ผู้ใช้:พิเชษฐ สร้อยวงศ์คำ/ทดลองเขียน

"วัดใหญ่ชัยมงคล หรือวัดใหญ่บางขลัง" พระมหาธาตุเมืองบางขลัง จังหวัดสุโขทัย

แก้

ที่ตั้งในอดีตและปัจจุบัน

แก้

ในอดีตวัดใหญ่ชัยมงคล พระมหาธาตุเมืองบางขลัง ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองบางขลังทางทิศเหนือ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปานามนที(แม่น้ำฝากระดานหรือลำน้ำแม่มอกปัจจุบัน) ฝั่งตะวันตก ห่างจาก ถนนพระร่วงไปทางทิศตะวันตกประมาณ 500 เมตร[1]

ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านใหม่ไชยมงคล อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย รหัสไปรษณ๊ 64230 พิกัดในแผนที่ 17°15′33″N 99°40′37″E

ประวัติ

แก้

วัดใหญ่ชัยมงคล หรือวัดใหญ่บางขลัง อดีตเป็นวัดมหาธาตุหรือวัดหลวง ประจำเมืองบางขลัง ซึ่งเป็นเมืองร่วมสมัยกับเมืองสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัย เริ่มสร้างมาตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด จากหลักฐานทางโบราณคดี คาดการณ์ว่าสร้างขึ้นในช่วงปีพุทธศักราช 1800 โดยมีโบราณสถานแรกเริ่มคือ เจดีย์ประธานทรงพุ่มข้าวบิณฑ์และเจดีย์ประจำทิศทั้ง 4 ทิศ ต่อจากนั้นได้มีการ สร้างพระวิหารและเจดีย์รายต่าง ๆ ขึ้นในภายหลัง

ที่มาของคำว่า "บางขลัง"

แก้

คำว่า "บางขลัง" เป็นคำสนธิของคำว่า "บาง" ที่หมายถึง “สาขาทางน้ำที่ ไหลขึ้น-ลง ระดับของน้ำในแม่น้ำลำคลองอันเป็นแหล่งต้นน้ำหรือเป็นแหล่งปลาย ของสายน้ำ ของสาขาน้ำแห่งนั้น ๆ (ซึ่งมีความหมายถึงภาคพื้นบริเวณที่ถึงแม้ว่าจะ เป็นภาคพื้นดินแต่ก็ ตั้งอยู่ใกล้อาณาบริเวณสองฟากฝั่งของ "บาง" นั้น ๆ ด้วย) กับคำว่า "ขลัง" ที่หมายถึงความศักดิ์สิทธิ์ ความขลัง หรือ “อำนาจของความ ศักดิ์สิทธิ์ อำนาจของความขลัง” ดังนั้น เมืองบางขลัง จึงหมายถึง “เมืองแห่งลุ่ม น้ำอันศักดิ์สิทธิ์ที่ตั้งอยู่ใกล้ลุ่มน้ำ"[2]

จากความหมายดังกล่าวได้มีความสอดคล้อง กับที่ตั้งของวัดใหญ่ชัยมงคล โดยด้านทิศตะวันออกของกำแพงวัดห่างออกไป ประมาณ 3-5 เมตร จะเป็นที่ตั้งของแม่น้ำโบราณชื่อว่า "ปานามนที" ที่ไหลผ่านบริเวณนี้ เป็นเวิ้งน้ำขนาดใหญ่ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมในอดีต(ปัจจุบันได้เปลี่ยน ทิศทางการไหลแล้ว) นอกจากนี้วัดใหญ่ชัยมงคลยังตั้งอยู่ระหว่างเมืองศรีสัชนาลัย กับเมืองสุโขทัย มีระยะห่างจากเมืองศรีสัชนาลัยตามทางถนนพระร่วง 23 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากเมืองสุโขทัยไปตามถนนพระร่วงประมาณ 27 กิโลเมตร[1]

วัดใหญ่ชัยมงคลในด้านโบราณคดี[3]

