ฝาง
ต้นฝางและแก่นไม้ของฝางที่ใช้ทำสมุนไพร
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Eudicots
ไม่ได้จัดลำดับ: Rosids
อันดับ: Fabales
วงศ์: Fabaceae
สกุล: Caesalpinia
สปีชีส์: C.  sappan
ชื่อทวินาม
Caesalpinia sappan
L.

ฝาง (อังกฤษ: Caesalpinia sappan, ญี่ปุ่น: スオウโรมาจิsuō, จีน: 苏木 (植物)) เป็นพืชสมุนไพรที่อยู่ในวงศ์ถั่ว (Fabaceae) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Caesalpinia sappan Linn ฝางจัดได้ว่าเป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่ง พบได้ตลอดเขตร้อนในอินเดีย ศรีลังกา พม่า กัมพูชา ลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้ สำหรับประเทศไทยจะพบในพื้นที่ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าเขาหินปูนแห้งแล้ง นอกจากนี้ยังพบบริเวณป่าดงดิบอีกด้วย ส่วนในต่างประเทศพบได้ที่ทวีปอเมริกาใต้ ส่วนที่ใช้ทำสมุนไพรคือ แก่นไม้ของฝาง สรรพคุณทางสมุนไพรของฝางมีมากมาย เช่น บำรุงโลหิต ขับเสมหะ แก้อาการร้อนใน เป็นต้น และเมื่อนำส่วนต่าง ๆ ของฝางไปสกัดแล้วพบว่าให้สารเคมีที่มีประโยชน์ทางการแพทย์หลายชนิดอีกด้วย[1]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ แก้

ฝาง เป็นไม้พุ่มแตกกิ่งที่โคน ไม่มีปมราก รากสีดำ เปลือกเป็นสัน สีน้ำตาลแกมเทา ลำต้นมีความสูงประมาณ 5-8 เมตร และมีหนามโค้งโดยรอบ ใบเป็นรูปแบบใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น (เรียงสลับ) โดยมีใบย่อยรูปไข่หรือรูปขอบขนาน ดอกออกตามซอกใบในลักษณะของดอกช่อตอนปลายของกิ่งและที่ปลายกิ่ง กลีบดอกมีสีเหลือง และมีเส้นสีแดงอยู่ภายในปลาย ผลเป็นฝักแบนฝักเป็นจงอยโค้งงอ ฝักแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดงสีน้ำตาลเป็นฝักแบน มีเมล็ดอยู่ภายใน 2–4 เมล็ด [2]

การใช้ประโยชน์ แก้

เนื้อไม้ฝางเป็นแหล่งผลิตสารสีแดงที่สำคัญ ใช้ย้อมผ้าและสิ่งทอ ในอินโดนีเซียใช้ปรุงแต่งสีเครื่องดื่มให้เป็นสีชมพู ผลมีแทนนิน เปลือกลำต้นและเนื้อไม้ต้มใช้เป็นยารักษาวัณโรค ท้องเสีย เป็นยาฝาดสมาน เมล็ดเป็นยาระบาย ในฟิลิปปินส์ใช้เป็นเชื้อเพลิง และใช้ทำเครื่องใช้ต่าง ๆ แก่นไม้ฝางให้สารสีแดงจำพวกแซบพานีน และบราซิลีน [en] ผลมีแทนนิน 40% เหมาะกับการใช้ฟอกหนัง การสกัดสีจะนำเนื้อไม้มาบดแล้วต้มนาน ๆ สีจะเข้มขึ้น[3] กิ่งและแก่น ใช้ดื่มบำรุงโลหิต แก้ร้อนใน ท้องร่วง[4]

ประโยชน์ทางการแพทย์ แก้

ในประเทศฮังการีมีการนำสาร Brazilin ไปใช้ในการรักษาโรคหัวใจกบซึ่งถูกสารพิษ ปรากฏว่าได้ผลที่น่าพึงพอใจ และยังพบว่าสารนี้ไม่เป็นอันตรายกับผู้ป่วย แม้จะดื่มเข้าไปในปริมาณมาก แต่ไม่ทิ้งสารตกค้างในร่างกายแต่อย่างใด[1]

แก่นฝางเมื่อนำมาทำเป็นยาสมุนไพรแล้ว จะมีฤทธิ์บำรุงโลหิต ช่วยขับประจำเดือน บรรเทาอาการท้องร่วง ขับเสมหะ แก้ร้อนใน บรรเทาอาการโลหิตออกทางทวารหนักและทางปัสสาวะ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์บรรเทาอาการเลือดออกตามอวัยวะต่าง ๆ ได้ดี เช่น ในลำไส้และกระเพาะอาหาร เลือดกำเดาในจมูก เป็นต้น[1][5]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 บทความเรื่องสมุนไพรไม้เป็นยา : ฝาง สมุนไพรเย็น มากคุณค่าจากเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์[ลิงก์เสีย] สืบค้นวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2557
  2. ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของฝางจากเว็บไซต์อุทยานธรรมชาติวิทยาสิริรุกขชาติโดยมหาวิทยาลัยมหิดล เก็บถาวร 2020-08-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2557
  3. พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ และคณะ. ทรัพยากรพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3: พืชให้สีย้อมและแทนนิน. กทม. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. 2544. หน้า 71 – 72
  4. รุ่งรัตน์ เอียดแก้ว วุฒิพล หัวเมืองแก้ว อภิชาต ภัทรธรรม. 2555. การใช้ประโยชน์จากของป่าของราษฎรตำบลท่าเสา อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี. วารสารวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 40 (3): 992 – 1001
  5. สรรพคุณของฝางจากเว็บไซต์โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สืบค้นวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2557

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Caesalpinia sappan ที่วิกิสปีชีส์