Food Innopolis แก้

Food Innopolis[1] หนึ่งในซุปเปอร์คลัสเตอร์ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และมอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เร่งดำเนินการเพื่อให้ประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร” โดยกระทรวงวิทยาศาสร์ฯ ได้กำหนดเขตพื้นที่การดำเนินการ บนพื้นที่กว่า 200 ไร่ของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (Thailand Science Park: TSP) เป็นพื้นที่แรก ซึ่งมีความพร้อมรองรับกิจกรรมวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมของภาคเอกชน ทั้งโครงสร้างพื้นฐานและพื้นที่ใช้สอยกว่า 60,000 ตร.ม. บุคลากรวิจัย และการเชื่อมโยงความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยี มหาวิทยาลัย ภาคเอกชนและภาครัฐ (Public Private Partnership)

Food Innopolis มุ่งเน้นดึงดูดบริษัทผู้ผลิตหรือวิจัยพัฒนาอาหารชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศมาลงทุนในกิจกรรมวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม และสนับสนุนภาคเอกชนไทยในทุกระดับตั้งแต่ Startup, SMEs ไปจนถึงบริษัทขนาดใหญ่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมอาหารระดับโลก เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์อาหารมูลค่าเพิ่มสูงและเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ซึ่งเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย เพิ่มการจ้างงานแรงงานฐานความรู้ และเป็นแหล่งรายได้ใหม่ให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ

Food Innopolis อาศัยกลไกประชารัฐในการดำเนินงาน โดยมีมาตรการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้นักวิจัยชั้นนำจากต่างประเทศและของไทยเข้ามาทำงานเพื่อตอบโจทย์ภาคเอกชน มีการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนและเงินสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ มีสิทธิประโยชน์ทางภาษี แรงจูงใจ และการสนับสนุนอื่นๆ รวมทั้งบูรณาการหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันเทคโนโลยี มหาวิทยาลัย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการทำวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมใน Food Innopolis

[2]Food Innopolis เปิดให้บริษัทเข้ามาลงทุนทำกิจกรรมวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมเท่านั้น เมื่อได้ผลงานต้นแบบทางนวัตกรรมสามารถนำไปผลิตต่อยอดขยายผลเชิงพาณิชย์นอกพื้นที่ได้ โดยผู้เข้ามาลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดจาก BOI และการสนับสนุนต่างๆ อย่างครบวงจรจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ มหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กิจกรรมเป้าหมายภายใน Food Innopolis ที่เร่งสนับสนุนให้เกิดการวิจัยพัฒนาเป็นนวัตกรรมมูลค่าเพิ่มสูง อาทิ อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารฟังก์ชั่นและโภชนเภสัชภัณฑ์ อาหารและวัตถุดิบเพื่อผลิตอาหารคุณภาพสูง สารปรุงแต่งอาหารและสารสกัดทางโภชนาการ ผลิตภัณฑ์ไขมันและน้ำมันเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้คุณภาพสูง และกิจกรรมสนับสนุนนวัตกรรมอาหาร


  • ด้านเทคโนโลยี
  1. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development) พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปแบบครบวงจรตั้งแต่วิจัยพัฒนาไปจนถึงการใช้พื้นที่โรงงานต้นแบบและทดลองผลิตในโรงงานนำร่องที่ได้มาตรฐาน GMP (Pilot Plant and Commercial Run) เพื่อทดสอบตลาดและผู้บริโภค และเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน
  2. ออกแบบพัฒนาบรรจุภัณฑ์และโลจิสติกส์
  3. Processing, Engineering and Automation การให้คำปรึกษา และบริการพัฒนากระบวนการผลิตภัณฑ์ วิศวกรรมและการใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ
  • ด้านมาตรฐาน
  1. เป็นศูนย์อำนวยความสะดวกแก่ธุรกิจอาหารเพื่อประสานงานรับรองสินค้าสำหรับการค้าและส่งออก
  2. Food Safety and Quality ให้บริการตรวจวิเคราะห์และทดสอบคุณภาพทางเคมีและกายภาพ ทางจุลชีววิทยาและความปลอดภัยของอาหารด้วยห้องปฏิบัติการมาตรฐาน 17025 ตั้งแต่ขั้นการวิจัยจนถึงการผลิต
  • ด้านธุรกิจ
  1. Consumer Research และ Market Research ให้บริการทำวิจัยผู้บริโภคเป้าหมาย และวิจัยตลาดเพื่อลดความเสี่ยงในการออกสินค้าใหม่
  2. Business Support ให้คำปรึกษาและบริการประสานงานในด้านอื่นๆ นอกเหนือจากเทคโนโลยีการผลิตแก่ผู้ประกอบการอาหาร เช่น ให้คำปรึกษาและบริการประสานงานในด้านอื่นๆ นอกเหนือจากเทคโนโลยีการผลิตแก่ผู้ประกอบการอาหาร เช่น ให้คำปรึกษาเพื่อวางแผนธุรกิจและแผนการตลาดสำหรับผู้ประกอบการ ประสานงานเพื่อจัดตั้งธุรกิจ ประสานงานแหล่งเงินทุน ให้บริการฝึกอบรม พัฒนาการบุคลากรในอุตสาหกรรมอาหาร และพัฒนาบุคลากรเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหาร
  3. การบ่มเพาะผู้ประกอบการเทคโนโลยีสำหรับธุรกิจนวัตกรรมอาหาร และการให้บริการพื้นที่เช่าคุณภาพสูง

ผลที่คาดว่าจะได้รับ แก้

การดำเนินการ Food Innopolis ในระยะเวลา 5 ปี (2560 - 2564) มีดังนี้

  • กว่า 100 บริษัทอาหารชั้นนำจากต่างประเทศและในประเทศเข้ามาลงทุนและทำวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมใน Food Innopolis
  • เกิดบริษัท Startup ไม่น้อยกว่า 100 บริษัท
  • การลงทุนวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มขึ้น 10 เท่า (ประมาณ 35,000 ล้านบาท) และมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 2 เท่า (ประมาณ 2 ล้านล้านบาท)
  • เกิดมูลค่าเชิงพาณิชย์ ไม่น้อยกว่า 270,000 ล้านบาท จากการนำผลวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมไปผลิต
  • เพิ่มการจ้างงานบุคลากรวิจัยใน Food Innopolis ไม่น้อยกว่า 1,000 ราย และในอุตสาหกรรมอาหารที่เป็นการผลิตต่อเนื่องจากงานวิจัยของ Food Innopolis กว่า 3,000 ราย

อ้างอิง แก้

  1. https://drive.google.com/file/d/0B_d63YUjXFjQZEJ4amhmQXRuVjQ/view?usp=sharing
  2. https://drive.google.com/file/d/0B_d63YUjXFjQVzVMMkFqcUVBWjg/view?usp=sharing