พระชำนาญคุรุวิทย์ (แย้ม ภมรมนตรี)

พันตรี พระชำนาญคุรุวิทย์ (แย้ม ภมรมนตรี) (5 สิงหาคม 2407 – 23 สิงหาคม 2473)[1] เป็นขุนนางชาวไทย เป็นผู้ขอรับพระราชทานนามสกุล ภมรมนตรี ซึ่งเป็นนามสกุลพระราชทานลำดับที่ 2659[2] อดีตผู้ช่วยสถานทูตสยาม ประจำกรุงเบอร์ลิน เป็นบิดาของพลโทประยูร ภมรมนตรี หนึ่งในแกนนำก่อตั้งคณะราษฎร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และอดีตรัฐมนตรี และยังเป็นปู่ของ แซม-ยุรนันท์ ภมรมนตรี นักร้อง นักแสดง พิธีกร และนักการเมืองชื่อดัง และยังมีศักดิ์เป็นปู่ทวด ของ แมมโบ้-ยุรการ ภมรมนตรี และ มายด์-ยุรริษา ภมร มนตรี

ประวัติ

แก้

พันตรี พระชำนาญคุรุวิทย์ เกิดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2407 ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นบุตรชายของ พระยามณเฑียรบาล (บัว ภมรมนตรี) (แต่ในราชกิจจานุเบกษาระบุว่าเป็นบุตรของจมื่นมหาสนิท (อ่ำ ภมรมนตรี) พี่ชายของพระยามณเฑียรบาล) เป็นหลานปู่ของพระยาราชมนตรี (ภู่ ภมรมนตรี) ข้าหลวงเดิมและเสนาบดีคลังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และหลานป้าของคุณพุ่ม กวีหญิงคนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 3–5 ด้านชีวิตครอบครัวสมรสกับ แพทย์หญิงแอนเนรี ไฟร์ ภมรมนตรี[3]

พันตรี พระชำนาญคุรุวิทย์ ถึงแก่กรรมด้วยโรคไตพิการ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2473 สิริอายุได้ 66 ปี

รับราชการ

แก้

พระชำนาญคุรุวิทย์เริ่มต้นรับราชการในปี 2427 ในยศจ่านายสิบ กรมทหารปืนใหญ่รักษาพระบรมมหาราชวัง ในปี 2428 ได้เป็นว่าที่นายร้อยตรี และได้เป็นว่าที่นายร้อยโทในปีเดียวกัน ต่อมาได้รับพระราชทานสัญญาบัตรทหารเลื่อนยศเป็น นายร้อยเอก เมื่อปี 2430 จากนั้นในวันที่ 10 กันยายน 2434 ได้เป็นทหารรักษาพระองค์ตามเสด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ซึ่งเสด็จขึ้นไปเป็นข้าหลวงประจำเมืองหนองคาย[4] และได้เป็นผู้บังคับการกองทหารมณฑลอุดร

ในปีถัดมาคือในวันที่ 10 ธันวาคม 2435 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ส่งสัญญาบัตรยศทหารชั้น นายพันตรี ขึ้นไปพระราชทาน[5] จากนั้นจึงโอนไปรับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศ ในตำแหน่งผู้ช่วยสถานทูตสยาม ประจำกรุงเบอร์ลิน ในปี 2439 ต่อมาไปในปี 2445 ได้เดินทางกลับสยามและโอนกลับมารับราชการทหารเป็นครูวิชาเลขในโรงเรียนนายร้อยทหารบก

ในวันที่ 5 ตุลาคม 2448 ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ให้ท่านเป็น นายพันตรี หลวงอุปเทศทวยหาญ ถือศักดินา 800[6] ปีถัดมาคือในปี 2449 ได้โอนย้ายอีกครั้งไปรับราชการที่กระทรวงเกษตราธิการ (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปัจจุบัน) ในตำแหน่งครูโรงเรียนกรมเพาะปลูกและกรมคลอง จากนั้นในวันที่ 11 เมษายน 2450 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะมีพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร และสำเร็จราชการรักษาพระนคร ได้พระราชทานพระอนุญาตให้ท่านเป็น ว่าที่มรรคนายกวัดคฤหบดี[7] ซึ่งเป็นวัดประจำตระกูล

ในปี 2451 ท่านได้ปลดประจำการเป็นกองหนุนรับพระราชทานเบี้ยหวัด ต่อมาในปี 2453 ได้เป็นนายทหารรับพระราชทานบำนาญ จากนั้นในวันที่ 26 เมษายน 2458 ได้เปลี่ยนบรรดาศักดิ์เป็น พันตรี หลวงพรรฦกสรศักดิ์ คงถือศักดินา 800[8]

ต่อมาในปี 2460 ได้ย้ายไปสังกัดกรมจเรทัพบกและการปืนเล็กปืนกล ในวันที่ 7 สิงหาคม 2462 ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระชำนาญคุรุวิทย์ ถือศักดินา 800[9] โดยเข้าเฝ้ารับพระราชทานสัญญาบัตรพร้อมกับรับพระราชทานยศชั้น จ่า ในกรมมหาดเล็กเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2462[10][11]

ยศและบรรดาศักดิ์

แก้
  • 10 ธันวาคม 2435 – นายพันตรี
  • 5 ตุลาคม 2448 – หลวงอุปเทศทวยหาญ
  • 26 เมษายน 2458 – หลวงพรรฦกสรศักดิ์
  • – รองหุ้มแพร
  • 17 พฤศจิกายน 2462 – จ่า พระชำนาญคุรุวิทย์

เกียรติยศ

แก้

พันตรี พระชำนาญคุรุวิทย์ (แย้ม ภมรมนตรี) ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญดังต่อไปนี้

อ้างอิง

แก้
  1. ข่าวตาย
  2. ประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ 39
  3. แซม เปิดภาพอายุ 120 ปี-ประวัติคุณย่า ‘พญ.แอนเนรี่’ แฟนๆ ชมเปาะหล่อได้ย่า
  4. ประกาศกรมยุทธนาธิการ
  5. พระราชทานสัญญาบัตรทหาร
  6. พระราชทานสัญญาบัตรขุนนาง
  7. แจ้งความกระทรวงธรรมการ
  8. พระราชทานบรรดาศักดิ์
  9. พระราชทานบรรดาศักดิ์
  10. ประกาศกรมบัญชาการกลางมหาดเล็ก
  11. รายวันพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์
  12. "พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา: 3321. 25 มกราคม 1919.
  13. พระราชทานเหรียญราชรุจิ
  14. พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์