ปุราณะ

(เปลี่ยนทางจาก ปุรณะ)

ปุราณะ (สันสกฤต: पुराण, purāṇa, เก่าแก่, โบราณ) และหมายความถึงวรรณคดีอินเดียที่ครอบคลุมเนื้อหาจำนวนมาก โดยเฉพาะตำนานต่างๆและตำนานพื้นถิ่นอื่นๆ คัมภีร์ปุราณะในแต่ละเรื่องนั้นว่ามีความซับซ้อนเชิงสัญลักษณ์ในหลากหลาย คัมภีร์ปุราณะเขียนด้วยภาษาสันสกฤตเป็นส่วนใหญ่ ตามมาด้วยภาษาทมิฬ และภาษาท้องถิ่นอินเดียอื่นๆ ซึ่งบทประพันธ์เหล่านี้มักจะได้รับการตั้งชื่อตามเทพเจ้าในศาสนาฮินดูที่สำคัญๆ เช่น พระวิษณุ พระศิวะ พระพรหม และศักติ วรรณกรรมประเภทปุราณะนั้นไม่ได้มีเพียงเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาฮินดูเท่านั้น หากแต่ปรากฏมีในศาสนาเชน เช่นเดียวกัน

พระนางอัมพิกะ หรือทุรคา นำมาตฤกาทั้งแปด ไปรบกับอสูรชื่อ รักตพีช จากเรื่อง "เทวีมาหาตมยัม" ในคัมภีร์มารกัณเฑยปุราณะ

ในอีกมุมหนึ่ง คัมภีร์ปุราณะก็เปรียบเสมือนสารานุกรม เนื่องจากได้รวบรวมองค์ความรู้ต่างๆไว้  อาทิ ทฤษฎีการกำเนิดจักรวาล จักรวาลวิทยา วงศาวิทยาของเทพเจ้าต่างๆ รวมทั้งกษัตริย์และวีรบุรุษต่างๆ ฤๅษีและมหาฤๅษี สัตว์ในเทวตำนาน นิทานปรัมปรา การจาริกแสวงบุญ วิหารต่างๆ การแพทย์ ดาราศาสตร์ ไวยากรณ์ แร่วิทยา เทววิทยา และปรัชญา ซึ่งเนื้อหาในคัมภีร์ปุราณะไม่ได้เรียบเรียงอย่างเป็นหมวดหมู่ หากแต่รวบรวมหลากหลายเรื่องราวเข้าไว้ในคัมภีร์ปุราณะหนึ่งๆ สำหรับหลักฐานของผู้ประพันธ์คัมภีร์ปุราณะนั้นไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน    เพราะสันนิษฐานว่าเกิดจากการประพันธ์ของผู้แต่งหลายๆคนในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา  ในขณะที่คัมภีร์ปุราณะในศาสนาเชนนั้นสามารถระบุช่วงเวลาของการประพันธ์และทราบผู้ประพันธ์


คัมภีร์ปุราณะในศาสนาฮินดูนั้น ถือว่าเป็นสมฤติ คัมภีร์ปุราณะฉบับที่เก่าแก่ที่สุดสันนิษฐานว่าเขียนในช่วงศตวรรษที่3-10 ประกอบด้วย คัมภีร์มหาปุราณะ 1 ฉบับ คัมภีร์มุกขยะ ปุราณะ 17 ฉบับ คัมภีร์อุปะ ปุราณะ 18 ฉบับ รวมทั้งสิ้นมากกว่า 400,000 โศลก แต่อย่างไรก็ตามใน ฉันโทคยะ อุปนิษัท ก็ได้นิยามคัมภีร์ปุราณะว่าเป็นพระเวทที่ 5

เนื้อหาในปุราณะมักจะเน้นเทพเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะ เด่นด้วยแนวคิดเชิงศาสนาและปรัชญา ดำเนินเรื่องให้มีบุคคล (มักจะเป็นฤษี) เป็นผู้เล่าเรื่องให้อีกคนหนึ่งฟัง

คัมภีร์ปุราณะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ มหาปุราณะ และอุปปุราณะ

