ปลาหมอ

(เปลี่ยนทางจาก ปลาหมอไทย)

ปลาหมอ เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Anabas testudineus ในวงศ์ปลาหมอ (Anabantidae) มีรูปร่างป้อม ลำตัวแบนข้าง ตาโต ปากกว้าง ขอบฝาปิดเหงือกหยักแข็ง เกล็ดใหญ่คลุมทั้งลำตัว มีขอบเกล็ดแบบหยัก ผิวสาก เส้นข้างลำตัวขาดตอน ครีบหลังยาวเกือบเท่าความยาวลำตัว มีก้านครีบแข็งแหลมคมจำนวนมากเช่นเดียวกับครีบก้น แต่ครีบก้นสั้นกว่า ครีบอกเล็กเป็นรูปไข่ ครีบหางปลายมน ตัวมีสีเขียวมะกอกและมีลายประสีคล้ำที่ข้างลำตัว ครีบใส ลำตัวด้านท้องมีสีเหลือง ขอบฝาปิดเหงือกตอนบนมีแต้มสีคล้ำ มีอวัยวะช่วยหายใจเป็นแผ่นริ้วย่น ๆ อยู่ตอนบนของของช่องเหงือก จึงสามารถฮุบอากาศจากบนผิวน้ำได้โดยตรงโดยไม่ต้องรอให้ออกซิเจนละลายในน้ำ และสามารถอยู่บนบกหรือพื้นที่ขาดน้ำได้เป็นระยะเวลานาน ๆ ซึ่งในฤดูฝนบางครั้งจะพบปลาหมอแถกเหงือกไถลคืบคลานไปบนบกเพื่อหาที่อยู่ใหม่ได้ ด้วยความสามารถนี้ ในภาษาอังกฤษจึงเรียกปลาชนิดนี้ว่า "climbing perch" หรือ "climbing gourami"

ปลาหมอ
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: ปลาที่มีก้านครีบ
อันดับ: Anabantiformes
วงศ์: Anabantidae
สกุล: ปลาหมอ (สกุล)
(Bloch, 1792)
สปีชีส์: Anabas testudineus
ชื่อทวินาม
Anabas testudineus
(Bloch, 1792)
ชื่อพ้อง[2]
  • Anthias testudineus Bloch, 1792
  • Amphiprion testudineus (Bloch, 1792)
  • Antias testudineus (Bloch, 1792)
  • Sparus testudineus (Bloch, 1792)
  • Perca scandens Daldorff, 1797
  • Anabas scandens (Daldorff, 1797)
  • Lutjanus scandens (Daldorff, 1797)
  • Sparus scandens (Daldorff, 1797)
  • Amphiprion scansor Bloch & Schneider, 1801
  • Lutjanus testudo Lacepède, 1802
  • Anabas spinosus Gray, 1834
  • Anabas variegatus Bleeker, 1851
  • Anabas macrocephalus Bleeker, 1855
  • Anabas microcephalus Bleeker, 1857
  • Anabas trifoliatus Kaup, 1860
  • Anabas elongatus Reuvens, 1895
ปลาหมอกำลังแถกเหงือกบนบก

ปลาหมอมีความยาวประมาณ 10–13 เซนติเมตร ใหญ่สุดพบถึง 20 เซนติเมตร มีพฤติกรรมการวางไข่โดยตัวผู้และตัวเมียช่วยกันปรับที่วางไข่ โดยวางไข่ลอยเป็นแพ แต่จะปล่อยให้ลูกปลาเติบโตขึ้นมาเอง

ปลาหมอเป็นปลาที่สามารถพบได้ในทุกแหล่งน้ำ กระจายอยู่ทั่วไปในทวีปเอเชีย สำหรับในประเทศไทยพบทุกภาค และเป็นปลาที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี ด้วยใช้เป็นอาหารมาช้านาน และมีความเชื่อว่าหากปล่อยปลาหมอจะทำให้ไม่เป็นโรคหรือหายจะโรคได้ ด้วยชื่อที่มีความหมายถึงหมอหรือแพทย์ผู้รักษาโรค และนิยมเลี้ยงเป็นปลาเศรษฐกิจในปัจจุบัน อีกทั้งในปลาที่มีสีกลายไปจากสีปกติ เช่น สีทองยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามที่มีราคาขายแพงอีกด้วย

ปลาหมอมีชื่อเรียกอื่น ๆ เช่น "ปลาหมอไทย", "ปลาเข็ง" หรือ "ปลาสะเด็ด" ในภาษาอีสาน เป็นต้น[3] ในขณะที่ภาษามลายูปัตตานีเรียกว่า "อีแก ปูยู"[4]

อ้างอิง แก้

  1. Ahmad, A.B.; Hadiaty, R.K.; de Alwis Goonatilake, S.; Fernado, M.; Kotagama, O. (2019). "Anabas testudineus". IUCN Red List of Threatened Species. 2019: e.T166543A174787197. doi:10.2305/IUCN.UK.2019-3.RLTS.T166543A174787197.en. สืบค้นเมื่อ 20 November 2021.
  2. Froese, Rainer and Pauly, Daniel, eds. (2019). "Anabas testudineus" in FishBase. August 2019 version.
  3. "ปลาหมอไทยในบ่อเลี้ยงไม่ยาก ราคาดี". เกษตรออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-20. สืบค้นเมื่อ 2011-06-09.
  4. หน้า 22 เกษตร, เลี้ยงปลาหมอชุมพร 1 ในแปลงเกษตรผสมผสาน. "ตลาดเกษตร". เดลินิวส์ ฉบับที่ 24,494: วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 12 ปีวอก

แหล่งข้อมูลอื่น แก้