พระปิณโฑลภารทวาชเถระ

(เปลี่ยนทางจาก พระปิณโฑลภารทวาช)

พระปิณโฑลภารทวาชเถระ เป็นพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าในสมัยพุทธกาล ชาวเมืองโกสัมพีต่อมาอาศัยในกรุงราชคฤห์ นับเนื่องในพระอสีติมหาสาวก 80 องค์สำคัญของพระพุทธศาสนา ท่านได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าท่านเป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้าน ผู้บันลือสีหนาท

พระปิณโฑลภารทวาชเถระ
รูปไม้แกะสลักของพระปิณโฑลภารทวาชเถระ (ญี่ปุ่นเรียกว่าว่า "บินซุรุ"), วัดมิซุ-เทรุจิ, โอซาก้า, ญี่ปุ่น
รูปไม้แกะสลักของพระปิณโฑลภารทวาชเถระ (ญี่ปุ่นเรียกว่าว่า "บินซุรุ"), วัดมิซุ-เทรุจิ, โอซาก้า, ญี่ปุ่น
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อเดิมภารทวาชมาณพ, ปิณโฑลภารทวาชพราหมณ์
สถานที่เกิดเมืองโกสัมพี แคว้นวังสะ
วิธีบวชเอหิภิกขุอุปสัมปทา
เอตทัคคะผู้บันลือสิงหนาท
ฐานะเดิม
ชาวเมืองโกสัมพี
บิดาภารทวาชโคตร
วรรณะเดิมพราหมณ์ (ตระกูลภารทวาชโคตร)
สถานที่รำลึก
สถานที่วัดเวฬุวันมหาวิหาร
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

พระปิณโฑลภารทวาชเถระ เดิมเป็นพราหมณ์ในพระนครโกสัมพี แคว้นวังสะ เกิดในตระกูลพราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้าอุเทน ชื่อว่า ภารทวาชโคตร ท่านมีชื่อตามโคตรของท่านว่า ภารทวาชมาณพ เมื่อเจริญวัยได้ศึกษาเล่าเรียนจนจบไตรเภท ได้ตั้งตนเป็นอาจารย์บอกศิลปวิทยาแก่มาณพทั้ง 500 คน

ภารทวาชมาณพมีนิสัยโลภในอาหารเป็นเนืองนิตย์ ตะกละกินจุ เที่ยวแสวงหากินกับบรรดาศิษย์ของตนไม่เลือกที่ ทำให้เหล่าบรรดาลูกศิษย์เกิดความเบื่อหน่ายในพฤติกรรมนิสัยความตะกละของอาจารย์ที่ทำให้พวกตนได้กินอาหารน้อยจึงพากันละทิ้งสำนัก ทำให้ภารทวาชมาณพกลายเป็นคนหมดสิ้นเนื้อประดาตัวไม่รู้จะไปขออาหารจากที่ไหน จึงเดินทางไปยังกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ เมื่อไปถึงเมืองนั้นแล้ว ได้เห็นว่าพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ ได้ลาภสักการะเป็นอันมาก ภัตตาหารก็อุดมสมบูรณ์ จึงบวชในพระศาสนาด้วยความประสงค์จะได้อาหาร และก็ยังเป็นผู้ไม่รู้ประมาณในการบริโภคอยู่

เมื่อท่านบวชแล้ว ท่านถือเอาบาตรขนาดใหญ่เที่ยวบิณฑบาตไป ในการรับภัตท่านก็รับภัตเอาจนเต็ม ท่านดื่มข้าวยาคูเต็มภาชนะ เคี้ยวกินขนมเต็มภาชนะ บริโภคข้าวเต็มภาชนะ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลความที่ท่านไม่ประมาณในการบริโภค ฉันอาหารมากเกินพอดีต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่พระองค์ยังไม่ทรงอนุญาตให้ถลกบาตรแก่ท่าน เพื่อมิให้ท่านสามารถรับภัตได้ครั้งละมาก ๆ เมื่อท่านฉันภัตเสร็จ ล้างบาตรแล้ว เมื่อจะวาง ท่านก็คว่ำบาตรวางลงแล้วดันครูดส่ง ๆ ไปไว้ใต้เตียง ในตอนที่จะใช้บาตรนั้น ก็จะถือเอาก็ครูดลากเอาบาตรนั้นออกมา บาตรนั้นเมื่อเวลานานเข้า ขอบปากบาตรก็กร่อนไปเรื่อย ๆ ด้วยการถูกครูด จนกระทั่งเหลือเป็นเหมือนแผ่นกระเบื้อง รับภัตได้เพียงข้าวสุกทะนานเดียวเท่านั้น ภิกษุทั้งหลายเห็นดังนั้นจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้ถลกบาตรแก่ท่านอีก ดังนั้นท่านจึงได้ชื่อ ปิณโฑละ เพราะบวชเพื่อต้องการภัต แต่โดยโคตร ชื่อว่า ภารทวาชะ เหตุนั้น รวมชื่อทั้งสองเข้าด้วยกันจึงเรียกว่า ปิณโฑลภารทวาชะดังนี้

