ผู้เร่ร่อนดิจิทัล

ผู้เร่ร่อนดิจิทัล (อังกฤษ: digital nomad)[ม 1] คือบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่หาเลี้ยงชีพด้วยธุรกิจออนไลน์ การรับจ้างทำของ หรือทำงานกับนายจ้างของตนซึ่งตั้งอยู่ที่อื่นผ่านทางระบบโทรคมนาคม พร้อมกับเดินทางท่องเที่ยวไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งคล้ายกับชนเร่ร่อน[1] บุคคลเหล่านี้บางคนอาจเลือกอาศัยเป็นหลักแหล่งในประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นถิ่นพำนัก เพื่อใช้เป็นฐานสำหรับทำงานและท่องเที่ยวในประเทศข้างเคียง

โดยมากแล้ว ผู้เร่ร่อนดิจิทัลมักอยู่ในสถานที่ ๆ สามารถสมาคมกับผู้อื่นได้ง่ายและราคาค่าใช้งานไม่แพง อาทิ ห้องสมุดสาธารณะ ร้านกาแฟ หรือสถานสำหรับทำงานร่วมกันและสนทนา และมักเลือกประเทศที่ตนใช้สิทธิ์ยกเว้นใบอนุญาตเข้าเมืองหรือมีค่าธรรมเนียมไม่สูงไปพร้อม ๆ กับได้่คุณภาพชีวิตที่เหมาะแก่เงินที่ต้องจ่ายได้ ยิ่งไปกว่านั้นประเทศหรือเมืองใดที่มีผู้เร่ร่อนดิจิทัลอาศัยมากก็มักจะมีการบอกต่อกันให้มาอยู่อาศัยด้วย ผู้เร่ร่อนดิจิทัลบางคนกล่าวว่า การเดินทางพเนจรไปพร้อมกับการทำงานช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์และเพิ่มศักยภาพให้ไม่จำกัดแต่ในกรอบหรือจำกัดด้วยแรงงานท้องถิ่น[2]

ความหมาย แก้

คำว่า ดิจิทัลโนแมด หรือผู้เร่ร่อนดิจิทัล นั้น ปรากฏเป็นครั้งแรกในหนังสือของสึงิโอ มะกิโมะโตะ (Tsugio Makimoto) และเดวิด แมนเนอส์ (David Manners) เมื่อปี พ.ศ. 2540[3] หมายถึง บุคคลที่หาเลี้ยงชีพด้วยการค้าออนไลน์ การรับจ้างทำของ (เช่น ทำเว็บไซต์ เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ออกแบบกราฟิก วิเคราะห์ข้อมูล ออกแบบการสื่อสารการตลาด ฯลฯ) หรือการรับจ้างแรงงานกับนายจ้างซึ่งตั้งอยู่ที่อื่นผ่านทางระบบโทรคมนาคม [4][5]โดยมากมักทำงานตามร้านกาแฟ สำนักงานจัดเฉพาะ พื้นที่ทำงานร่วมกัน หรือสถานที่อื่น[6] พร้อมกันนั้นก็เดินทางท่องเที่ยวหาความบันเทิงอยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง ผู้เร่ร่อนดิจิทัลบางคนออกนอกประเทศของตนเพียงเพื่อไม่ต้องชำระภาษีเงินได้ในอัตราสูงในขณะที่จะใช้ชีวิตได้อย่างสบาย มีรายได้สูง การเป็นผู้เร่ร่อนดิจิทัลนั้นมักต้องขายหรือให้เช่าบ้านอันเป็นนิวาสสถานเดิมของผู้นั้นเสียเพื่อไม่ให้เป็นภาระค่าใช้จ่าย อาทิ ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า และค่าภาษีบำรุงท้องที่[7]

แม้ว่าศัพท์ ผู้เร่ร่อนดิจิทัล จะปรากฏไม่นานมานี้ แต่พฤติกรรมการเร่ร่อนก็มีมาก่อนหน้านั้นแล้ว โดยมีหลักฐานในปี พ.ศ. 2526 สตีฟส์ โรเบิตส์ (Steve Roberts) ขี่รถจักรยานเอนหลัง (recumbent bicycle) ตามที่ปรากฏในนิตยสาร ป็อปปูลาร์คอมพิวติง (Popular Computing) สองปีถัดมา ระบบโมโตแซต (Motosat) ถูกติดตั้งบนรถทำให้สามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้ และสามารถติดต่อสื่อสารในการทำงานได้ไม่ยาก ยิ่งในปัจจุบันมีเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตไร้สาย ทำให้บุคคลอายุน้อยจำนวนมากต้องการออกจากงานในสำนักงานมาทำงานไปพร้อม ๆ กับท่องเที่ยว ใช้ชีวิตแบบเร่รอนได้ตามความปรารถนาของตน ช่วงหลัง พ.ศ. 2557 ได้มีเว็บไซต์หนึ่งทำหน้าที่จัดอันดับประเทศและเมืองที่ควรพักอาศัย ทำให้การเป็นผู้เร่ร่อนดิจิทัลเป็นที่นิยมมากขึ้น[3] [8][9] ยิ่งไปกว่านั้น จำนวนผู้เร่ร่อนดิจิทัลที่มีมากก่อให้เกิดการประชุมระหว่างชาติสำหรับคนกลุ่มนี้ (เช่น DNX) เป็นประจำทุกปี[10][11][12][13][14][15]