แก้

นางสาวนาตยา ภู่ศรี นักโบราณคดี 4 สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่ 5 สุโขทัย ได้เขียนรายงานใน "โบราณสถานวัดใหญ่ชัยมงคล" ปี 2544 ว่าวัดใหญ่ชัยมงคล ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของตำบลบ้านใหม่ไชยมงคล อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย โดยตั้งอยู่นอกเมืองบางขลังทางด้านทิศเหนือ ห่างจากแนวกำแพง เมืองด้านทิศเหนือประมาณ 150 เมตร

ในปี 2544 สำนักงานโบราณคดีฯ ที่ 5 ได้ดำเนินการขุดค้นชุดแต่งโบราณสถานวัดใหญ่ชัยมงคล จากการขุดค้นขุดแต่ง พบว่า โบราณสถานวัดใหญ่ชัยมงคลเป็นวัดขนาดใหญ่ที่มีองค์ประกอบของ โบราณสถานดังนี้คือ

1.เจดีย์ประธาน (โบราณสถานหมายเลข 2) จากการขุดแต่งพบฐานเจดีย์ประธานขนาดใหญ่ เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 11x 11 เมตร ที่ถึงเจดีย์ทางด้านทิศตะวันออกมีแท่นพระก่อยื่นออกไป เหลือแต่ฐาน ขนาด 2.30 x 2.80 เมตร ใช้ศิลาแลงปนกับอิฐฐานรากลึก 40 เซนติเมตร ส่วนทางด้านทิศตะวันตกมีแท่นพระก่อยื่นออกไปเช่นกัน แต่มีขนาดเล็กกว่า คือ 1.20 เมตร x 1.80 เมตร ฐานรากก่อด้วยศิลาแลงวางตามด้านยาวซ้อนกัน 5 ขั้น ศิลาแลงยาว 40 เซนติเมตร หนา 12 เซนติเมตร ลึก 60 เซนติเมตร พบเม็ดพระศก และกระเบื้องมุงหลังคาในบริเวณแท่นพระทั้งสองด้านเป็นจำนวนมาก[3]

2. วิหารด้านทิศเหนือ (โบราณสถานหมายเลข 1) ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของเจดีย์ประธาน วิหารหันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก เป็นวิหารที่มีหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง มีบันไดทางขึ้นทางด้านทิศตะวันออก จากการชุดแต่งได้พบอิฐปูพื้นวิหารโดยจะวางอิฐในลักษณะวางตามด้านกว้างทุกแถวและวางให้ชอบเสมอกัน ขนาดของวิหารกว้าง 12 เมตร ยาว 18.5 เมตร สูงจากพื้น 30 เซนติเมตร ฐานรากก่อด้วยอิฐเตี้ย ๆ โดยใช้อิฐวางเรียงตามด้านยาวซ้อนเหลื่อมกันแต่ละขั้นฐานรากของวิหารมีความลึกเพียง 15 เซนติเมตร ฐานชุกชีอยู่ทางด้านทิศตะวันตก ใช้ศิลาแลงก่อเป็นแท่นพระขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 6.2 x 6.8 เมตร ด้านบนยังมีร่องรอยของศิลาแลงซึ่งก่อเป็นรูปครึ่งวงกลม ซึ่งเป็นลักษณะของพระประธานในลักษณะประทับนั่ง พบเม็ดพระศกเป็นจำนวนมาก ทางด้านหลังของวิหารยังพบแนวอิฐส้ม ซึ่งเป็นผนังของวิหารด้านทิศตะวันตกแต่ไม่พบร่อยรอยของเสา จึงสันนิษฐานว่าวิหารหลังนี้น่าจะใช้ระบบผนังรับน้ำหนัก จากค่าระดับของวิหารทำให้ทราบว่า วิหารเป็นส่วนที่สร้างขึ้นในภายหลัง เนื่องจากค่าระดับพื้นของวิหาร ต่างจากระดับพื้นทั่วไปถึง 80 เซนติเมตร[3]

3. เจดีย์ราย หลังการขุดแต่งพบเจดีย์รายเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งที่ก่อด้วยอิฐ และ ศิลาแลง ดังนี

3.1. เจดีย์รายประจำมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (โบราณสถาน #3)

3.2. เจดีย์รายประจำมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (โบราณสถาน #4)

