บุปผาในกุณฑีทอง

บุปผาในกุณฑีทอง (จีน: 金瓶梅; พินอิน: Jīn Píng Méi จินผิงเหมย์; อังกฤษ: The Plum in the Golden Vase) เป็นวรรณกรรมจีนที่ประพันธ์ขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง อ้างตามฉบับพิมพ์สมัยราชวงศ์หมิงในรัชสมัยของจักรพรรดิเสินจง ศักราชว่านลี่ ปีติงซื่อ (ปีที่ 45 ของรัชกาล) ผู้แต่งนิยายเรื่องนี้ใช้นามปากกาว่า "บัณฑิตแห่งสุสานกล้วยไม้ผู้ยิ้มเยาะ" (兰陵笑笑生; Lán Líng Xiào Xiào Shēng; The Scoffing Scholar of Lanling) เดิมนับเป็นหนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีนร่วมกับนวนิยายอีกสามเรื่อง คือ สามก๊ก ซ้องกั๋ง และไซอิ๋ว เรียกรวมกันว่า "สี่วรรณกรรมอันยิ่งใหญ่" (四大奇書,四大奇书) แต่ต่อมาเรื่อง จินผิงเหมย์ ถูกต่อต้าน เพราะพรรณนาบทสังวาสจำนวนมากจนถูกเรียกว่าเป็นหนังสือโลกีย์[1] จึงมีการจัดให้ ความฝันในหอแดง นิยายอีกเรื่องหนึ่ง ขึ้นมาเป็นหนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีนแทน

บุปผาในกุณฑีทอง  
จินผิงเหมย์ ฉบับภาษาจีน
ผู้ประพันธ์บัณฑิตแห่งสุสานกล้วยไม้ผู้ยิ้มเยาะ
ชื่อเรื่องต้นฉบับ金瓶梅
ประเทศจีน
ภาษาภาษาจีน
ชนิดสื่อหนังสือ

อย่างไรก็ตาม แม้ บุปผาในกุณฑีทอง เกี่ยวข้องกับเรื่องโลกียะ และบางยุคก็ถือเป็นหนังสือต้องห้าม แต่ก็แต่งด้วยสำนวนภาษาที่งดงามละเมียดละไม[2] นิยายเรื่องนี้ได้ทำลายขนบในการเขียนนิยายอิงพงศาวดารและนิยายเกี่ยวกับผีสางเทวดาลง โดยใช้ลีลาการเขียนด้วยสำนวนง่าย ๆ กะทัดรัด และมีชีวิตชีวา บรรยายชีวิตตัวละครและตัวประกอบโดยใช้ชีวิตประจำวันของซีเหมิน ชิ่ง (西門慶; Xīmén Qìng) และคนในครอบครัวเป็นศูนย์กลาง[1] กล่าวถึงชีวิตของซีเหมิน ชิ่ง ที่รุ่งเรืองและตกอับ ทำอย่างไรให้ร่ำรวยขึ้นมา และทำอย่างไรให้ตัวตกอับ ถือเป็นการบรรยายถึงสภาพสังคมในช่วงราชวงศ์หมิง ซึ่งแสดงถึงทัศนคติและมุมมองของประชาชนทั่วไปในคริสต์ศตวรรษที่ 16 อีกด้วย[1]

ชื่อเรื่อง

แก้

จินผิงเหมย์ หรือ กิมปังบ๊วย ตามสำเนียงแต้จิ๋ว มีความหมายตรงตัวว่า ดอกบ๊วยในแจกันทอง เอาชื่อตัวละครหญิงสามตัวในเรื่องมาตั้ง คำว่า "จิน" มาจาก พัน จินเหลียน (潘金蓮; Pān Jīnlián) หรือนางบัวทอง (Golden Lotus) "ผิง" มาจาก หลี่ ผิงเอ๋อร์ (李瓶兒; Lǐ Píng'ér) หรือนางคนทีน้อย (Little Vase) และ "เหมย์" มาจาก ผัง ชุนเหมย์ (龐春梅; Páng Chūnméi) หรือนางดอกบ๊วยวสันตฤดู (Spring Plum Blossoms)[3]