  1. คัมภีร์ปุราณะในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

กำเนิด

กล่าวกันว่า ฤษีวยาสะ ผู้เล่าเรื่องมหาภารตะ เป็นผู้รวบรวมคัมภีร์ปุราณะ โดยมอบปุราณะสัมหิตาให้แก่ โลมะหรศนะ หลังจากนั้นโลมะหรศนะได้มอบปุราณะสัมหิตาให้แก่ศิษย์ของตนในแต่ละส่วน โดยที่ศิษย์สามคนได้รวบรวมไว้เป็นสัมหิตาของแต่ละคน เรียกว่า มูละสัมหิตา เมื่อนับรวมกับปุราณะสัมหิตาของโลมะหรศนะแล้ว จะนับได้เป็น คัมภีร์ปุราณะ 18 ฉบับ

คัมภีร์ปุราณะได้เหลือรอดจนมาถึงปัจจุบันด้วยสองปัจจัย นั่นคือ วัฒนธรรมของพราหมณ์กับวัฒนธรรมของกษัตริย์ การรวบรวมคัมภีร์ปุราณะครั้งที่2 เกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 2-4 ภายใต้การปกครองของราชวงศ์คุปตะ และพบว่าคัมภีร์ปุราณะก็ได้พัฒนาไปอีก500-1,000 ปี และถูกเก็บรักษาโดยพราหมณ์ นอกจากนี้นักวิชาการตะวันตกยังมีความเห็นว่าปุราณะอาจถูกส่งต่อกันมาทางมุขปาฐะก่อนที่จะมีการอ่าน หรือการเขียนบันทึก


ประเภทของคัมภีร์ปุราณะในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

1.     มหาปุราณะ

คัมภีร์มหาปุราณะประกอบด้วย18 ฉบับ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 6 ฉบับ ได้แก่

ลำดับที่ ปุราณะ จำนวนโศลก เนื้อหาโดยคร่าว
1 อคฺนิ ปุราณะ 15,400 ประกอบด้วยข้อมูลเชิงสารานุกรม ได้แก่ ภูมิศาสตร์ของเมืองมิถิลา (พิหาร และรัฐต่างๆโดยรอบ) ประวัติวัฒนธรรม, รัฐศาสตร์, ระบบการศึกษา, ประติมานวิทยา, ทฤษฎีการจัดเก็บภาษี, กลาโหม, ตำราพิชัยสงคราม, การทูต, กฎหมายท้องถิ่น, การสร้างสาธารณูปโภค, การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ, พฤกษศาสตร์, การแพทย์, วัสดุศาสตร์เชิงสถาปัตยกรรม, อัญมณีศาสตร์, ไวยากรณ์, ฉันทลักษณ์, กวีนิพนธ์, อาหาร, พิธีกรรม และอื่นๆอีกมากมาย
2 ภควตะ ปุราณะ 18,000 ถือว่าเป็นปุราณะที่สำคัญและได้รับการศึกษาค้นคว้าวิจัยมาก เป็นปุราณะที่เล่าถึงการอวตารของพระวิษณุ และไวษณพนิกาย นอกจากนี้ยังประกอบด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับวงศาวิทยาของราชวงศ์ต่างๆที่ยังเป็นข้อถกเถียง เพราะมีความไม่สอดคล้องกับหลักฐานเชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่พบ ปรากฏว่ามีหลากหลายฉบับและหลากหลายภาษา และถือว่าเป็นปุราณะที่ส่งอิทธิพลต่อกระบวนการผู้ยึดมั่นในภักติ (Bhakti Movement)
3 พฺรหฺม ปุราณะ 10,000 สามารถเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า อธิ ปุราณะ เนื่องจากมีปุราณะจำนวนหลายฉบับระบุว่าเป็นปุราณะฉบับแรก ประกอบด้วย 245 บท อีกทั้งยังสามารถเจอโศลกที่อยู่ในพฺรหฺม ปุราณะ ในปุราณะฉบับอื่นๆ เช่น วิษฺณุ ปุราณะ, วายุ ปุราณะ, มารกณฺเฑยะ ปุราณะ และ มหาภรตะ

เนื้อหาที่ปรากฏในพฺรหฺม ปุราณะ ได้แก่  เทพปกรณัม, พิชัยสงคราม, งานศิลปะที่พบในวิหารต่างๆ, วัฒนธรรมทั่วไป, สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในแคว้นโอดิสสา, การถอผ้าโดยนำแนวความคิดมาจากพระวิษณุและพระศิวะ แต่ไม่ค่อยปรากฏการเอ่ยถึงพระพรหมในปุราณะนี้