เป้าหมายของผู้เร่ร่อนดิจิทัล แก้

จากข้อมูลหลายแหล่ง จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย และเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เป็นสถานที่ ๆ ผู้เร่ร่อนดิจิทัลมักเลือกเป็นฐานในการพักอาศัย ทำงาน และท่องเที่ยวในประเทศรอบข้าง ในส่วนของประเทศไทยนั้น คนกลุ่มนี้ให้เหตุผลว่ามีค่าครองชีพที่ไม่แพงและคุณภาพชีวิตดี ส่วนประเทศอินโดนีเซียมีธรรมชาติที่สวยงามและมีนโยบายยกเว้นการตรวจลงตราแบบไม่จำกัด[16] [17][18] ผู้เร่ร่อนดิจิทัลบางคนเลือกอาศัยในเมืองค่าครองชีพปานกลางด้วยเหตุผลด้านความสะดวกปลอดภัย อาทิ สิงคโปร์ ออสโล[17] บริสตอล เบอร์มิงแฮม ไบรตัน ฯลฯ [19]

ประเด็นทางกฎหมาย แก้

ผู้เร่ร่อนดิจิทัลนั้นบางทัศนะถือว่าไม่ได้เป็นนักท่องเที่ยวโดยบริสุทธิ์ใจ เนื่องจากมีการทำงานให้เกิดรายได้เป็นส่วนประกอบสำคัญ แต่บางทัศนะถือว่าเป็นนักท่องเที่ยว เพราะงานที่คนเหล่านั้นทำไม่ได้รบกวนตำแหน่งงานของคนพื้นถิ่น ซึ่งหากต้องใช้คนต่างชาติจะต้องขอใบอนุญาตทำงาน ข้อนี้เป็นประเด็นถกเถียงทางกฎหมายพอสมควร บางประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย[20] นิวซีแลนด์ ไทย (เฉพาะสัญชาติออสเตรเลียและนิวซีแลนด์)[21] จัดโครงการตรวจลงตราประเภทท่องเที่ยวพร้อมทำงาน ผู้ได้รับตรวจลงตราประเภทนี้สามารถท่องเที่ยวไปพร้อมกับทำงานในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวของบริษัทห้างร้านได้นอกเหนือจากการทำงานออนไลน์ ข้อเสียของโครงการเหล่านี้คือ บุคคลทีเข้าร่วมโครงการต้องมีการศึกษาอย่างน้อยปริญญาตรี เป็นโสด และอายุไม่เกิน 30 ปี ในอนาคตคาดว่าหลายประเทศจะได้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายตรวจลงตราให้ครอบคลุมถึงการเข้ามาท่องเที่ยวพร้อมกับประกอบอาชีพอิสระแต่ไม่ทำงานในห้างร้านมากขึ้น

ในประเทศไทย คนชาติบางประเทศสามารถใช้สิทธิ์ยกเว้นการตรวจลงตราหรือใบอนุญาตเข้าเมืองได้ 30 วัน หรือ ผ.30 (ต่ออายุไม่ได้และจำกัดจำนวนต่อปี) หรือใช้ใบอนุญาตเข้าเมืองประเภทนักท่องเที่ยวจำนวน 60 วัน ซึ่งขยายเวลาได้หนึ่งครั้งจำนวน 30 วัน เมื่อครบกำหนด 90 วัน (นับวันที่ 1 ที่เข้าประเทศไทย) จะต้องเดินทางออกไปก่อนทำใบอนุญาตเข้าเมืองเข้ามาใหม่ ทำให้เป็นที่ต้องสงสัยของเจ้าหน้าที่ว่าทำงานผิดกฎหมายหรือไม่จนเป็นเหตุปฏิเสธไม่ให้เข้าเมือง[22] รัฐบาลไทยได้ยกเลิกใบอนุญาตเข้าเมืองประเภทเข้าได้สองและสามครั้งลงเมื่อ พ.ศ. 2558 ก่อนเปลี่ยนเป็นประเภทเข้าได้หลายครั้งภายใน 6 เดือน[23] ถึงกระนั้นก็ยังไม่ตอบโจทย์ของผู้เร่ร่อนดิจิทัล เนื่องจากค่าธรรมเนียมที่สูงเกินไป การจำกัดสัญชาติ และการที่ต้องออกนอกประเทศทุก ๆ 60 วัน

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2561 รัฐบาลไทยออกวีซ่าระยะยาวซึ่งเดิมคาดว่าจะทำให้กับคนเร่ร่อนดิจิทัล แต่ต่อมาได้มีการกำหนดกลุ่มบุคคลที่จะขอวีซ่าดังกล่าวไว้ดังนี้[24]

  • นักลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี โดยมีเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท
  • ผู้บริหารที่มีประสบการณ์ 10 ปีขึ้นไปพร้อมปริญญาตรีหรือสูงกว่า หรือเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและความเชี่ยวชาญ ได้รับเงินเดือนไม่น้อยกว่า 200,000 บาท (ถือเป็นจำนวนที่มากแม้จะเป็นประเทศสหรัฐอเมริกาหรือประเทศที่เจริญแล้วก็ตาม)
  • ผู้มีเงินทุน 600,000 บาท ต้องการสร้างกิจการในประเทศไทย

วีซ่าข้างต้นลักษณะคล้ายกับ Tech Visa หรือ Passeport Talent (ปัสปอร์ตาลอง) ของประเทศฝรั่งเศส[25] จึงถือว่ายังไม่เหมาะนักสำหรับคนเร่ร่อนดิจิทัล

ดูเพิ่ม แก้

หมายเหตุ แก้

  1. ยังไม่มีศัพท์บัญญัติภาษาไทย แต่คำ nomad (เอกพจน์) หมายถึงสมาชิกแห่งชนเผ่าเร่ร่อนหรือคนเร่ร่อนที่อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง ตามพจนานุกรมศัพท์รัฐศาสตร์ของราชบัณฑิตยสภา เก็บถาวร 2017-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ใช้ ชนร่อนเร่ ส่วนพจนานุกรมศัพท์ประชากรศาสตร์ฯ ใช้ ผู้เร่ร่อน หรือ คนพเนจร การใช้ ผู้เร่ร่อนดิจิทัล หรือ คนเร่ร่อนดิจิทัล จึงเหมาะสมมากกว่าทับศัพท์โดยตรง

อ้างอิง แก้

  1. Mohn, Tanya. "How To Succeed At Becoming A Digital Nomad".
  2. . VOA Thai. 1 August 2017 https://www.voathai.com/a/digital-nomad/3966803.html. สืบค้นเมื่อ 4 January 2018. {{cite news}}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  3. 3.0 3.1 Gilbert, Christine (September 6, 2013). "A Brief History of Digital Nomading". Almost Fearless. สืบค้นเมื่อ December 8, 2017.
  4. Tsugio Makimoto & David Manners (1 January 1997), Digital nomad, Wiley
  5. Mike Elgan (1 August 2009), Is Digital Nomad Living Going Mainstream?, Computerworld, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-23, สืบค้นเมื่อ 2018-01-05
  6. Colella, Kristin (2016-07-13). "5 'digital nomads' share their stories from around the world" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). TheStreet.com. สืบค้นเมื่อ 2016-07-30.
  7. "What is a digital nomad?". Nomad Radar. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-01. สืบค้นเมื่อ November 19, 2017.
  8. BBC Capital (22 November 2017), The digital nomads working in paradise, BBC
  9. Anna Hart (17 May 2015), Living and working in paradise: the rise of the 'digital nomad', The Telegraph
  10. "Marcus & Feli: Work Hard and Travel the World," The Surf Office, January 5, 2015
  11. "Nomad Summit" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-19. สืบค้นเมื่อ 2017-09-20.
  12. "Digital Nomad Conference". DNX.
  13. Steven Melendez (23 March 2015), Work From Anywhere But Home: Startups Emerge to Turn You Into a Globetrotting Digital Nomad, Fast Company
  14. Rosie Spinks (16 June 2015), Meet the 'digital nomads' who travel the world in search of fast Wi-Fi, The Guardian
  15. Kavi Guppta (25 February 2015), Digital Nomads Are Redefining What It Means To Be Productive, Forbes
  16. CNN (27 June 2016), Want to escape the office? Top 10 cities for digital nomads, CNN
  17. 17.0 17.1 "Traveling as a Digital Nomad". Scott's Cheap Flights. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-01. สืบค้นเมื่อ November 23, 2017.
  18. "Bangkok, A Digital Nomad Hub – Moving Nomads". movingnomads.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2017-12-09.
  19. "Living and working in paradise: the rise of the 'digital nomad'". The Telegraph. May 17, 2015. สืบค้นเมื่อ December 19, 2017.
  20. "Work and Holiday visa (Subclass 462)". Australian Embassy Thailand. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-01-20. สืบค้นเมื่อ 4 January 2018.
  21. "Thailand Working Holiday Visa". Immigration New Zealand.
  22. "หลักเกณฑ์ของ สตม. เกี่ยวกับระยะเวลาที่อนุญาตให้พำนักและการขออยู่ต่อในราชอาณาจักร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-01-28. สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  23. "รัฐบาลไทยออกวีซ่าใหม่ นักท่องเที่ยวเข้าออกได้หลายครั้งใน 6 เดือน-กระตุ้นท่องเที่ยว". 23 กันยายน 2558. สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2561. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  24. Board of Investment. Thailand's Smart Visa. January 2018
  25. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-11-15. สืบค้นเมื่อ 2018-02-21.