ในหนังสือบันทึกหยิวจวีซื่อลู่ ของหยวน หงเต้า (袁宏道; Yuán Hóngdào) ที่แต่งขึ้นในช่วงราชวงศ์หมิง ได้กล่าวไว้ว่า "...เหตุที่เรียกว่า 'จิน' คือ 'จินเหลียน' นั่นเอง ที่เรียกว่า 'ผิง' นั่นก็คือ 'ผิงเอ๋อร์' และ 'เหมย์' ก็คือ 'ชุนเหมย์' นั่นเอง..."[4]

นอกจากนี้ ตงอู๋น่งจูเค่อ ได้กล่าวไว้ในคำนำ จินผิงเหมย์ ว่า "...แม้ว่าเรื่องนี้จะมีชื่อผู้หญิงจำนวนมาก แต่ใช้เฉพาะชื่อของ 'พัน จินเหลียน' 'หลี่ ผิงเอ๋อร์' และ 'ชุนเหมย์' มาตั้งชื่อเท่านั้น..."[2]

ประวัติ

แก้

จินผิงเหมย์ เป็นวรรณกรรมจีนที่ประพันธ์ขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง อ้างตามฉบับพิมพ์สมัยราชวงศ์หมิงในช่วงรัชสมัยของจักรพรรดิเสินจง ศักราชว่านลี่ ปีติงซื่อ (ปีที่ 45 ของรัชกาล) โดยพิมพ์จาก จินผิงเหมย์ฉือฮว่า ซึ่งเป็นฉบับที่สมบูรณ์ที่สุดฉบับหนึ่ง[4] ได้กล่าวถึงผู้ประพันธ์นิยายเรื่องจินผิงเหมย์นั้น เป็นคนในช่วงราชวงศ์หมิง ใช้นามปากกาว่า "บัณฑิตแห่งหลันหลิงผู้รักการเย้ยหยัน"[5] แต่ไม่สามารถยืนยันชื่อและแซ่ของเจ้าของนามปากกานี้ได้[6]

เนื่องจาก จินผิงเหมย์ ฉบับดังกล่าวมีสำนวนภาษาหลู่หนาน ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นทางตอนใต้ของมณฑลซานตงจำนวนมาก ทำให้ผู้อ่านทั่วไปเข้าใจได้ยาก ดังนั้น ในรัชสมัยของจักรพรรดิฉงเจิน ได้มีปัญญาชนชาวหางโจวที่ไม่สามารถยืนยันแซ่ได้ ได้ปรับปรุงเนื้อหาให้เหมาะสมกับผู้อ่านทางตอนใต้ การปรับปรุงดังกล่าวนั้นไม่เพียงแต่ตัดสำนวนภาษาพื้นบ้านกับบทบรรยายออกไปเท่านั้น แต่ยังได้แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาและรายละเอียดต่าง ๆ จำนวนมาก จนเป็นที่มาของ จินผิงเหมย์ ฉบับฉงเจิน[4]

นับแต่นั้นมา จินผิงเหมย์ ฉบับที่แพร่หลายเรียกว่า "จินผิงเหมย์ฉบับจริง" หรือ "จินผิงเหมย์ฉบับเก่าแก่" รวมไปถึง จินผิงเหมย์ ที่ขายตามท้องตลาดในปัจจุบัน ล้วนมาจากฉบับเดียวกันทั้งสิ้น[4] แม้ว่าจะมีการแก้ไขอย่างดี แต่ก็มีหลายแห่งที่แก้ไขด้วยความเข้าใจผิดหรือแก้ผิดอยู่ คนส่วนใหญ่มักได้อ่าน จินผิงเหมย์ ฉบับฉงเจิน แต่ไม่เคยได้อ่าน จินผิงเหมย์ ฉบับดั้งเดิมเลย จึงอาจไม่ทราบความแตกต่างระหว่างทั้งสองฉบับนี้ นอกจากนี้ ยังมีภาษาท้องถิ่นที่มีความหมายไม่แน่ชัดทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนได้[4]