4 พฺรหฺมาณฺฑ ปุราณะ 12,000 ถือว่าเป็นหนึ่งในคัมภีร์ปุราณะที่เก่าแก่ที่สุดฉบับหนึ่ง ประกอบด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับวงศาวิทยาของราชวงศ์ต่างๆที่ยังเป็นข้อถกเถียง รวมทั้ง ลลิตา สหัสรนัม, กฎหมายอาญา, ระบบการปกครอง, การบริหารจัดการ, การทูต, พาณิชยศาสตร์, จริยศาสตร์,

ต้นฉบับลายมือของพฺรหฺมาณฺฑ ปุราณะ ที่ถือว่าเก่าแก่ฉบับหนึ่งถูกพบในวรรณกรรมศาสนาฮินดูของบาลี ประเทศอินโดนีเซีย

5 พฺรหฺมไววรฺต ปุราณะ 18,000 ในพฺรหฺมไววรฺต ปุราณะ จะเน้นไปที่เรื่องราวของกฤษณะและรธา อีกทั้งบรรยายสภาพภูมิศาสตร์และแม่น้ำต่างๆ เช่น แม่น้ำคงคา เป็นต้น
6 ครุฑะ ปุราณะ 19,000 รวบรวมเนื้อหาเชิงสารานุกรมที่มีหัวข้อหลากหลาย แต่ข้อมูลหลักได้แก่ พระวิษณุและเทพเจ้าทั้งหลาย รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างพระศิวะ พระวิษณุ และพระพรหม และบทสนทนาระหว่างครุฑกับพระวิษณุที่ปรากฏอยู่ในหลายบท

นอกจากนั้นยังประกอบด้วยเนื้อหาด้านจักรวาลวิทยา และความสัมพันธ์ระหว่างจักรวาลและเทพเจ้า, จริยศาสตร์, ปรัชญาฮินดูสำนักต่างๆ, ทฤษฎีโยคะ, ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างสวรรค์และนรก, กรรมและการกำเนิดใหม่, การถกเถียงทางปรัชญาในประเด็นความรู้แบบIntuition Knowledgeอันเป็นวิถีแห่งการบรรลุโมกษะ, รวมถึงภูมิศาสตร์และแม่น้ำต่างๆในดินแดนภารตะ และประเทศต่างๆ, ประเภทของหินและอัญมณี, การตรวจสอบอัญมณี, โรคภัยต่างๆและอาการ, สมุนไพรต่างๆ, ยากระตุ้นอารมณ์ทางเพศ, การป้องกันโรคต่างๆ, ปฏิทินตามคติฮินดู และพื้นฐานด้านดาราศาสตร์, สถาปัตยกรรม, พิธีกรรม, คุณธรรมต่างๆ, เศรษฐศาสตร์, รัฐศาสตร์, วรรณคดี, ไวยากรณ์ เป็นต้น

ในบทหลังๆของครุฑะ ปุราณะ จะเกี่ยวกับการปฏิบัติตามหลักโยคะ ทั้งสังขยะและอไทวตะ การพัฒนาตนเอง และประโยชน์ของIntuition Knowledge

7 กูรฺม ปุราณะ 17,000 เนื้อหาประกอบด้วยตำนานความสัมพันธ์กันระหว่างพระวิษณุและพระศิวะ ปกรณัมปรัมปรา การจาริกแสวงบุญ และเทววิทยา
8 ลิงฺค ปุราณะ 11,000 เนื้อหาประกอบด้วยข้อถกเถียงต่างๆเกี่ยวกับลิงก์ อันเป็นสัญลักษณ์ของพระศิวะ และการกำเนิดจักรวาล ตามมุมมองของไศวนิกาย อีกทั้งยังรวบรวมเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับลิงก์ อาทิ อัคนีลิงก์
9 มารกณฺเฑยะ ปุราณะ 9,000 บรรยายลักษณะของเทือกเขาวินธัยและดินแดนทางภาคตะวันตกของอินเดีย สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในหุบเขานารมทาและแม่น้ำตาปที ในแคว้นมหาราษฏร์และคุชราต เชื่อว่าประพันธ์โดยฤๅษีมารกณฺเฑยะ ศิษย์ของพระพรหม ประกอบด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับธรรมะ, มหาภารตะ, และเทวีมหาตมยา
10 มสฺย ปุราณะ 14,000 เนื้อหามีลักษณะเป็นสารานุกรมที่รวบรวมเรื่องราวต่างๆ โดยเฉพาะมัสยอวตาร อวตารแรกของพระวิษณุ, เรื่องราวเกี่ยวกับพระพรหมและพระสรัสวตี และวงศาวิทยาของกษัตริย์ต่างๆ

