พระญาณกิตติเถระ

พระญาณกิตติเถระ เป็นพระสงฆ์นักปราชญ์ชาวเชียงใหม่ มีอายุอยู่ราว พ.ศ. 2035–2043 ในรัชกาลพระเจ้าติโลกราชและพญายอดเชียงราย[1] จ้าพรรษาอยู่วัดปนสาราม (สวนต้นขนุน) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของนครเชียงใหม่

ท่านเคยไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่ประเทศศรีลังกาในรัชกาลกษัตริย์กรุงลังกาปรักกมพาหุที่ 6 และพระเจ้าภูวเนกพาหุที่ 6 (พ.ศ. 1955-2014) เป็นผู้แตกฉานในพระไตรปิฎก และยังเป็นพระอาจารย์ของพระเจ้าติโลกราช งานที่ท่านรจนาหลังจากสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 พ.ศ. 2020 ล้วนแต่เป็นภาษาบาลีทั้งสิ้น[2]

ผลงาน แก้

ท่านนิพนธ์คัมภีร์อักษรธรรมล้านนาภาษาบาลี 12 เรื่อง ดังนี้[3]

  • สมันตปาสาทิกา อัตถโยชนา คัมภีร์อธิบายศัพท์และความหมายเรื่อง สมันตปาสาทิกา
  • ภิกขุปาฏิโมกขคัณฐิทีปนี แต่งขึ้นใน พ.ศ. 2035 อธิบายความที่เป็นประเด็นปัญหา เกี่ยวกับวินัยสงฆ์ 227 ข้อ
  • สีมาสังกรวินัย แต่งราว พ.ศ. 2039 อธิบายเกี่ยวกับสีมาคาบเกี่ยว
  • อัฏฐสาลินี อัตถโยชนา อรรถกถาขยายความพระอภิธรรม หมวดธัมมสังคณี ซึ่งแต่งโดยพระพุทธโฆษาจารย์
  • สัมโมหวิโนทนี อัตถโยชนา อธิบายความในหมวดวิภังค์
  • ธาตุกถา อัตถโยชนา อธิบายความในหมวดธาตุ
  • ปุคคลบัญญัติ อัตถโยชนา อธิบายความในปุคคลบัญญัติ
  • กถาวัตถุ อัตถโยชนา อธิบายความในหมวดกถาวัตถุ
  • ยมก อัตถโยชนา อธิบายความในหมวดยมก
  • ปัฏฐาน อัตถโยชนา อธิบายความในหมวดมหาปัฏฐาน
  • อภิธัมมัตถวิภาวินี อัตถโยชนา เป็นงานชั้นฎีกาอธิบายความในพระอภิธัมมัตถวิภาวินีว่าด้วย จิต เจตสิก รูป นิพพาน
  • มูลกัจจายน อัตถโยชนา แต่งราวปี พ.ศ. 2046–2037 อธิบายตำราไวยากรณ์บาลีชื่อ กัจจายนสุตตะ ซึ่งแต่งโดยพระลังกา และใช้เป็นหลักสูตรบาลีไวยากรณ์มาจนถึงทุกวันนี้

อ้างอิง แก้

  1. "คัมภีร์ภิกขุปาติโมกข์คัณฐีทีปนี : อ่าน แปล และศึกษาวิเคราะห์". กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์.
  2. พระมหาโกมล กมโล, พระมหาชิต ฐานชิโต. "บทบาลีในคัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินี ปัญจิกา อัตถโยชนาตามสูตรคัมภีร์สัททาวิเสส : ศึกษาเชิงวิเคราะห์".
  3. เทพประวิณ จันทร์แรง. "ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาในล้านนา" (PDF). p. 259.