เนื้อเรื่อง

แก้
 
ซีเหมิน ชิ่ง กับพัน จินเหลียน ภาพราวคริสต์ศตวรรษที่ 17

จินผิงเหมย์ แต่งขยายความจากเรื่อง ซ้องกั๋ง และดำเนินเรื่องในช่วงเดียวกัน คือ ระหว่าง ค.ศ. 1111–1127 ตรงกับสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ ตัวละครหลักก็นำมาจาก ซ้องกั๋ง เช่นกัน คือ ซีเหมิน ชิ่ง กับพัน จินเหลียน

ซีเหมิน ชิ่ง เป็นเศรษฐีเมืองชิงเหอ ร่ำรวยถึงขนาดแต่งภรรยาได้หลายคน เริ่มแรก ซีเหมิน ชิ่ง มีภรรยาเป็นเศรษฐินีม่ายชื่อ เมิ่ง อวี้โหลว แต่ก็แอบมีสัมพันธ์กับพัน จินเหลียน ซึ่งก็มีสามีแล้ว ซีเหมิน ชิ่ง ฆ่าสามีของพัน จินเหลียน แล้วเอานางเป็นภรรยาของตน แต่ภายหลังก็ได้มีสัมพันธ์กับหลี่ ผิงเอ๋อร์ ภรรยาของพี่ชายร่วมสาบานชื่อฮวา จื่อซวี อีก เมื่อฮวา จื่อซวี เสียชีวิตแล้ว ซีเหมิน ชิ่ง จึงแต่งงานกับหลี่ ผิงเอ๋อร์ อีกคน

ซีเหมิน ชิ่ง พยายามไต่เต้าทางสังคมโดยติดสินบนบรรดาขุนนาง และคบค้าสมาคมกับชนชั้นสูงไม่ว่าจะเป็นราชองครักษ์ หรือขันที เป็นเหตุให้แม้แต่ขุนนางท้องถิ่นยังต้องมาคบหากับเขา กิจการของซีเหมิน ชิ่ง รุ่งเรืองขึ้นทุกวัน นอกจากร้านขายยาสมุนไพร ก็ยังเปิดโรงรับจำนำ เปิดร้านขายผ้าต่วน ผ้าแพร และไหมพรม ทั้งยังมีเรือสินค้านำเกลือมาจากเมืองหยางโจวเข้ามาขาย เฉพาะหลงจู๊ของแต่ละกิจการก็มีมากกว่า 10 คน เขายังความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับหัวเมืองชายทะเลอย่าง หางโจว หูโจว ซงเจียง และหนานจิง เมื่อทรัพย์ทวี อำนาจก็ทวีขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี แม้มีภรรยามากอยู่แล้ว แต่ซีเหมิน ชิ่ง ก็ยังมีความสัมพันธ์กับผัง ชุนเหมย์ สาวใช้ของพัน จินเหลียน รวมถึงสตรีคนอื่นทั้งในบ้านและนอกบ้านเพื่อบรรลุโลกียสุข โดยไม่คำนึงถึงคุณธรรมและศีลธรรม และไม่สนว่าจะได้มาด้วยวิธีใด ทำให้หลายชีวิตต้องตาย หลายครอบครัวต้องล่มสลาย ขณะเดียวกัน ซีเหมิน ชิ่ง เองก็ต้องประเชิญความขัดแย้งภายในบ้าน เพราะภรรยาทั้งหลายพยายามเรียกร้องให้เขาปรนเปรอกามกิจและลาภยศสรรเสริญอยู่ไม่ขาด ชีวิตของซีเหมิน ชิ่ง จึงตกต่ำลงอย่างช้า ๆ

ในเรื่อง ซ้องกั๋ง ซีเหมิน ชิ่ง พบจุดจบโดยถูกอู่ ซง (武松; Wǔ Sōng) น้องชายของสามีพัน จินเหลียน ตัดศีรษะไปเซ่นศพพี่ชาย แต่ใน จินผิงเหมย์ นั้น เขาตายเพราะบริโภคยาเร้ากำหนัดที่พัน จินเหลียน จัดหาให้มากเกินไป[7]

ตามท้องเรื่อง ซีเหมิน ชิ่ง มีภรรยา 6 คน และคู่ประเวณี 19 คน ทั้งมีเนื้อหาพรรณาการสังวาสไว้อย่างพิสดารจำนวน 72 บท[8]

