ปากกาทะเล
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: แคมเบรียน-ปัจจุบัน
ปากกาทะเลชนิด Pennatula phosphorea
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Cnidaria
ชั้น: Anthozoa
ชั้นย่อย: Octocorallia
อันดับ: Pennatulacea
Verrill, 1865
วงศ์

ปากกาทะเล (อังกฤษ: Sea pens) เป็นสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลังจำพวกหนึ่ง ที่อยู่ในอันดับ Pennatulacea จัดเป็นแอนโธซัวอย่างหนึ่ง มีลักษณะใกล้เคียงกับปะการังอ่อน โดยแต่ละโพลิปมีหนวดจำนวน 8 เส้น โคโลนีของปากกาทะเลแต่ละชนิดมีรูปร่างแตกต่างกันออกไป บางชนิดเป็นท่อนคล้ายฝักข้าวโพด บางชนิดเป็นแท่งยาวคล้ายกิ่งไม้ก้านเดียว คล้ายแท่งปากกา อันเป็นที่มาของชื่อสามัญ และบางชนิดคล้ายขนนก สีของปากกาทะเลส่วนใหญ่มีสีครีม, สีเหลืองและสีม่วงอ่อน

ปากกาทะเลทุกชนิดอาศัยอยู่รวมกันเป็นโคโลนีเช่นเดียวกับกัลปังหาและปะการังอ่อน ด้านล่างเป็นด้ามใช้สำหรับฝังลงไปในทะเลที่เป็นโคลน หรือโคลนปนทราย ส่วนบนที่อยู่ของโพลิปรูปร่างเป็นทรงกระบอก สามารถยืดหดตัวจากเนื้อเยื่อของโคโลนีเพื่อจับเหยื่อ แต่ละโคโลนีมีโพลิปหรือตัวปากกาทะเลนับร้อยตัว

ปากกาทะเลทุกชนิดอาศัยอยู่ตามพื้นทะเล โดยเฉพาะบริเวณที่มีกระแสน้ำไหลผ่าน เพราะโพลิปจะได้รับแพลงก์ตอนที่พัดมากับกระแสน้ำและได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ

ปากกาทะเลรูปขนนกมีแขนงแตกออกทางด้านข้าง มักมีปูตัวแบนขนาดเล็กอาศัยอยู่แบบเกื้อกูลกัน ส่วนใหญ่มักพบปูอาศัยกันเป็นคู่ ซึ่งปูจำพวกนี้ไม่พบอยู่อย่างอิสระตามลำพัง แต่อาศัยปากกาทะเลเป็นที่พักพิง หาอาหาร และช่วยเก็บกินเศษอินทรีย์ที่ติดอยู่ตามผิวลำตัวของปากกาทะเล จึงทำหน้าที่คล้ายแม่บ้านหรือพนักงานทำความสะอาดให้กับปากกาทะเลด้วย

ปากกาทะเลมีคุณสมบัติอยู่อย่างหนึ่งคือ ความสามารถในการเรืองแสงได้ในที่มืด ซึ่งการเรืองแสงอาจเกิดเป็นบางส่วนหรือเกิดพร้อมกันทั้งโคโลนีก็ได้ เหตุนี้บริเวณพื้นทะเลบางแห่งที่มีปากกาทะเลอาศัย จึงอาจมีแสงเรืองคล้ายไฟใต้น้ำส่องสว่างด้วย

เนื่องจากปากกาทะเลอาศัยอยู่ตามพื้นทะเล จึงมักติดอวนลากของชาวประมงซึ่งลากสัตว์น้ำหน้าดินขึ้นมา แต่ปากกาทะเลไม่สามารถนำมาบริโภคได้ จึงถูกนำไปทำอาหารสัตว์ปะปนกับปลาเป็ด การศึกษาตัวอย่างของปากกาทะเลจึงกระทำได้ง่ายวิธีหนึ่งคือ การเก็บจากท่าเทียบเรือประมงนั่นเอง

ปากกาทะเล โดยมากเป็นสัตว์ทะเลที่มักไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก จึงมีการศึกษาน้อยมาก ในน่านน้ำไทยเชื่อว่ามีปากกาทะเลอยู่อย่างน้อย 2 ชนิด [2]

โดยแบ่งออกได้เป็น 2 อันดับย่อย มีทั้งหมด 14 วงศ์ (ดูในตาราง)[1]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 จาก itis.gov
  2. สุรินทร์ มัจฉาชีพ. 2540. เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสัตว์ทะเล. สำนักพิมพ์แพร่พิทยา, กรุงเทพฯ. 152 หน้า

แหล่งข้อมูลอื่น แก้