3.3 เจดีย์ประจำมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ (โบราณสถาน #5)

3.4 เจดีย์รายประจํามุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ (โบราณสถาน #6)

เจดีย์ประจำมุมทั้ง 4 องค์ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในคราวเดียวกัน เพราะมีรูปแบบที่คล้ายกัน รวมถึงระดับพื้นและฐานรากก็ใกล้เคียงกัน สำหรับรูปทรงของเจดีย์รายทั้ง 4 องค์นี้ จึงน่าจะเป็นรูปแบบเดียวกัน โดยเจดีย์ราย #5 เป็นเจดีย์ที่มีหลักฐานมากที่สุด และเมื่อเปรียบเทียบกับเจดีย์รายวัดเจดีย์เจ็ดแถว เมืองศรีสัชนาลัย พบว่ามีรูปแบบใกล้เคียงกับเจดีย์รายองค์หนึ่งที่มียอดเป็นทรงดอกบัวตูม[4]

นอกจากนี้ยังมีเจดีย์ราย (โบราณสถาน #6 ถึง #34 ) ที่ตั้งเรียงรายทั่วไปในบริเวณกำแพงแก้วอีก จำนวน 27 องค์

4.วิหารด้านทิศตะวันออก (โบราณสถาน #35) เป็นโบราณสถานที่มีลักษณะพิเศษ กล่าวคือ เป็นแนวอิฐ ที่วางเป็นรูปตาราง โดยใช้อิฐวางตะแคง ภายในช่องสี่เหลี่ยมไม่พบโบราณวัตถุใด ๆ แนวอิฐนี้อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ประธาน สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นแนวอิฐที่ใช้ในการวางศิลาฤกษ์ ขนาด 1x 1 เมตร[3]

ในอีกแง่หนึ่งโบราณสถาน #35 มีการสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวิหารด้านทิศตะวันออก แต่ไม่เหลือหลักฐานใด ๆ พบเพียงชิ้นส่วนซึ่งเชื่อว่าเป็นเครื่องประดับ หลังคาสังคโลกลายเขียนสี กระจายอยู่บริเวณพื้นที่ว่างด้านหน้าเจดีย์ประธานแต่ไม่พบกระเบื้องดินเผา หลังคาจึงน่าจะเป็นเครื่องไม้มุงด้วยวัสดุธรรมชาติ เช่น หลังคา แป้นเกล็ดไม้ เป็นต้น รูปทรงหลังคาน่าจะเป็นทรงจั่วมีหลังคาปีกนกด้านข้าง ตามสัดส่วนวิหารที่พบโดยทั่วไปในสุโขทัย ส่วนพื้นวิหารไม่เหลือหลักฐานใด ๆ จึงน่าจะใช้วัสดุธรรมชาติ เมื่อพิจารณาจากหลักฐานที่พบฐานชุกชีในตำแหน่งที่น่าจะเป็นวิหารของวัดหลายแห่งในเมืองบางขลัง เช่น วัดก้อนแลง วัดไร่ถั่ว เป็นต้นลักษณะเชียงชั้นแรกของฐานชุกชีมีความสูงไม่มากนัก ดังนั้นระดับพื้นวิหารจึงน่าจะใกล้เคียงกับผิวดินและน่าจะไม่ใช่พื้นไม้ เนื่องจากอาจผุกร่อนได้ง่ายจากความชื้นของผิวดินและน้ำฝน อาจเป็นไปได้ว่าเป็นพื้นไม้ไผ่สานเป็นโครงและดาดด้วยปูนหมักหนาประมาณ 5-10 ซม. ขึ้นไป ซึ่งวัสดุปูนหมักนี้ยังใช้กันอยู่ถึงปัจจุบัน[5]

5.กำแพงแก้ว (โบราณสถาน # 36) สร้างโดยใช้ศิลาแลงเป็นท่อนยาวปักเรียงเป็นแถวรูปสี่เหลี่ยมล้อมรอบกลุ่มโบราณสถาน โดยมีทับหลังวางทับด้านบนอีกชั้นหนึ่ง จากการขุดแต่งพบว่าความยาวของแท่งศิลาแลงที่นำมาปักเป็นกำแพงแก้วนั้นยาวประมาณ 220 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 35-40 เซนติเมตร ทับหลังซึ่งจะทับอยู่ด้านบนอีกชั้นหนึ่งนั้นส่วนใหญ่ตกอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ขนาดของทับหลังกว้าง 40-50 เซนติเมตร ยาว 1.20-1.40 เมตร

กําแพงแก้วด้านทิศเหนือยาว 52 เมตร ด้านทิศตะวันออกยาว 57 เมตร ด้านทิศใต้ ยาว 50 เมตร และด้านทิศตะวันตกยาว 57 เมตร โดยมีช่องประตู ทางเข้า-ออกเพียงทางเดียวอยู่ทางด้านทิศตะวันตกซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่ค่อยปรากฏในโบราณสถานสมัยสุโขทัย ทั้งนี้อาจมาจากการที่ทางด้านทิศตะวันตกเป็นด้านที่มีคลองยางไหลผ่านห่างจากวัดประมาณ 30 เมตรเท่านั้น เนื่องจากเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญจึงจำเป็นต้องมีประตูเข้า - ออกอยู่ทางด้านที่ติดกับคลองยาง ลักษณะของกำแพงแก้วเช่นนี้คล้ายกับที่วัดโบสถ์ เมืองบางขลัง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองศรีสัชนาลัย และที่วัดพระแก้ว เมืองกำแพงเพชร[3]

แต่ในรายงานการขุดค้นและบูรณะวัดใหญ่ชัยมงคล อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย โดย บริษัท นอร์ทเทิร์นซัน(1935) จำกัด จากการรขุดหลุมขุดตรวจแนวคูน้ำทางด้านทิศตะวันออก (หลุมขุดตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาแนวคูน้ำเดิม) รายงานนว่าจากการขุดค้นหลุมทดสอบทางโบราณคดีทั้ง 2 หลุมพบว่าเดิมบริเวณด้านทิศตะวันออกนอกเขตกำแพงวัดมีลำคลองพาดผ่านตามแนวทิศเหนือ ใต้ และในการก่อสร้างกำแพงวัดในส่วนของด้านทิศตะวันออกนี้ (ด้านหน้าวัด) จึงสร้างกำแพงเพื่อเลี่ยงแนวคลองและมีประตูทางออกเป็นประตูขนาดเล็ก เพราะอุปสรรคเรื่องความสะดวกในการเดินทางในฤดูน้ำหลาก[6]

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาโดยอิงตามแผนผังการขุดค้นทางโบราณคดีจะพบว่ากำแพงแก้วของวัดใหญ่ชัยมงคล มีทางเข้าจำนวน 3 ทาง คือทางทิศตะวันตกตามที่เขียนรายงานใน "โบราณสถานวัดใหญ่ชัยมงคล" โดย นางสาวนาตยา ภู่ศรี ทางทิศตะวันออกตามที่เขียนรายงานใน "รายงานการขุดค้นและบูรณะวัดใหญ่ชัยมงคล อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย" โดย บริษัท นอร์ทเทิร์นซัน(1935) จำกัด และทางทิศใต้(เป็นประตูเล็กๆ) ที่ปรากฎในผังกรีดโบราณสถานวัดใหญ่ชัยมงคลใน "โบราณสถานวัดใหญ่ชัยมงคล" โดย นางสาวนาตยา ภู่ศรี

โดยสรุป

แก้

น่าสังเกตว่าแผนผังที่สร้างเจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูม โดยให้มีเจดีย์ประจำมุมทั้งสี่ทิศ รวมทั้งมีเจดีย์ประจำด้านด้วยนั้น เป็นลักษณะที่ใกล้เคียงกับแผนผังของวัดเจดีย์เจ็ดแถว นอกจากนี้รูปทรงของเจดีย์ก็มีความคล้ายคลึงกับเจดีย์ที่วัดเจดีย์เจ็ดแถว เมืองศรีสัชนาลัย คือ ราวพุทธศตวรรษที่ 1951