การตีพิมพ์

แก้
 
ภาพจากนิยายเรื่อง จินผิงเหมย์
 
ภาพจากนิยายเรื่อง บุปผาในกุณฑีทอง วาดโดยเหม เวชกร

เมื่อแรกเริ่ม จินผิงเหมย์ เขียนด้วยมือ จนช่วงปี ค.ศ. 1610 จึงได้มีการพิมพ์แกะไม้โบราณเป็นฉบับแรก[9] ครั้นในสมัยสาธารณรัฐจีน (民國-หมินกั๋ว) ปีที่ 20 พบว่า สมาคมจัดพิมพ์นิยายโบราณที่สูญหายแห่งเมืองเป่ย์ผิง (ปัจจุบันคือ กรุงปักกิ่ง) ได้จัดพิมพ์ จินผิงเหมย์ จำนวน 100 ตอน และสำนักพิมพ์วรรณคดีประชาชนจัดพิมพ์เผยแพร่อีกในปี ค.ศ. 1933 และ ค.ศ. 1956 ตามลำดับ[2]

หนังสือเรื่อง จินผิงเหมย์ หายาก ภายหลังเมื่อได้รับการยกย่องด้านวรรณศิลป์มากขึ้นกว่าการขนานนามว่าเป็นหนังสือต้องห้าม[2] จึงมีการจัดพิมพ์อย่างแพร่หลาย เช่น ฉบับจัดพิมพ์ที่กรุงไทเป ฉบับสำนักพิมพ์เซียงกั่งม่อไฮ่เหวินฮว่าจัดพิมพ์ที่ฮ่องกง ฉบับสำนักพิมพ์วรรณคดีประชาชนจัดพิมพ์ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีจำนวน 100 ตอนเช่นเดียวกัน[2]

การตีพิมพ์ในประเทศไทย

แก้

ในประเทศไทยได้มีการตีพิมพ์เรื่อง จินผิงเหมย์ เป็นผลงานการแปลของโชติ แพร่พันธุ์ เจ้าของนามปากกา "ยาขอบ" สาเหตุที่เขาแปล จินผิงเหมย์ เป็นภาษาไทยนั้น เนื่องจากขณะที่เขาป่วย เพื่อนผู้หนึ่งของเขาได้ส่งหนังสือ จินผิงเหมย์ ฉบับภาษาอังกฤษชื่อ Chin P'ing Mei ซึ่งเบอร์นาร์ด เมียล (Bernard Miall) แปลจากฉบับภาษาเยอรมันที่ ฟรันซ์ คูห์น (Franz Kuhn) แปลมาจากภาษาจีนอีกทอดหนึ่ง มาให้[10] ยาขอบอ่านแล้วประทับใจมาก แม้ช่วงนั้นแพทย์สั่งห้ามเขาเขียนหนังสือก็ตาม เขากล่าวว่า "...หนังสือเล่มนั้นดูดดึงความรู้สึกของข้าพเจ้าเหลือเกิน บัดนี้ ข้าพเจ้ากล้ากล่าวได้อย่างเต็มปากว่า เพราะอาศัยความดื่มด่ำจากรสชาติของภาษาและความละมุนละไมตามเนื้อเรื่องของหนังสือเล่มนั้น–เล่มที่ข้าพเจ้าได้อ่าน–บัดนี้ ข้าพเจ้าหาระย่อต่อความตายแล้วไม่!"[11]