ต่อมาท่านได้ฟังธรรมจากพระผู้มีพระภาคเจ้า พระพุทธองค์ทรงอบรมท่านให้ตั้งอยู่ในความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภคด้วยอุบายวิธี แต่นั้นท่านจึงเริ่มบำเพ็ญความเพียร ตั้งอารมณ์วิปัสสนา ไม่นานนักก็บรรลุพระอรหัต ได้อภิญญา ๖ ในวันบรรลุพระอรหัต ท่านถือเอาผ้ารองนั่งออกจากวิหารนี้ไปวิหารโน้น ออกจากบริเวณ นี้ไปบริเวณโน้น เที่ยวบันลือสีหนาทว่า ท่านผู้ใด มีความสงสัย ในมรรคหรือผล ท่านผู้นั้นจงถามเราดังนี้

หลังจากที่ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ บรรลุพระอรหัตแล้ว ท่านก็ได้สมาทานธุดงค์ เป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถือทรงไตรจีวรเป็นวัตร มีความปรารถนาน้อย สันโดษ ชอบสงัดไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ปรารภความเพียร ผู้มีวาทะกำจัด หมั่นประกอบในอธิจิต พระผู้มีพระภาคทรงเห็นท่านพระปิณโฑลภารัทวาชะ ได้ถือปฏิบัติเช่นนั้นแล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

การไม่ว่าร้ายกัน ๑ การไม่เบียดเบียนกัน ๑ การสำรวมในพระปาติโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในภัต ๑ ที่นอนที่นั่งอันสงัด ๑ การประกอบความเพียรในอธิจิต ๑ นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ฯ

แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์เป็นเหตุให้บัญญัติสิกขาบท แก้

ในบทบัญญัติสิกขาบทห้ามพระภิกษุแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ ถ้าฝ่าฝืนจะต้องอาบัติทุกกฎ โดยมีพระปิณโฑลภารทวาชเป็นอาทิกัมมิกะเป็นผุ้ก่อเหตุให้บัญญัติสิกขาบท คือเรื่องมันมีอยู่ว่า

สมัยที่พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่วัดเวฬุวันมหาวิหารที่กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ มีเศรษฐีผู้หนึ่งได้รับปุ่มไม้แก่นจันทร์ที่มีค่ามากด้วยความบังเอิญ จึงมีความคิดที่อยากจะรู้จักกับพระอรหันต์เพราะมีพวกลัทธิต่างๆมากมายได้โอ้อวดกันว่าตนเป็นพระอรหันต์ ฉะนั้นเพื่อต้องการให้รู้ชัดว่าใครเป็นพระอรหันต์กันแน่ จึงนำปุ่มไม้แก่นจันทร์นี้มากลึงเป็นบาตรแล้วนำไปแขวนไว้ที่ปลายไผ่ที่สูง 15 วา และประกาศให้ทั่วเมืองว่า "ผู้ใดที่สามารถเหาะนำบาตรแก่นไม้จันทร์ลงมาได้ ผู้นั้นก็ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ เราและเหล่าครอบครัวจะยึดผู้นั้นเป็นสรณะที่พึ่งตลอดชีวิต"

ต่อมาบรรดาเจ้าลัทธิหรือเดียรถีย์ที่ชื่อเสียงทั้ง 6 คน ได้แก่ ปูรณกัสสป มักขลิโคสาล อชิตเกสกัมพล สัญชัยเวลัฏฐบุตร ปกุทธกัจจายะ และ นิครนถ์นาฏบุตรต่างก็อยากได้บาตรแก่นไม้จันทร์ จึงพากันแสดงตัวและมาขอบาตรแก่นไม้จันทร์กับเศรษฐี แต่ก็ไม่ได้แสดงอิทธิฤทธิ์เหาะอะไรเลย เศรษฐีก็ไม่ยอมให้และยื่นคำขาดว่าจะต้องเหาะนำบาตรแก่นไม้จันทร์ลงมาให้ได้จึงจะเอาไปได้ เดียรถีย์ทั้หกต่างได้พยายามเกลี้ยกล่อมแล้วก็ไม่เป็นผล แม้จะใช่อุบายต่างๆเช่นทำเป็นแสร้งว่าตัวเองเหาะได้แต่ลูกศิษย์ห้ามไว้โดยทั้งๆที่รู้ว่าตัวเองเหาะไม่ได้ แต่เศรษฐีก็ไม่ยอมให้เช่นกัน

