให้เจ้าชายฟูอานูนูอีวาวา (คาดว่าน่าจะเป็นพระโอรสของพระองค์) ขึ้นเป็นตูอิโตงา อย่างไรก็ตามงานวิชาการใหม่อธิบายว่าพฤติกรรมของพระนางไม่ได้ถึงกับผิดจากแบบอย่างในประวัติศาสตร์และสอดคล้องกับลำดับทางสังคมของพระองค์ นอกจากนี้ยังมีบางหลักฐานที่ชี้ว่าเจ้าชายฟูอานูนูอีวาวาไม่ใช่พระโอรสที่แท้จริงของพระองค์

นักวิชาการต่างเห็นด้วยว่าในช่วงใกล้คริสต์ศตวรรษที่ 18 ระเบียบเดิมในการแบ่งความรับผิดชอบระหว่างตูอิโตงา ตูอิฮาอะตากาลาอัวและตูอิกาโนกูโปลูถูกยกเลิก และราชวงศ์ตูอิกาโนกูโปลู (ที่ควบคุมโดยราชสกุลตูโปอู) มีความสำคัญเหนือกว่าราชวงศ์อื่น การกระทำของพระนางและผู้สืบต่อในภายหลังสามารถเข้าใจได้ว่าเป็นความพยายามในการรวบรวมอำนาจในช่วงเวลาแห่งความสับสนวุ่นวายนี้

อ้างอิง แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 van der Grijp, p.538
  2. van der Grijp, p.539
  3. Claessen, pp. 510-511
  4. 4.0 4.1 Herda, p.202
  5. Claessen, p.510
  6. Claessen p.510
  7. Hedra, p.206
  8. Hedra, p.203
  9. Hedra, p.203
  10. van der Grijp, p.153
  11. Hedra, p.204
  12. Hedra, p.205
  13. Hedra, p.204
  14. Hedra, p.195
  15. van der Grijp, p.542
  16. van der Grijp, p.542
  17. Hedra, p.204
  18. Claessen, p.511
  19. van der Grijp, p.541
  20. van der Grijp
  21. Hedra, p.151
  22. I. C. Campbell, p.151
  23. van der Grijp, p.535

บรรณานุกรม แก้

  • van der Grijp, Paul (2004). "Strategic Murders. Social Drama in Tonga's Chiefly System (Western Polynesia)". Anthropos. 99 (2): 535–550. สืบค้นเมื่อ 2021-01-21.
  • Claessen, H. J. M. (1968). "A Survey of the History of Tonga: Some New Views". Bijdragen Tot De Taal-, Land- En Volkenkunde. 124 (4): 505–520. สืบค้นเมื่อ 2021-01-21.
  • Herda, Phyllis (1987). "Gender, Rank and Power in 18th Century Tonga: The Case of Tupoumoheofo". The Journal of Pacific History. 22 (4): 195–208. สืบค้นเมื่อ 2021-01-21.
  • Campbell, I. C. (1989). "The Demise of the Tu'i Kanokupolu Tonga 1799-1827". The Journal of Pacific History. 24 (2): 150–163. สืบค้นเมื่อ 2021-01-21.