ยาขอบจึงแปลเป็นภาษาไทยจนจบ ใช้ชื่อว่า บุปผาในกุณฑีทอง และมอบให้สำนักพิมพ์วรรธนะพิบูลย์พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2498 ไม่นานก่อนยาขอบจะเสียชีวิต[10] อย่างไรก็ตาม บุปผาในกุณฑีทอง ของยาขอบ หากเปรียบเทียบกับ จินผิงเหมย์ ฉบับภาษาจีน จะพบว่า เป็นเพียงบทที่ 1 ถึงบทที่ 26[10] จากทั้งหมด 100 บท กล่าวคือ เป็นเพียง 1 ใน 4 ของต้นฉบับภาษาจีน[12] นอกจากนี้ ยาขอบยังได้แบ่งตอนใหม่เป็น 45 ตอน และไม่ตรงตอนเดิมของฉบับภาษาจีน เนื้อหาส่วนใหญ่ตรงกับฉบับภาษาจีน แต่อาจคลาดเคลื่อนบ้าง เพราะยาขอบแปลมาจากฉบับภาษาอังกฤษที่แปลจากภาษาเยอรมันและภาษาจีนเป็นทอด ๆ[13] จึงเป็นการแปลเอาความ และมีลักษณะเอาของเก่ามาเล่าใหม่[13] แต่ บุปผาในกุณฑีทอง ของยาขอบมีความพิเศษตรงที่หาคำประพันธ์ในวรรณคดีไทยที่คล้องจองกับเนื้อหาต้นฉบับมาแทรกไว้อย่างเหมาะสม แสดงให้เห็นว่า ยาขอบมีความรู้ในวรรณคดีไทยเป็นอย่างดี[12]

ยาขอบได้ถ่ายชื่อตัวละครในเรื่องซึ่งรับชื่อมาจากอักษรโรมัน จึงมีความคลาดเคลื่อนบ้าง นอกจากนี้ ยังได้แปลงชื่อจากสำเนียงกลางให้เป็นสำเนียงแต้จิ๋ว เพราะคนไทยในสมัยนั้นคุ้นเคยกับสำเนียงดังกล่าว ทั้งยาขอบยังทำชื่อให้เป็นไทย เช่น นางบัวคำ นางขลุ่ยหยก และนางดวงแข เป็นเหตุให้ชื่อตัวละครคลาดเคลื่อนจากต้นฉบับภาษาจีน เช่น[14]

  • ซีเหมิน ชิ่ง ฉบับยาขอบใช้ว่า ไซหมึ่งเข่ง บ้างเรียก ตั้วกัวยิ้ง
  • พัน จินเหลียน ฉบับของยาขอบเรียกว่า พัวกิมเน้ย บ้างเรียก นางบัวคำ
  • หลี่ ผิงเอ๋อร์ ฉบับของยาขอบเรียกว่า นางลีปัง หรือ ฮวยลีปัง

นอกจากฉบับของยาขอบแล้ว ในระยะเวลาใกล้เคียงกันก็มีผู้แปลเรื่อง จินผิงเหมย์ เป็นภาษาไทยอีก คือ เนียน กูรมะโรหิต ภรรยาของสด กูรมะโรหิต ใช้ชื่อเรื่องว่า ดอกเหมยในแจกันทอง ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์แสนสุข แต่แปลและพิมพ์ไม่จบ[15]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 ศานติ-นวรัตน์ ภักดีคำ, 2551: 163
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 ศานติ-นวรัตน์ ภักดีคำ, 2551: 162
  3. Lu, 1923: 408.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 ศานติ-นวรัตน์ ภักดีคำ, 2551: 161
  5. Michael Dillon, 1998: 163–164
  6. Lu, 2000: 408.
  7. Paul S. Ropp, 1990: 324-325.
  8. Ruan, Matsumura; 1991: 95.
  9. Lu, 2000: 220–221.
  10. 10.0 10.1 10.2 ศานติ-นวรัตน์ ภักดีคำ, 2551: 164.
  11. ยาขอบ, 2549: 11.
  12. 12.0 12.1 ศานติ-นวรัตน์ ภักดีคำ, 2551: 167.
  13. 13.0 13.1 ศานติ-นวรัตน์ ภักดีคำ, 2551: 166.
  14. ศานติ-นวรัตน์ ภักดีคำ, 2551: 168.
  15. ยาขอบ, 2549: 10.

บรรณานุกรม

แก้
  • ยาขอบ. (2549). บุปผาในกุณฑีทอง. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า.
  • ศานติ-นวรัตน์ ภักดีคำ. (2551-05-07). "บุปผาในกุณฑีทอง: วรรณกรรมจีนฉบับ 'ยาขอบ' ที่แปลไม่จบ". ศิลปวัฒนธรรม, (ปีที่ 29). กรุงเทพฯ: มติชน.
  • Lu, Hsun (1923). A Brief History of Chinese Fiction. