พระกัสสปพุทธเจ้า
พระกัสสปะพุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าในภัทรกัปป์นี้ ทรงจุติลงมาในโลกมนุษย์หลังจากสิ้นสุดศาสนาของพระโกนาคมพุทธเจ้าแล้ว (อันตรกัปป์ที่ 10 ในภัทรกัปป์นี้ ช่วงอายุขาลง) โดยนับตั้งแต่อายุมนุษย์ลดลงจากสามหมื่นปีเหลือ 10 ปี (สิ้นสุดอันตรกัปป์ที่ 10 ในภัทรกัปป์นี้) แล้วอายุของมนุษย์จะเพิ่มขึ้นจาก 10 ปี (เข้าสู่อันตรกัปป์ที่ 11 ช่วงอายุขาขึ้น) เป็น 20 ปี และ จาก 20 ปี เป็น 40 ปี โดยลักษณะเช่นนี้ไปเลื่อย ๆ อีก จนกระทั้งอายุขัยของมนุษย์ถึงอสงขัยปี ทีนี้อายุของมนุษย์จะไม่เพิ่มอีกแล้ว มีแต่จะค่อยๆ เริ่มลดลงตามลำดับ โดย ในทุกๆ 100 ปี อายุขัยของมนุษย์จะลดลง 1 ปี (อันตรกัปป์ที่ 11 ในภัทรกัปป์นี้ ช่วงอายุขาลง) และจะลดลงมาเช่นนี้อีกเลื่อย ๆ จนกระทั้งอายุของมนุษย์ ลดลงมาได้ สองหมื่นปี พระองค์จึงเสด็จลงมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า องค์ที่ 3 ในภัทรกัปป์นี้ [1]
พระกัสสปพุทธเจ้า | |
---|---|
พระกัสสปพุทธเจ้า จิตรกรรมฝาผนังของวัดหอเชียง เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว | |
สันสกฤต | กาศฺยปพุทฺธ |
บาลี | กสฺสปพุทฺธ |
พม่า | ကဿပ ([kaʔ.θə.pa̰]) |
จีน | 迦葉佛 |
ญี่ปุ่น | 迦葉仏 |
เกาหลี | 가섭불 |
มองโกเลีย | ᠭᠡᠷᠡᠯ ᠰᠠᠬᠢᠭᠴᠢ, Гашив, (Geshib) |
ไทย | พระกัสสปพุทธเจ้า |
ทิเบต | འོད་སྲུང་ཆེན་པོ (Ösung Chenpo) |
เวียดนาม | Phật Ca Diếp |
ข้อมูล | |
นับถือใน | เถรวาท, มหายาน, วัชรยาน |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
พระประวัติ
แก้พระองค์เกิดในตระกูลพราหมณ์ บิดานามว่า พรหมทัต มารดานามว่า ธนวดี หลังจากเจริญชันษาแล้ว ทรง อภิเษกกับ มเหสีนามว่า สุนันทา ทรงมีราชโอรส วิชิตเสน ทรงเป็นฆราวาสอยู่ 2,000 ปี เมื่อถึงคราวทรงเห็นเทวทูตทั้งสี่ ได้ละทางโลก แล้วทรงออกผนวช บำเพ็ญเพียรอยู่ 7 วันก็ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า[2]
สาวกและบุคคลสำคัญ
แก้พระอัครสาวก
แก้- พระติสสเถระ
- พระภารทวาชเถระ
พระอัครสาวิกา
แก้- พระอนุลาเถรี
- พระอุรุเวลาเถรี
อัครอุบาสก
แก้- สุมงคลอุบาสก
- ฆฏิการอุบาสก
อัครอุบาสิกา
แก้- วิชิตเสนาอุบาสิกา
- ภัททาอุบาสิกา
พระกาย
แก้พระกายสูง 20 ศอก รัศมีพระกายเหมือนจันทร์ทรงกลด มีพระชนมายุได้ 20,000 ปี จึงปรินิพพาน พระศาสนาของพระองค์อยู่ได้ 20,000 ปี จึงอันตรธานไป [3]
ความเกี่ยวข้องกับพระพุทธโคดม
แก้ในสมัยพุทธกาลนี้ พระโคตมพุทธเจ้าได้เกิดเป็นโชติปาลมานพ (อ่านว่า โช-ติ-ปา-ละ อยู่วรรณะพราหมณ์) ผู้เป็นสหายของฆฏิการอุบาสก (อ่านว่าคะ-ติ-กา-ระ บรรลุธรรมระดับอนาคามีบุคคล) โชติปาลมานพในตอนแรกไม่ได้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า แต่เมื่อฆฏิการอุบาสกชวนไปฟังธรรมบ่อยเข้าจึงยอมไป เมื่อไปพบพระกัสสปพุทธเจ้าโชติปาลมานพ ได้กล่าวลบหลู่ว่า "การตรัสรู้เป็นของยากจะมีโพธิบัลลังก์ที่ไหนให้ท่านได้ตรัสรู้กัน" แต่เมื่อได้ฟังธรรมแล้วมีจิตเลื่อมใสจึงออกบวช และได้รับพุทธพยากรณ์ว่าต่อไปภายหน้าโชติปาลภิกษุจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป อย่างไรก็ตามพระโคดมพุทธเจ้าเมื่อครั้งตรัสรู้แล้วได้กล่าวไว้ว่าเพราะผลกรรมที่ได้กล่าวลบหลู่พระกัสสปพุทธเจ้าในอดีตทำให้พระองค์ทรงเสียเวลาในการลองผิดลองถูกเป็นเวลานานถึง 6 ปีกว่าจะได้ตรัสรู้ ซึ่งนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของพระพุทธเจ้าที่มีบันทึกไว้ในพระไตรปิฎกและระหว่างนั้นพระองค์ได้มีการอดอาหารจนกระทั่งเกือบสิ้นพระชนม์
เหตุการณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับพระกัสสปพุทธเจ้าและคำสอน
แก้- เกี่ยวกับการทานเนื้อและปลาเป็นอาหาร[3]
ครั้งก่อนพุทธกาลของพระโคดม มีดาบสกลุ่มหนึ่งไปในเมืองแล้วชาวบ้านเลี้ยงอาหารอย่างดี ต่อมาพระโคดมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ชาวบ้านก็เลี้ยงอาหารดาบสเหล่านี้น้อยลง กลุ่มดาบสถามว่าเกิดอะไรขึ้น ชาวบ้านก็ตอบว่า ตอนนี้มีพระพุทธเจ้าและสาวกเกิดขึ้นในโลกแล้ว ดาบสยินดีแล้วก็ถามต่อว่าแล้ว พระพุทธเจ้ากับเหล่าสาวกฉันกลิ่นดิบคือเนื้อและปลาไหม ชาวบ้านตอบว่าฉัน ดาบสเหล่านี้ก็ร้อนใจเลยรีบไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วทูลถามว่า พระองค์ฉันเนื้อและปลาที่เป็นกลิ่นดิบหรือ พระโคดมพุทธเจ้าตอบโดยสรุปว่าฉันเพราะได้มาโดยสุจริต ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจ ว่าเขาฆ่ามาให้เรา จึงถือว่าเนื้อและปลาเป็นของที่บริสุทธิไม่ใช่ของดิบ และก็เล่าต่ออีกว่าในอดีตสมัยพระพุทธเจ้าองค์ก่อน คือ กัสสปพุทธเจ้าก็มีดาบสชื่อติสสะไปถามเรื่องแบบนี้เหมือนกัน ดังรายละเอียดใน อามคันธสูตรที่ ๒ [3] ซึ่งเนื้อหาในพระสูตรดังกล่าวสรุปได้ว่า
- ติสสะดาบส
- พระองค์เสวยเนื้อและข้าวสุกที่ทำจากข้าวสาลีที่คนนำมาถวาย ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพรหม (พระกัสสปพุทธเจ้าประสูติในวรรณะพราหมณ์) พระองค์ตรัสอย่างนี้ว่า กลิ่นดิบย่อมไม่ควรแก่เรา แต่ยังเสวยข้าวสุกแห่งข้าวสาลีกับเนื้อนกที่บุคคลปรุงดีแล้ว คำว่ากลิ่นดิบของพระองค์หมายความว่าอย่างไร
- พระกัสสปพุทธเจ้า [4]
- การฆ่าสัตว์ การทุบตี การตัด การจองจำ การลัก การพูดเท็จ การกระทำด้วยความหวัง การหลอกลวง การเรียนคัมภีร์ที่ไร้ประโยชน์ และการคบหาภรรยาผู้อื่น นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบ
เนื้อและโภชนะไม่ใช่กลิ่นดิบ (ของดิบ) เลย ชนเหล่าใดในโลกนี้ ไม่สำรวมในกามทั้งหลาย ยินดีใน รสทั้งหลาย เจือปนไปด้วยของไม่สะอาด มีความเห็น ว่าทานที่บุคคลให้แล้วไม่มีผล มีการงานไม่เสมอ บุคคลที่ว่ายากไม่ฟังคำแนะนำที่ดีของผู้อื่น ชื่อว่ากลิ่นดิบของชนเหล่านั้น
เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่าเป็นกลิ่นดิบเลย ชนเหล่าใดผู้เศร้าหมอง หยาบช้า หน้าไหว้หลังหลอก ประทุษร้ายมิตรไม่มีความกรุณา มีมานะจัด มีปกติไม่ให้ และไม่ให้อะไรๆ แก่ใครๆ นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบของชนเหล่านั้น
เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย ความโกรธ ความมัวเมา ความเป็นคนหัวดื้อ ความตั้งอยู่ผิด มายา ฤษยา ความยกตนความถือตัว ความดูหมิ่น และความสนิทสนมด้วยอสัตบุรุษทั้งหลาย นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบ
เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย ชนเหล่าใดในโลกนี้ มีปรกติประพฤติลามก กู้หนี้มาแล้วไม่ใช้ พูดเสียดสี พูดโกง เป็นคนเทียม เป็นคนต่ำทราม กระทำกรรมหยาบช้า นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบของชนเหล่านั้น
เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย ชนเหล่าใดในโลกนี้ ไม่สำรวมในสัตว์ทั้งหลาย ชักชวนผู้อื่นประกอบการเบียดเบียน ทุศีล ร้ายกาจ หยาบคายไม่เอื้อเฟื้อ นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบของชนเหล่านั้น เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย สัตว์เหล่าใดกำหนัดแล้วในสัตว์เหล่านี้ โกรธเคือง ฆ่าสัตว์ ขวนขวายในอกุศลเป็นนิตย์ ตายไปแล้วย่อมถึงที่มืด มีหัวลงตกไปสู่นรก นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบของชนเหล่านั้น
เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย การไม่กินปลาและเนื้อ ความเป็นคนประพฤติเปลือย ความเป็นคนโล้น การเกล้าชฎา ความเป็นผู้หมักหมมด้วยธุลี การครองหนังเสือพร้อมทั้งเล็บการบำเรอไฟ หรือแม้ว่าความเศร้าหมองในกายที่เป็นไปด้วยความปรารถนา ความเป็นเทวดา การย่างกิเลสเป็นอันมากในโลก มนต์และการเซ่นสรวง ยัญและการซ่องเสพฤดู ย่อมไม่ยังสัตว์ผู้ไม่ข้ามพ้นความสงสัยให้หมดจดได้
ผู้ใด คุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหกเหล่านั้น รู้แจ้งอินทรีย์แล้ว ตั้งอยู่ในธรรม ยินดีในความเป็นคนตรงและอ่อนโยน ล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องเสียได้ ละทุกข์ได้ทั้งหมดผู้นั้นเป็นนักปราชญ์ ไม่ติดอยู่ในธรรมที่เห็นแล้ว และฟังแล้ว ฯ
หลังจากที่ได้ฟังพระกัสสปพุทธเจ้าตรัสสอนแล้วติสสะดาบสก็เลื่อมใสและขอบวช
ฆฏิการอุบาสก
แก้ในฆฏิการสูตร ได้เล่าถึงฆฏิการอุบาสกชวนสหายชื่อโชติปาลไปฟังธรรมกับพระกัสสปพุทธเจ้า เมื่อชวนครั้งแรก ๆ โชติปาลยังไม่ยอมไป กล่าวว่า "จะมีประโยชน์อะไรที่จะไปพบสมณะโล้นนี้" แต่เมื่อถูกชวนบ่อยเข้าจนถึงกับฆฏิการอุบาสกได้ชวนโดยเอามือจับผมของโชติปาละที่พึ่งสระผมเสร็จแล้ว โชติปาละแปลกใจจึงยอมไปหาพระกัสสปพุทธเจ้า เมื่อได้ฟังธรรมแล้วก็เลื่อมใสขอบวช ซึ่งในช่วงพุทธกาลของพระกัสสปพุทธเจ้านี้ ฆฏิการอุบาสกได้รับการสรรเสริญจากพระกัสสปพุทธเจ้าอย่างมากเช่น ในคราวที่กุฎิรั่ว ไปขอหลังคาบ้านก็ยอมให้แม้ให้แล้วหลังคาบ้านตัวเองจะไม่มี หรือ แม้ไปบิณฑบาตก็จะตักบาตรก่อนที่จะกินเอง เป็นต้น และในกาลต่อมา ฆฏิการอุบาสกคือฆฏิการพรหมผู้ถวายอัฐบริขารแก่พระโคดมพุทธเจ้า และโชติปาลคือพระสมณโคดมพุทธเจ้านั่นเอง [3]
รายการอ้างอิง
แก้- ↑ "อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ๒๔. กัสสปพุทธวงศ์ หน้าต่างที่ ๑ ใน ๑". 84000.org.
- ↑ "มจร. ๒๔. กัสสปพุทธวงศ์ : พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓". 84000.org.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
- ↑ เอนก ขำทอง. พุทธวงศ์ ประวัติพระพุทธเจ้า 25 พระองค์. กทม. กรมการศาสนา. 2541
ก่อนหน้า | พระกัสสปพุทธเจ้า | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระโกนาคมนพุทธเจ้า (๓๐,๐๐๐ ปี) |
พระพุทธเจ้าในอดีต องค์ที่ ๒๗ (๒๓,๐๐๐ ปี) |
พระโคตมพุทธเจ้า |