ปู่โสมเฝ้าทรัพย์

ปู่โสมเฝ้าทรัพย์ เป็นชื่อที่ใช้เรียกผีหรือวิญญาณที่ทำหน้าที่เฝ้าทรัพย์สมบัติที่เป็นสมบัติล้ำค่าหรือสมบัติของชาติ เช่น กรุสมบัติในอาณาจักรอยุธยา เป็นต้น ปู่โสมเฝ้าทรัพย์ทำหน้าที่คล้ายเจ้าที่เจ้าทาง หรือเทพารักษ์ที่พิทักษ์ทรัพย์สมบัติเหล่านี้เอาไว้

เรื่องราวของปู่โสมเฝ้าทรัพย์ที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักกันดี จนกลายเป็นข่าวลงหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์เกิดขึ้นในราวปี พ.ศ. 2500–01 ที่กรุสมบัติวัดราชบูรณะ เมื่อโจรลักลอบขุดสมบัติกลุ่มหนึ่งได้เข้าไปขุดค้นภายในวัด ซึ่งใช้เวลานานถึง 3 วัน เนื่องจากมีทรัพย์สมบัติมากมายมหาศาล แต่ทว่าเมื่อลับลอบนำออกมาแล้ว เกิดปาฏิหารย์ขึ้นมาโดยเฉพาะพระแสงขรรค์ชัยศรี ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ได้เกิดส่องแสงแวววับขึ้นมา แต่ขณะเดียวกันบรรยายกาศของท้องฟ้าก็เกิดวิปริตแปรปรวน ต่อมาหนึ่งในผู้ลักลอบก็เข้าหาเจ้าหน้าที่ตำรวจในสภาพเมามาย ยอมรับว่าเป็นผู้ที่เข้าไปขุดค้นเอง และได้คืนของที่ขโมยเอาไปแก่เจ้าหน้าที่ ซึ่งผู้ที่ร่วมขบวนการนั้นต่างก็ได้รับอันเป็นไปต่าง ๆ นานา เช่น เสียสติไปรำดาบอยู่กลางตลาด หรือร้านที่รับซื้อไว้ก็ต้องล้มเลิกกิจการไป[1] เป็นต้น ซึ่งของกลางที่ขโมยเอาไปนั้นปัจจุบันได้คืนมาเพียงแค่ร้อยละ 20 เท่านั้น และจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ทั้งนี้เชื่อว่าเกิดจากการดลบันดาลของปู่โสมเฝ้าทรัพย์[2]

บุคคลที่มีชื่อเสียงที่เคยเผชิญหน้ากับปู่โสมเฝ้าทรัพย์ ได้แก่ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช หรือพระองค์พีระ นักแข่งรถสูตรหนึ่งชาวไทยที่มีชื่อเสียงในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ท่านเคยได้ประทานสัมภาษณ์เรื่องราวนี้ด้วยตัวพระองค์ท่านเองเมื่อปี พ.ศ. 2504 ต่อที่ประชุม ณ สมาคมค้นคว้าทางจิตแห่งประเทศไทย ว่าราวกลางเดือนธันวาคม พ.ศ. 2503 ความที่ท่านเป็นผู้ไม่เชื่อในเรื่องภูติผีวิญญาณ ท่านเคยได้ใช้เครื่องมือจากต่างประเทศที่ทันสมัยในขณะนั้น คือ ไมน์ ดีเทกเตอร์ (Mine detecter) ซึ่งสามารถใช้ขุดหาแร่ธาตุหรือวัตถุต่าง ๆ ใต้ดินได้ลึกถึง 20 เมตร ขณะขุดค้นที่โบสถ์ร้างของวัดกุฎีดาว ตามข้อตกลงกับกรมศิลปากรว่าหากขุดค้นพบทรัพย์สมบัติใด ๆ แล้ว จะมอบให้แก่รัฐร้อยละ 90 และตกเป็นของท่านเองร้อยละ 10 แต่หาเท่าไหร่ก็หาไม่เจอ จึงมีผู้บอกว่า เพราะท่านไม่ได้บวงสรวงหรือขออนุญาตสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อน ปู่โสมเฝ้าทรัพย์จึงดลบันดาลให้ทรัยพ์สมบัตินั้นเคลื่อนที่หนีได้ แต่ทว่าพระองค์พีระก็มิได้ใส่พระทัย ด้วยมิเชื่อ และหลังจากขุดค้นพบของมีค่าแล้ว หลังจากพระองค์ท่านและพระชายาได้เดินทางกลับวังที่ประทับ ที่ถนนสุขุมวิท อำเภอพระโขนง คืนนั้นท่านก็ได้ยินเสียงดัง "ฉึก ฉึก" คล้ายกับคนขุดดินอยู่ภายนอก เมื่อท่านออกไปทอดพระเนตรดูก็ไม่พบ แต่เสียงนั่นก็ยังคงดังอยู่และเปลี่ยนต้นตอของเสียงไปได้ด้วย แม้กระทั่งอยู่เหนือพระเศียรห้องบรรทม จนกระทั่งเช้า เมื่อท่านได้ไปตรวจดูก็ไม่พบร่องรอยใด ๆ ทั้งสิ้น[2]

