ปลาคู้แดง
ปลาขนาดใหญ่ในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำนิวอิงแลนด์
สถานะการอนุรักษ์
Not evaluated (IUCN 3.1)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Characiformes
วงศ์: Characidae
วงศ์ย่อย: Serrasalminae
สกุล: Piaractus
สปีชีส์: P.  brachypomus
ชื่อทวินาม
Piaractus brachypomus
(Cuvier, 1818)
ชื่อพ้อง
  • Colossoma brachypomus
  • Colossoma bidens
  • Colossoma paco
  • Colossoma mitrei
  • Myletes bidens (Spix & Agassiz, 1829)

ปลาคู้แดง หรือ ปลาเปคูแดง (อังกฤษ: Red bellied pacu; ชื่อวิทยาศาสตร์: Piaractus brachypomus) ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาคาราซิน (Characidae) วงศ์ย่อย Serrasalminae มีรูปร่างเหมือนกับปลาปิรันยาแดง (Pygocentrus nattereri) แต่ปลาคู้แดงมีขนาดลำตัวที่ใหญ่กว่า กรามล่างไม่ยื่นยาวออกมาและลักษณะของฟันไม่แหลมคมเหมือนกับปลาปิรันยาแดง เกล็ดมีขนาดเล็กละเอียด มีสีสันแวววาวเหมือนกับปลาปิรันยาแดง แต่ในส่วนของสีแดงไม่เข้มเท่า แต่ลูกปลาวัยอ่อนมีจุดกลมสีแดงเหมือนกัน และจุดเหล่านี้จะค่อย ๆ เล็กลงและหายไปเมื่อปลาโตขึ้น

ปลาคู้แดง มีขนาดโตเต็มที่ยาวได้ 80 เซนติเมตร น้ำหนักหนัก 25 กิโลกรัม (ขนาดและน้ำหนักโดยเฉลี่ยคือ 45 เซนติเมตร และน้ำหนัก 2-3 กิโลกรัม) มีถิ่นกำเนิดในลุ่มแม่น้ำอเมซอนและแม่น้ำโอริโนโคในประเทศอาร์เจนตินา

นิยมอยู่รวมกันเป็นฝูง กินอาหารได้ทั้งพืชและสัตว์ โดยเฉพาะพืชเช่นเมล็ดพืชหรือลูกไม้ที่ร่วงหล่นจากต้น โดยจะไปรอกินถึงบริเวณผิวน้ำเลยทีเดียว

ปลาคู้แดงขณะเมื่อยังเล็ก ที่นิยมเลี้ยงกันเป็นปลาสวยงาม

เป็นปลาที่นิยมทำเป็นอาหารของชนพื้นถิ่น มีชื่อเรียกในภาษาพื้นเมืองว่า Pirapitinga ในประเทศไทยปลาคู้แดงถูกนำเข้ามาครั้งแรกในฐานะปลาสวยงาม เมื่อปี พ.ศ. 2530 โดยเอกชนรายหนึ่ง และต่อมาทางภาครัฐถือเป็นปลาเศรษฐกิจที่ทางกรมประมงส่งเสริมให้เกษตรเลี้ยง โดยมีชื่อเรียกว่า "ปลาจะละเม็ดน้ำจืด" เพราะมีรูปร่างคล้ายปลาจะละเม็ดในทะเล ซึ่งปลาคู้แดงเป็นปลาที่โตไว กินง่าย เลี้ยงง่าย ผสมพันธุ์ง่าย อีกทั้งมีเนื้อรสชาติอร่อย

ในส่วนของการเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม นิยมเลี้ยงกันในเมื่อปลายังเล็กอยู่ แต่เนื่องจากเมื่อปลาโตขึ้น ผู้เลี้ยงไม่สามารถเลี้ยงต่อไปได้ จึงมีการปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ จนกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม คือ เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มาแย่งและทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำพื้นเมืองของไทย[1]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. หน้า 7 วิทยาการ-การเกษตร, เปคูแดง...ปลาเศรษฐกิจสายปิรันยา โดย ดอกสะแบง. "หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน". ไทยรัฐ ปีที่ 49 ฉบับที่ 14,624: วันพุธที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 ปีฉลู

แหล่งข้อมูลอื่น แก้