สันนิษฐานว่าถูกเขียนขึ้นทางภาคตะวันตกของอินเดีย เนื่องจากการบรรยายสภาพภูมิศาสตร์ของแม่น้ำนารัมทา

11 นารท ปุราณะ 25,000 นารท ปุราณะ หรือ นารทิยา ปุราณะ จะมีเนื้อหาข้อถกเถียงเกี่ยวกับพระเวททั้ง4 และเวทางคะทั้ง 6 รวมทั้งข้อถกเถียงเกี่ยวกับปรัชญาต่างๆ การหลุดพ้น ดาราศาสตร์ ตำนานต่างๆ และคุณลักษณะของเทพต่างๆ

นอกจากนี้ยังให้ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ เช่น แม่น้ำสายสำคัญของอินเดีย สถานที่จาริกแสวงบุญ และข้อมูลนำเที่ยวในแต่ละสถานที่

12 ปทฺม ปุราณะ 55,000 ถือว่าเป็นปุราณะขนาดใหญ่ประกอบด้วยเนื้อหาที่หลากหลาย อาทิ จักรวาลวิทยา โลกและธรรมชาติของชีวิตในมุมมองของพระวิษณุ เทศกาลและตำนานต่างๆ สภาพภูมิศาสตร์และแม่น้ำต่างๆและพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย จนถึงอาณาจักรตรีปุระ ที่ตั้งอยู่ในเขตเบงกอล, มหาฤษีต่างๆ, อวตารของพระวิษณุต่างๆและบทบาทของพระศิวะ, เรื่องราวของพระรามและนางสีดาที่ไม่เหมือนในคัมภีร์อิติหาสะ

ปทฺม ปุราณะ จะมีความแตกต่างกันแบ่งเป็นฉบับอินเดียใต้ และ อินเดียเหนือ รวมทั้งภาษาที่ใช้ ทำให้เนื้อหาใน 2 ฉบับนี้มีความแตกต่างและไม่ตรงกัน

13 ศิวะ ปุราณะ 24,000 ประกอบด้วยเรื่องราวของพระศิวะเป็นหลัก
14 สกันทะ ปุราณะ 81,000 เล่าเรื่องการกำเนิดพระสกันทะ หรือ การติเกยะ บุตรแห่งพระศิวะ ถือว่าเป็นปุราณะที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งรวมรวมข้อมูลเกี่ยวกับข้อแนะนำการจาริกแสวงบุญในสถานที่ต่างๆ ข้อมูลเชิงตำนาน ภูมิศาสตร์ของแต่ละสถานที่จาริกแสวงบุญต่างๆ นิยายเปรียบเทียบ บทสวดต่างๆ เป็นต้น
15 วามนะ ปุราณะ 10,000 ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอินเดียทางภาคเหนือ โดยเฉพาะอาณาเขตเชิงเขาหิมาลัย
16 วราหะ ปุราณะ 24,000 เรื่องราวหลักในปุราณะนี้จะเกี่ยวกับการปฏิบัติบูชาพระวิษณุ รวมทั้งอวตารของพระวิษณุในรูปแบบของวราหะ และภาพประกอบเกี่ยวกับพระศิวะและพระแม่ทุรคา

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลการท่องเที่ยวจากเมืองมธุราไปยังเนปาลที่จำนวนบทขนาดใหญ่

17 วายุ ปุราณะ 24,000 สันนิษฐานว่ามีอายุเก่าแก่ที่สุดในบรรดามหาปุราณะ มีอีกชื่อหนึ่งว่า วยวิยะ ปุราณะ เล่าเรื่องกล่าวถึงการถึงการศึกษาของอัล บิรูนี ชาวเปอร์เซียที่เดินทางเข้ามายังอินเดียในศตวรรษที่11 อีกทั้งการถกเถียงเกี่ยวกับพิธีกรรม ชีวิตครอบครัว และชีวิตในช่วงวัยต่างๆ

เนื้อหาในวายุ ปุราณะ บางส่วนจะปรากฏในมารกณฺเฑยะ ปุราณะ มีการบรรยายลักษณะของอินเดียใต้ โดยเฉพาะ เตลันกานา และ อันตรประเทศ และข้อมูลวงศาวิทยาของกษัตริย์ที่ยังเป็นข้อถกเถียง

18 วิษฺณุ ปุราณะ 23,000 เป็นปุราณะที่ถือว่ามีผู้ศึกษามากที่สุดฉบับหนึ่ง เนื้อหา ฉบับที่ถือว่าเก่าแก่ที่สุดคือฉบับในศตวรรษที่ 15 ซึ่งมีความแตกต่างจากเนื้อหาในฉบับปัจจุบัน โดยเฉพาะบทที่กล่าวถึงข้อถกเถียงในพุทธศาสนาและศาสนาเชน และบางบทก็กล่าวถึงดินแดนแคชเมียร์และปัญจาบ

วิษณุ ปุราณะถูกเก็บรักษาอย่างดีหลังจากศตวรรษที่ 17 แต่ก็มีความไม่สอดคล้องกันส่วนของเนื้อหา

เนื้อหาเรื่องเล่าส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ไวษณพนิกาย และข้อมูลวงศาวิทยาของกษัตริย์ที่ยังเป็นข้อถกเถียง

ในขณะเดียวกัน คัมภีร์มหาปุราณะสามารถแบ่งแยกประเภทตามเทพเจ้าต่างๆ เนื่องจากในคัมภีร์มหาปุราณะทั้ง 18 คัมภีร์นี้จะมีเนื้อหาที่คละกัน ได้แก่

1.         พรหมเทพ         ปรากฏใน พฺรหฺม ปุราณะ และ ปทฺม ปุราณะ

2.         สุริยเทพ             ปรากฏใน พฺรหฺมไววรฺต ปุราณะ

3.         อัคนีเทพ            ปรากฏใน อคฺนิ ปุราณะ

4.         ไศวเทพ             ปรากฏใน ศิวะ ปุราณะ, ลิงฺค ปุราณะ, สกันทะ ปุราณะ, วราหะ ปุราณะ,วามนะ ปุราณะ, กูรฺม ปุราณะ, มารกณฺเฑยะ ปุราณะ และ พฺรหฺมาณฺฑ ปุราณะ

5.         ไวศณพเทพ       ปรากฏใน วิษฺณุ ปุราณะ, ภควตะ ปุราณะ, นารท ปุราณะ, ครุฑะ ปุราณะ, วายุ ปุราณะ, วราหะ ปุราณะ และ มสฺย ปุราณะ เป็นต้น


ในส่วนของคัมภีร์ ปทฺม ปุราณะ (ในบทอุตตรกันท์) คัมภีร์มหาปุราณะที่ระบุถึงไตรคุณะ ได้แก่ สัตวะ, รชะ และ ตมัส นั้น สามารถพบเจอได้ในคัมภีร์มหาปุราณะได้อีก ดังนี้

1.         สัตวะ          ปรากฏใน วิษฺณุ ปุราณะ, ภควตะ ปุราณะ, นารท ปุราณะ, ครุฑะ ปุราณะ, ปทฺม ปุราณะ และ วราหะ ปุราณะ,

2.         รชะ ปรากฏใน พฺรหฺมาณฺฑ ปุราณะ, พฺรหฺมไววรฺต ปุราณะ มารกณฺเฑยะ ปุราณะ,วามนะ ปุราณะ, และ พฺรหฺม ปุราณะ เป็นต้น

3.         ตมัส           ปรากฏใน ศิวะ ปุราณะ, ลิงฺค ปุราณะ,มสฺย ปุราณะ, กูรฺม ปุราณะ, สกันทะ ปุราณะ และ อคฺนิ ปุราณะ


2.     อุปปุราณะ

ความแตกต่างระหว่างมหาปุราณะกับอุปปุราณะ คือ คัมภีร์อุปปุราณะเป็นที่รู้จักน้อยกว่า คัมภีร์อุปปุราณะประกอบด้วย 18 คัมภีร์ ได้แก่

  1. สนัทกุมาร ปุราณะ
  2. นรสิงหะ ปุราณะ
  3. พฤหันนรดิยะ ปุราณะ
  4. ศิวรหัสยะ ปุราณะ
  5. ทุรวาสะ ปุราณะ
  6. กปิละ ปุราณะ
  7. ภารหวะ ปุราณะ
  8. วรุณะ ปุราณะ
  9. กาลิกะ ปุราณะ
  10. ศัมพะ ปุราณะ
  11. นันทิ ปุราณะ
  12. สุรยะ ปุราณะ
  13. ปรสระ ปุราณะ
  14. วสิษฐะ ปุราณะ
  15. เทวีภควตา ปุราณะ
  16. คเณศ ปุราณะ
  17. มุดกละ ปุราณะ
  18. หัมสะ ปุราณะ


