ปลาฉลามพยาบาลสีน้ำตาล
ปลาฉลามพยาบาลสีน้ำตาล | |
---|---|
ขณะที่ว่ายขึ้นมาบนผิวน้ำ | |
ในเวลากลางวันจะนอนอยู่นิ่ง ๆ กับพื้นน้ำ | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Chondrichthyes |
ชั้นย่อย: | Elasmobranchii |
อันดับ: | Orectolobiformes |
วงศ์: | Ginglymostomatidae |
สกุล: | Nebrius Rüppell, 1837 |
สปีชีส์: | N. ferrugineus |
ชื่อทวินาม | |
Nebrius ferrugineus (Lesson, 1831) | |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ | |
ชื่อพ้อง | |
สกุล:
ชนิด:
|
ปลาฉลามพยาบาลสีน้ำตาล หรือ ปลาฉลามขี้เซาสีน้ำตาล (อังกฤษ: Tawny nurse shark, Nurse shark, Sleepy shark) เป็นปลาฉลามชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nebrius ferrugineus (นิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า ปลาฉลามพยาบาล หรือ ปลาฉลามขี้เซา[1]) อยู่ในวงศ์ Ginglymostomatidae เป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Nebrius[2]
จัดเป็นปลาฉลามในอันดับ Orectolobiformes หรือปลาฉลามหน้าดินขนาดใหญ่ จะงอยปากยื่นยาว ตาเล็กมาก มีรูหายใจเล็ก ๆ อยู่หลังตา ครีบใหญ่ ปลายครีบแหลม ครีบอกโค้งยาว ครีบหางยาว มีครีบก้น ลำตัวสีน้ำตาลเข้มหรือสีเทาอมน้ำตาลอ่อน และอาจมีจุดกระสีดำเล็ก ๆ กระจายไปทั่ว ซึ่งในครั้งหนึ่งเคยสร้างความสับสนให้แก่แวดวงวิชาการว่ามี 2 ชนิดหรือไม่ แต่ในปัจจุบันได้จัดแบ่งออกมาเป็นอีกชนิด คือ ปลาฉลามพยาบาล (Ginglymostoma cirratum) ซึ่งเป็นปลาฉลามพยาบาลชนิดที่พบได้ในทวีปอเมริกา[3]
มีขากรรไกรที่แข็งแรง ในปากมีฟันที่แบนและงุ้มเข้าภายใน ใช้สำหรับงับอาหารซึ่งได้แก่ ปลาขนาดเล็กกว่าตามหน้าดินและสัตว์มีกระดองและมอลลัสคาต่าง ๆ รวมถึงหอยเม่นให้อยู่และกัดให้แตก โดยใช้อวัยวะที่คล้ายหนวดเป็นเครื่องนำทางและเป็นประสาทสัมผัส จะใช้วิธีการกินด้วยการดูดเข้าปาก
เป็นปลาที่อาศัยและหากินตามพื้นน้ำในความลึกไม่เกิน 70 เมตร ตามกองหินหรือแนวปะการังใต้น้ำ บางครั้งพบได้ใกล้ชายฝั่งหรือป่าชายเลน เนื่องจากเข้ามาหาอาหารกิน[4] ใช้เวลาหากินในเวลากลางคืน และนอนหลับตามโพรงถ้ำหรือกองหินในเวลากลางวัน เป็นปลาที่มักจะอยู่นิ่ง ๆ จึงเป็นที่มาของชื่อเรียก ซึ่งบางครั้งอาจพบรวมตัวกันได้นับสิบตัว[5]
จัดเป็นปลาหน้าดินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบได้แถบอินโด-แปซิฟิก เนื่องจากมีความยาวเกือบ 2 เมตร[1] โดยปกติเป็นปลาที่ไม่ทำอันตรายมนุษย์ จึงเป็นที่ชื่นชอบของนักดำน้ำที่จะถ่ายรูปเช่นเดียวกับ ปลาฉลามเสือดาว (Stegostoma fasciatum) แต่ก็สามารถทำร้ายมนุษย์ได้ หากไปรบกวนเข้าด้วยการกัดและดูดที่ทรงพลัง[4] ในน่านน้ำไทยจะพบได้มากที่ฝั่งทะเลอันดามัน[6][1]
เป็นปลาที่ออกลูกเป็นตัว โดยออกเป็นไข่ ซึ่งตัวอ่อนจะพัฒนาอยู่ในไข่ ออกลูกครั้งละประมาณ 2 ตัว ไม่เกิน 4 ตัว เนื่องจากมี 2 มดลูก โดยตัวอ่อนจะไม่ได้รับอาหารผ่านทางรก แต่จะได้รับอาหารจากถุงไข่แดงแทน ระยะเวลาในการเจริญเติบโตจนฟักเป็นประมาณ 6 เดือน ซึ่งเมื่อคลอดออกมาแล้ว ปลาฉลามพยาบาลสีน้ำตาลจะกัดกินกันเองจนเหลืออยู่เพียงตัวเดียวในมดลูกของแม่ เมื่อแรกเกิดมีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร และมีจุดกระดำกระจายไปทั่ว
เมื่อกลางปี พ.ศ. 2553 มีปลาฉลามพยาบาลสีน้ำตาลตกลูกในที่เลี้ยง (ไม่ใช่แหล่งน้ำธรรมชาติ) ที่สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ สงขลา จังหวัดสงขลา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและโลก[7] และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำแห่งอื่น ๆ ที่มีเลี้ยงนั้น ได้แก่ สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำบึงฉวากเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสุพรรณบุรี และภายในสวนสัตว์ดุสิต หรือ เขาดินวนา ในกรุงเทพมหานคร
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 ดร.ชวลิต วิทยานนท์. คู่มือปลาทะเล. กรุงเทพฯ : สารคดี, 2551. 192 หน้า. หน้า 98. ISBN 978-974-484-261-9
- ↑ Leonard J. V. Compagno (1984). Sharks of the World: An annotated and illustrated catalogue of shark species known to date. Food and Agriculture Organization of the United Nations. pp. 205–207, 555–61, 588.
- ↑ Goto, T. (2001). "Comparative Anatomy, Phylogeny and Cladistic Classification of the Order Orectolobiformes (Chondrichthyes, Elasmobranchii)". Memoirs of the Graduate School of Fisheries Science, Hokkaido University. 48 (1): 1–101. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-16. สืบค้นเมื่อ 2014-12-27.
- ↑ 4.0 4.1 Vacation Nightmares, "Dangerous Encounters". สารคดีทาง new)tv: ศุกร์ที่ 26 ธันวาคม 2557
- ↑ ฉลามขี้เซา....นักล่าแห่งรัตติกาล
- ↑ [https://web.archive.org/web/20110217005548/http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9540000020452 เก็บถาวร 2011-02-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ดำน้ำกับฝูงกระเบนปีศาจ / วินิจ รังผึ้ง จากผู้จัดการออนไลน์]
- ↑ [ลิงก์เสีย] ‘ฉลามขี้เซา’ตกลูกในอะควาเรียม จากไทยโพสต์