ต่อมา ในเวลาโพล้เพล้ ที่วัดกุฎีดาว ขณะขุดพบวัตถุมีค่าอีกชิ้นหนึ่ง ขณะที่ท่านเงยพระพักตร์ขึ้นมา ท่านก็ได้เห็นร่าง ๆ หนึ่งที่พุ่มไม้เล็ก ๆ หน้าโบสถ์ เหมือนมนุษย์ผู้ชายตัวสูงใหญ่ล่ำสันผิดมนุษย์ธรรมดาทั่วไป แต่งกายเหมือนนักรบโบราณ สวมเสื้อแขนกระบอกกางเกงขาลีบ ๆ สั้น ๆ สีน้ำเงินเข้มทั้งชุด มีแขนใหญ่และลำคอใหญ่ แต่ทว่าไม่มีส่วนศีรษะ ท่านได้รำพึงออกมาว่า "ผีนี่นา" แต่ท่านก็มิได้ตกพระทัย และได้ยังเดินไปดูใกล้ ๆ ก็พบว่าจุดที่ร่างนั้นปรากฏแท้จริงแล้วเป็นไม้ขนาดใหญ่ แต่ขึ้นในแอ่งด้านล่างจึงเห็นเป็นพุ่มไป เมื่อท่านได้นำเรื่องนี้ไปเล่าให้ชาวบ้านฟัง ต่างยืนยันว่านั่นคือ ปู่โสมเฝ้าทรัพย์ แสดงว่าพระองค์ท่านเกือบจะขุดพบทรัพย์สมบัติแล้ว เมื่อท่านได้นำเรื่องไปเล่าให้พระสหายชาวต่างชาติที่ร่วมคณะในการขุดครั้งนี้ฟังด้วย พระสหายผู้นั้นก็เล่าว่า ตัวเขาเองก็เห็นผีหัวขาดปรากฏตัวเหมือนกัน ต่อมาท่านได้นำความเรื่องไปเล่าให้แก่พระสงฆ์รูปหนึ่งที่มีอภิญญาฟัง พระสงฆ์จึงได้เฉลยแด่พระองค์ท่านว่า ผีหัวขาดที่พระองค์เห็นนั้น เป็นทหารของพระเจ้าอู่ทอง ชื่อ "ผาด" และได้สาบแช่งแก่ผู้ที่มาขุดค้น ซึ่งหลังจากนั้นพระสหายชาวต่างชาติผู้นั้นของท่านก็เสียชีวิตลงในวัยอันไม่สมควร ส่วนตัวพระองค์ท่านเองเมื่อประกอบธุรกิจการค้าก็ไม่ประสบความสำเร็จอีกด้วย พระองค์พีระได้ยอมรับว่า เมื่อก่อนตัวท่านไม่เคยเชื่อเรื่องภูติผีวิญญาณ แต่บัดนี้ท่านเชื่อแล้ว เพราะได้ประสบมาด้วยตัวเอง[3] [2]

อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของนักวิชาการ แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เชื่อว่า ความเชื่อเรื่องปู่โสมเฝ้าทรัพย์นั้น ไม่น่าจะมีอยู่จริงในความเชื่อของชาวอยุธยาร่วมสมัย เนื่องจากอ้างอิงจากหลักฐานรายชื่อผีที่ปรากฏในพระไอยการเบ็ดเสร็จ ไม่พบว่า มีบันทึกถึงปู่โสมเฝ้าทรัพย์ หรือผีเฝ้าสมบัติ แต่อย่างใด รวมถึงความเชื่อนี้ก็ขัดต่อความเชื่อในคติของพุทธศาสนา นิกายเถรวาท ที่ชาวอยุธยาเชื่อถืออีกด้วย เนื่องจากนิกายเถรวาทไม่เชื่อในเรื่องของอันตรภพ เมื่อตายไปแล้วจะไปเกิดยังภพภูมิตามยถากรรม จึงสันนิษฐานว่า ความเชื่อนี้คงมาจากประเทศอินเดีย หรือเกิดจากการสร้างเป็นละครโทรทัศน์จนผู้คนเข้าใจว่าเป็นเรื่องจริง[4]

เรื่องราวของปู่โสมเฝ้าทรัพย์นั้นอ้างถึงในวัฒนธรรมร่วมสมัยของไทยหลายประการ สร้างเป็นภาพยนตร์[1] ตลอดจนละครโทรทัศน์หลายครั้ง เช่น ปู่โสมเฝ้าทรัพย์ ทางช่อง 7 เมื่อปี พ.ศ. 2550 นำแสดงโดย สันติ วีระบุญชัย, สุวนันท์ คงยิ่ง และภูธฤทธิ์ พรหมบันดาล[5] หรือดัดแปลงเป็นนวนิยายโดยทมยันตี และสร้างเป็นละครโทรทัศน์ที่ได้รับความนิยมในช่วงกลางปี พ.ศ. 2559 เรื่อง พิษสวาท ทางช่องวัน 31 เป็นต้น[3] [6]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 หลวงเมือง (2017-09-19). "ปู่โสมเฝ้าทรัพย์". ศิลปวัฒนธรรม.
  2. 2.0 2.1 2.2 "Lineกนก ปู่โสมเฝ้าทรัพย์ ผีเฝ้าสมบัติ 11 กันยายน 2559 Full". เนชั่นทีวี. 2016-09-14.
  3. 3.0 3.1 "เรื่องของเรื่อง TAPE 1 3 ส ค 59 วัดกุฎีดาว!พระองค์เจ้าพีระพงษ์ภานุเดช เผชิญผีปู่โสมเฝ้าทรัพย์!". ช่องวัน. 2017-08-08.
  4. "อาจารย์ ม.ราม ยัน คนอยุธยาไม่รู้จัก 'ผีเฝ้าสมบัติ' เปิดหลักฐานพระไอยการเบ็ดเสร็จมีแต่ "กระสือ-ฉมบ-จะกละ"". มติชน. 2016-08-08.
  5. "Poo Som Fao Sup Teaser". ช่อง 7. 2007-02-22.
  6. "'ทมยันตี'เผยตำนานวิญญาณเฝ้าทรัพย์ ที่มาฉากโหด'แม่อุบล'ถูกสามีบั่นคอใน'พิษสวาท'". มติชน. 2017-07-24.