นอกจากนี้ คติความเชื่อในเรื่องจักรวาล ซึ่งมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง โดยมีเขาวงแหวนล้อมรอบอยู่ 7 ชั้น (เขาสัตตบริภัณฑ์) จึงอาจมีความเกี่ยวข้องกับแผนผังของวัดใหญ่ชัยมงคลด้วยเช่นกัน (สันติ เล็กสุขุม : เจดีย์สมัยสุโขทัยที่วัด เจดีย์เจ็ดแถว หน้า 31)

ส่วนโบราณสถานที่มาสร้างเพิ่มเติมในระยะหลังนั้นพบว่ามักจะสร้างด้วยอิฐ และหากยึดถือเอาหลักฐานที่พบจากอิฐที่มีตัวเลข ๑ กับเลข ๓ เป็นตัวกำหนดอายุ จึงสันนิษฐานได้ว่ามีการสร้างเพิ่มเติมในระยะพุทธศตวรรษที่ 21-22 นอกจากนี้มีหลักฐานเกี่ยวกับการฝังภาชนะบรรจุกระดูกที่อยู่ติดกับฐาน เจดีย์รายที่น่าสนใจ กล่าวคือ ภาชนะดินเผาบรรจุกระดูกที่เป็นภาชนะประเภท เนื้อแกร่ง (ไหปากแตร) จะพบอยู่กับเจดีย์ประธานและเจดีย์รายที่สร้างด้วยศิลาแลง และเป็นเจดีย์ประจำด้าน

ส่วนเจดีย์รายที่สร้างด้วยอิฐและมีระดับพื้นใช้งานที่สูงกว่าเจดีย์กลุ่มแรกนั้น จะพบว่ามีการฝังภาชนะดินเผาบรรจุกระดูกที่เป็นภาชนะประเภทเนื้อดินธรรมดา (earthernwares)

ดังนั้นจึงสามารถสรุปในเบื้องต้นนี้ได้ว่าโบราณสถานวัดใหญ่ชัยมงคล มีอายุสมัย 2 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 มีการสร้างโบราณสถานหลักของวัดคือเจดีย์ประธาน และเจดีย์ รายที่มุมทั้งสี่ ของเจดีย์ประธาน เจดีย์รายบางองค์ที่เป็นเจดีย์ประจำด้านซึ่งเป็น เจดีย์ที่สร้างด้วยศิลาแลง รวมทั้งกำแพงแก้ว สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุในราวพุทธ ศตวรรษที่ 19 - 20

ระยะที่ 2 มีการสร้างโบราณสถานเพิ่มเติมขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ได้แก่เจดีย์ รายองค์อื่น ๆ ที่สร้างด้วยอิฐและวิหาร สันนิษฐานว่ากลุ่มโบราณสถานในระยะที่ 2 นี้น่าจะมีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 21 -22 โดยพบหลักฐานเป็นก้อนอิฐที่มีตัวเลข ๑ กับเลข ๓ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์ ของกรมศิลปากรได้วิเคราะห์ว่าเป็นตัวเลขในสมัยอยุธยาราวพุทธศตวรรษที่ 21 - 22 (ผู้เชี่ยวชาญก่อง แก้ว วีระ ประจักษ์)

  1. 1.0 1.1 พิเชษฐ สร้อยวงศ์คำ. ประวัติวัดใหญ่ชัยมงคล.
  2. มนต์ชัย เทวัญปกรณ์. (2549). ประวัติศาสตร์เมืองบางขลัง. ในย้อนหลังสู่เมืองบางขลัง.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 นาตยา ภู่ศรี. โบราณสถานวัดใหญ่ชัยมงคล. (มปท.,2544).
  4. สันติ เล็กสุขุม : ศิลปะสุโขทัย หน้า 45
  5. จีรนันท์ ภูมิวัฒน์, รูปแบบสันนิษฐานสามมิติเมืองบางขลัง จากการวิเคราะห์หลักฐาน โบราณคดีและศิลปกรรม (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัย ศิลปากร, 2559). หน้า 121.
  6. บริษัท นอร์ทเทิร์นซัน(1935) จำกัด. (2546). รายงานการขุดค้นและบูรณะวัดใหญ่ชัย มงคล อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย. หน้า 44.