ปางโปรดอสุรินทราหู

ปางโปรดอสุรินทราหู เป็นพระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถ นอนตะแคงขวา พระบาททั้งสองข้างซ้อนทับเสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นรับพระเศียรและมีพระเขนย (หมอน) รองรับ บางแบบพระเขนยวางอยู่ใต้พระกัจฉะ (รักแร้) ลักษณะเดียวกับปางปรินิพพานและปางทรงพระสุบิน หรือเรียกโดยทั่วไปว่า พระปางไสยาสน์

พระพุทธรูปปางโปรดอสุรินทราหู ที่เป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมวารสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ

ประวัติ แก้

ในสมัยที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ วัดเชตวันมหาวิหาร ในนครสาวัตถี อสุรินทราหูซึ่งเป็นอสูรอุปราชของท้าวเวปจิตติอสุรบดินทร์ผู้ครองอสูรพิภพ ได้สดับพระเกียรติคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากเหล่าเทวดาทั้งหลาย จึงมีความประสงค์จะฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์ แต่คิดว่าพระพุทธองค์เป็นมนุษย์มีพระวรกายเล็ก ตนเองมีร่างกายใหญ่หากไปเฝ้าก็จะต้องก้มลงมองด้วยความลำบาก เมื่ออสุรินทราหู ไปเข้าเฝ้าสำคัญตัวว่ามีร่างกายใหญ่โตใหญ่กว่าพระพุทธเจ้า จึงไม่ยอมแสดงความอ่อนน้อม พระพุทธองค์ทรงประสงค์จะลดทิฐิของอสุรินทราหูอสูร จึงทรงเนรมิตกายให้ใหญ่โตกว่าอสุรินทราหูอสูร ทรงนอนในลักษณะเสด็จสีหไสยาสน์ พระเศียรหนุนภูเขาต่างพระเขนย พระบาททั้งสองข้างที่วางซ้อนกันอยู่ สูงใหญ่กว่าอสุรินทราหู อสุรินทราหูต้องแหงนคอเพื่อชมพุทธลักษณะ พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงปาฏิหาริย์พาอสุรินทราหูขึ้นไปยังพรหมโลก บรรดาพรหมทั้งหลายมีร่างกายเล็กกว่าพระพุทธองค์และต่างมองอสุรินทราหูเหมือนประหนึ่งมนุษย์ดูมดปลวกตัวเล็กๆ อสุรินทราหูเกิดความกลัวต้องหลบอยู่ข้างหลังพระพุทธองค์ นับแต่นั้นมาก็ลดทิฐิมานะ อ่อนน้อมต่อพระพุทธองค์ และเมื่อได้สดับฟังพระธรรมเทศนาจึงเกิดความเลื่อมใส ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่งสูงสุดแห่งชีวิต

อ้างอิง แก้

  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ตำนานพุทธเจดีย์. ธนบุรี  : โรงพิมพ์รุ่งวัฒนา, 2513.
  • เรื่องพระพุทธรูปปางต่างๆ หลวงบริบาลบุรีรัตน์ และนายเกษม บุญศรี (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์ขึ้นเพื่อพระราชทานในงานพระราชกุศลราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2500)
  • สกุลศิลปพระพุทธรูปในประเทศไทย อาจารย์จิตร บัวบุศย์
  • ศิลปในประเทศไทย ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิสกุล