ปลาไน
ปลาไนสายพันธุ์ดั้งเดิม (ไวลด์ไทป์)
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Cypriniformes
วงศ์: Cyprinidae
สกุล: Cyprinus
สปีชีส์: C.  carpio
ชื่อทวินาม
Cyprinus carpio
(Linnaeus, 1758)
ชนิดย่อย
  • Cyprinus carpio carpio (ปลาคาร์ปยุโรป) พบในยุโรปตะวันออก (แม่น้ำโวลก้า, แม่น้ำดานูบ)[2][3]
  • Cyprinus carpio yilmaz (ปลาคาร์ปเดนิซ) พบในแองโกเลียตุรกี (รอบ ๆ โครัม) และรัฐวิคตอเรีย ออสเตรเลีย (รอบ ๆ ลำธารเมอร์รีและทะเลสาบโคเบิร์ก)
  • Cyprinus carpio haematopterus (ปลาคาร์ปอามูร์) เป็นปลาที่พบในจีน ญี่ปุ่นและเกาหลี [3][4]
  • Cyprinus carpio rubrofuscus พบใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้[3] ซึ่งอาจถือเป็นชนิดที่แยกออกมาจากปลาชนิด Cyprinus rubrofuscus โดยนักอนุกรมวิธานหลายท่าน[5]

ปลาไน หรือ ปลาคาร์ปธรรมดา (อังกฤษ: carp, common carp) ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cyprinus carpio อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) เป็นปลาน้ำจืดที่เชื่อว่าเป็นปลาที่มนุษย์เลี้ยงเป็นชนิดแรกของโลกเพื่อเป็นอาหาร โดยเลี้ยงในประเทศจีนเมื่อประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว โดยเริ่มพร้อมกับปลาทอง [6]

รูปร่าง แก้

เป็นปลาที่มีรูปร่างป้อม แบนข้างเล็กน้อย ส่วนหัวลาด ปากมีขนาดเล็ก มีหนวดสั้น 2 คู่ ครีบหลังค่อนข้างยาว ครีบหางเป็นเว้าแฉกลึก สีลำตัวมีสีน้ำตาลคล้ำอมทองหรือน้ำตาลอ่อน ท้องสีจาง บางตัวอาจมีสีสัน ปลาตัวผู้ในฤดูผสมพันธุ์จะมีตุ่มสิวขึ้นบริเวณใบหน้า และครีบอก ผสมพันธุ์และวางไข่ได้ทุกฤดูโดยวางติดกับพืชน้ำ

ปลาไนมีขนาดโตเต็มที่ได้มากกว่า 1.5 เมตร (สถิติที่เคยพบว่าใหญ่ที่สุด คือ หนักเกือบ 31 กิโลกรัม อายุประมาณ 25 ปี ที่บ่อตกปลาแห่งหนึ่งใกล้เมืองเรดิง แคว้นบาร์กเชอร์ ประเทศอังกฤษ เป็นปลาชื่อ "พาร์ร็อต" (Parrot)[7]) สามารถวางไข่ได้ถึง 1 แสนฟอง ชอบอาศัยรวมเป็นฝูงในแหล่งน้ำไหลเชี่ยว และสามารถปรับตัวได้ทุกสภาพแหล่งน้ำ แต่จะไม่วางไข่ในแหล่งน้ำนิ่ง เป็นปลาพื้นเมืองของประเทศจีนตะวันตกและภูมิภาคยุโรปตะวันออก แต่ในบางภูมิภาค เช่น ออสเตรเลีย ปลาไนได้ถูกนำเข้าและถูกปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาต้ จนแพร่ขยายพันธุ์กระทบต่อสัตว์น้ำพื้นเมืองเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ มีฉายาเรียกว่า "กระต่ายแม่น้ำ" (River Rabbit)[6] รวมถึงในประเทศไทยด้วย[8]

การรับประทาน แก้

ปลาไนมีชื่อเรียกในภาษาแต้จิ๋วว่า หลีฮื้อ (จีนตัวเต็ม: 鯉魚) (ในภาษาไทยเรียกรวมกับปลาชนิดอื่นที่มีความใกล้เคียงกันว่า ปลาจีน) นิยมบริโภคด้วยการปรุงสด จัดเป็นปลาที่มีรสชาติดี เนื้อนุ่ม อร่อย และมีราคาแพง

ในประเทศไทยถูกนำเข้าโดยชาวจีนที่เดินทางมาทางเรือ ในปี ค.ศ. 1922 เพื่อเป็นอาหาร และได้ถูกเลี้ยงครั้งแรกในพื้นที่แถบกรุงเทพมหานครและปริมณฑล[6]

ปลาไน เป็นปลาที่มีความเชื่อของชาวจีนและชาวญี่ปุ่นว่า เมื่อได้รับประทานแล้วจะพบกับความเป็นสิริมงคล เป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าและแข็งแกร่ง ที่ประเทศญี่ปุ่นมีฟาร์มเลี้ยงปลาไนที่ขึ้นชื่อที่สุด อยู่ที่เมืองอุกิฮะ จังหวัดฟุกุโอกะ รวมถึงเมืองโคริยะมะ จังหวัดฟุกุชิมะ[9] เนื่องจากมีแหล่งน้ำที่ใสสะอาด เหมาะแก่การอยู่อาศัยของปลาไน โดยเปิดให้น้ำจากแม่น้ำไหลเข้าบ่อเลี้ยง น้ำที่ใช้เลี้ยงจะวนตลอดเพื่อให้ปลาว่ายทวนน้ำเหมือนในธรรมชาติ เนื้อของปลาไนเหมาะกับมารดาที่มีลูกอ่อน เมื่อได้รับประทานแล้วจะช่วยในการบำรุงน้ำนม เมื่อปรุงจะแล่ปลาขณะที่ยังเป็น ๆ อยู่ และหากจะรับประทานเป็นปลาดิบ จะแล่เป็นชิ้นบาง ๆ เนื้อของปลาไนจะมีสีแดงสด[10]

ปลาสวยงาม แก้

ดูบทความหลักที่ ปลาแฟนซีคาร์ป

เช่นเดียวกับปลาทอง ประเทศญี่ปุ่นได้พัฒนาสายพันธุ์ดั้งเดิมของปลาไน ให้เป็นปลาสวยงาม มีสีสันและรูปร่างที่สวยงามขึ้นมาเป็นระยะเวลานาน เรียกว่า ปลาแฟนซีคาร์ป (ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า 錦鯉 nishikigoi) เป็นสายพันธุ์ต่าง ๆ เช่น ซังโกกุ, โคฮากุ, ตันโจ เป็นต้น โดยมีการประกวดและทำฟาร์มเพาะเลี้ยงจนกลายเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น เช่น เทศกาลเด็กผู้ชายที่เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกปีที่บ้านที่มีเด็กผู้ชายจะประดับด้วยธงรูปปลาคาร์ปที่หน้าบ้าน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแรง เป็นต้น และเป็นที่รับรู้ในระดับสากลว่า ปลาคาร์ปเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งผู้ที่เลี้ยงปลาคาร์ป มักนิยมเลี้ยงรวมเป็นฝูงขนาดใหญ่ในบ่อเลี้ยงขนาดใหญ่ที่มีระบบน้ำวน มีการจัดการน้ำที่ดี ในสวนแบบญี่ปุ่น

นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นปลาที่ได้รับการบันทึกกว่ามีอายุยืนที่สุดในโลกอีกด้วย ได้แก่ ปลาที่ชื่อ "Hanako" (花子) โดยมีชีวิตอยู่ตั้งแต่ยุคเอโดะ ก่อนที่จะตายลงในยุคโชวะ รวมอายุได้ 226 ปี[11]

รูปภาพ แก้

อ้างอิง แก้

  1. Freyhof, J. & Kottelat, M. (2011). "Cyprinus carpio". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2011.1. สืบค้นเมื่อ June 23, 2011.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  2. Fishbase: Cyprinus carpio carpio Linnaeus, 1758
  3. 3.0 3.1 3.2 Jian Feng Zhou, Qing Jiang Wu, Yu Zhen Ye & Jin Gou Tong (2003). Genetic divergence between Cyprinus carpio carpio and Cyprinus carpio haematopterus as assessed by mitochondrial DNA analysis, with emphasis on origin of European domestic carp Genetica 119: 93–97[ลิงก์เสีย]
  4. Fishbase: Cyprinus carpio haematopterus Martens, 1876
  5. Fishbase: Cyprinus rubrofuscus Lacepède, 1803
  6. 6.0 6.1 6.2 ดร. ชวลิต วิทยานนท์. ปลาน้ำจืดไทย. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์, 2544. 115 หน้า. หน้า 56-57. ISBN 9789744726551
  7. หน้า 7 โลกาภิวัฒน์ GLOBALIZATION, ปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดเมืองผู้ดีลาโลกด้วยวัย 25 ปี. "โลกโศภิณ". ไทยรัฐปีที่ 68 ฉบับที่ 21755: วันจันทร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2560 แรม 7 ค่ำ เดือน 9 ปีระกา
  8. "10 ปลาเอเลี่ยนในเมืองไทย ที่กำลังยึดแหล่งน้ำโดยคุณไม่รู้ตัว". spokedark. August 13, 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-06-30. สืบค้นเมื่อ July 6, 2016.
  9. หน้า 13, หนาวนี้ที่'โคริยามะ' ปลาคาร์พซากุระ ละอองหิมะ กับไร่สตรอเบอรี่หวานฉ่ำ. "ประชาชื่น" โดย พันธุ์ทิพย์ ธีระเนตร. มติชนปีที่ 39 ฉบับที่ 14169: วันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2559
  10. ""กอล์ฟ-เฟิร์น" พาชิม "ปลาคาร์ฟ" วัตถุดิบแห่งความเชื่อ ของชาวญี่ปุ่น". เชพกระทะเหล็กประเทศไทย. 22 January 2014. สืบค้นเมื่อ 4 April 2014.[ลิงก์เสีย]
  11. ["THE STORY OF HANAKO (อังกฤษ)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-20. สืบค้นเมื่อ 2012-10-27. THE STORY OF HANAKO (อังกฤษ)]

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Cyprinus carpio ที่วิกิสปีชีส์