ในคัมภีร์อุปปุราณะ สามารถแบ่งประเภทตามการกล่าวอ้างถึงเทพต่างๆได้เช่นกัน อาทิ คเณศ ปุราณะ และ มุดกละ ปุราณะ จะกล่าวถึงพระคเณศ และ เทวีภควตา ปุราณะ เมื่อรวมกับบท เทวี มหาตมยา ในมารกณฺเฑยะ ปุราณะ จะเรียกว่า มหาภควตา ปุราณะ หรือ เทวี ปุราณะ


คัมภีร์ปุราณอื่นๆที่ไม่ได้ถูกจัดประเภทในมหาปุราณะและอุปปุราณะ

1.         สถาละ ปุราณะ

เป็นคัมภีร์ปุราณะที่เล่าเรื่องราวของโบสถ์และวิหารของพระศิวะในวัฒนธรรมทมิฬเป็นหลัก ประพันธ์ขึ้นโดยชนชาวพื้นเมือง โดยที่แต่ละวิหารของพระศิวะจะมีคัมภีร์ปุราณะของตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในวรรณกรรมทมิฬ บางฉบับพบว่ามีอยู่ในเนื้อหาของมหาปุราณะและอุปปุราณะโดยใช้ภาษาสันสกฤตเป็นหลัก


ลักษณะของคัมภีร์ปุราณะในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

ในคัมภีร์ปุราณะต่างๆ อาทิ มสฺย ปุราณะ ระบุว่า ลักษณะของคัมภีร์ปุราณะจะต้องประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ หรือ ปัญจลักษณะ ได้แก่

1.         สรฺค                  การกำเนิดโลกและสรรพสิ่ง

2.         ปรฺติสรฺค            การทำลายล้างโลกและสรรพสิ่ง รวมทั้งการกำเนิดใหม่

3.         วํศ                    วงศ์ของฤษี เทพ  และกษัตริย์ทั้งหลาย

4.         มนฺวนฺตฺร           วัฏจักรของจักรวาล เรื่องราวของดลกครั้นเมื่อพระมนุปกครอง

5.         วํศานุจริต          ตำนานต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงกษัตริย์ต่างๆ


แต่อย่างไรก็ตาม ในคัมภีร์ปุราณะบางฉบับ เช่น ภควตะ ปุราณะ ได้เพิ่มลักษณะของคัมภีร์ปุราณะอีก 5 ประการ ได้แก่

1.         อุทยะ                ผลของกรรมที่เกี่ยวเนื่องกันระหว่างเทพ ฤๅษี กษัตริย์ และสรรพสิ่งต่างๆ

2.         อิศนุกถา           นิทานต่างๆเกี่ยวกับเทพ

3.         นิโรธะ               บทสรุป การจบสิ้น

4.         มุกติ                 โมกษะ การหลุดพ้นทางจิตวิญญาณ

5.         อศรยะ              การพำนัก


2. คัมภีร์ปุราณะในศาสนาเชน

คัมภีร์ปุราณะในศาสนาเชนก็ไม่ต่างจากคัมภีร์ปุราณะในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในแง่ความเป็นตัวบทที่รวมรวมองค์ความรู้ความเชื่อในศาสนาจำนวนมาก หากแต่ในศาสนาเชนไม่ได้ยึดถือว่าคัมภีร์ปุราณะเป็นวรรณกรรมเนื่องในศาสนา หรือ อาคม หากแต่มีสถานะเป็น อนุโยคะ หรือ อรรถกถาเพื่ออธิบายเพิ่มเติม

คัมภีร์ปุราณะในศาสนาเชน มิได้เป็นวรรณกรรมที่ถูดจดจารเป็นลายลักษณ์อักษรตั้งแต่ต้น หากแต่ถูกจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในภายหลังโดยแบ่งไปตามหัวข้อเรื่อง

อ้างอิง แก้

https://en.wikipedia.org/wiki/Puranas สถิตย์ ไชยปัญญา. (2563). ประวัติวรรณคดีสันสกฤต. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.