เวลาผ่านไป 7 วัน ยังไม่มีใครสามารถเหาะนำบาตรแก่นไม้จันทร์ลงมาได้ ทำให้ชาวเมืองต่างวิพากษ์วิจารณ์ว่า ในโลกนี้คงไม่มีพระอรหันต์ละมั้ง ในขณะเดียวกัน พระมหาโมคคัลลานเถระกับพระปิณโฑลภารทวาช กำลังออกบิณฑบาตรอยู่ได้ฟังชาวเมืองที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่มีพระอรหันต์ในโลก ทำให้พระมหาโมคคัลลานะคิดว่าชาวเมืองกำลังดูหมิ่นพระพุทธศาสนา จึงต้องการให้ชาวเมืองได้รับรู้ว่า ในโลกนี้มีพระอรหันต์จริง ท่านก็คิดว่าตนเองนั้นมีอิทธิฤทธิ์มากที่จะแสดงได้แต่ท่านก็มีใจกว้างจึงยกให้พระปิณโฑลภารทวาชเป็นผู้แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์

พระปิณโฑลภารทวาชรับคำของพระโมคคัลลานแล้วเข้าจตุตถฌานสมาบัติอันเป็นฐานแห่งอภิญญา กระทำอิทธิฤทธิ์เหาะขึ้นไปบนอากาศ พร้อมทั้งแผ่นศิลาที่ยืนอยู่นั้น เหาะเวียนรอบกรุงราชคฤห์แล้วเหาะลอยเลื่อนมาอยู่ยังที่แขวนบาตรแก่นไม้จันทร์เพื่อนำบาตรลงและเหาะตรงหลังคาเรือนของเศรษฐี ท่านเศรษฐีเห็นดังนั้นแล้วก็ดีใจที่ได้เห็นพระอรหันต์ที่แท้จริง และตกใจกลัวว่าก้อนหินจะล่วงลงมาทับบ้านของตน จึงกราบหมอบลงจนอกติดพื้นดินแล้ว กล่าวนิมนต์ให้ลงมา พระเถระจึงสลัดก้อนหินไปประดิษฐานในที่เดิมแล้วเหาะลงมาจากอากาศ เมื่อพระเถระลงมาแล้ว ท่านเศรษฐีจึงนิมนต์ให้นั่ง ณ อาสนะที่จัดถวาย ให้คนนำบาตรแก่นไม้จันทร์ที่ลงมาจากที่แขวนไว้บรรจุอาหารอันประณีตจนเต็มแล้วถวายพระเถระรับแล้วก็กลับสู่วิหาร ส่วนชาวเมืองเมื่อได้เห็นอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ของพระปิณโฑลภารทวาชจึงพากันชุมนุมติดตามพระเถระที่วิหารเพื่อหวังให้ท่านแสดงอิทธิฤทธิ์ได้ชมอีก จึงเกิดเสียงอื้ออึงจนไปถึงพระกรรณของพระพุทธองค์ พระองค์ทรงตรัสถามกับพระอานนท์ ผู้เป็นพระพุทธอุปัฏฐากว่า เสียงอะไร เมื่อทรงทราบเรื่องราวแล้ว จึงทรงตรัสเรียกประชุมสงฆ์ และเรียกพระปิณโฑลภารทวาชมาเข้าเฝ้า ทรงไต่สวนกับพระเถระ พระเถระก็ยอมรับทุกประการ พระพุทธองค์ก็ทรงติเตียนพระปิณโฑลภารทวาช และบัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ หากภิกษุฝ่าฝืนต้องอาบัติทุกกฎ นอกจากนั้นทรงตรัสให้นำบาตรแก่นไม้จันทร์ไปทุบให้เป็นผงเพื่อทำยาหยอดตา และบัญญัติสิกขาบทห้ามใช้บาตรไม้ หากภิกษุใช้ ต้องอาบัติทุกกฎ

เอตทัคคะ แก้

หลังจากที่พระปิณโฑลภารทวาชะบรรลุพระอรหัตแล้ว ท่านก็ได้สมาทานธุดงค์ เป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถือทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถือทรงไตรจีวรเป็นวัตร มีความปรารถนาน้อย สันโดษ ชอบสงัดไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ปรารภความเพียร ผู้มีวาทะกำจัด หมั่นประกอบในอธิจิต ท่านเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอินทรีย์ทั้ง 3 คือ สติ, สมาธิ และปัญญา เวลาท่านไปที่ไหนแม้จะอยู่ต่อหน้าพระพักตร์พระพุทธเจ้าก็ตาม ท่านก็ชอบเปล่งสีหนาทอยู่เสมอ ๆ ว่า "ใครมีความสงสัยในมรรคผล ผู้นั้นจงถามเราเถิด" ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นเอตทัคคะผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้าน ผู้บันลือสีหนาท

บั้นปลายชีวิต แก้

ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาไม่ระบุว่าท่านดับขันธปรินิพพานที่ใด แต่ท่านคงดำรงขันธ์อยู่พอสมควรแก่กาลจึงดับขันธปรินิพพาน

อ้างอิง แก้

  1. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. (2525). ธรรมวิภาคปริเฉทที่ 2. พิมพ์ครั้งที่ 23. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการแผนกตำรา มหามกุฏราชวิทยาลัย.

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  1. เว็บไซต์ 84000
  2. เว็บไชต ธรรมะ เกตเวย์ เก็บถาวร 2009-04-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. เว็บไซต์ประตูสู่ธรรม[ลิงก์เสีย]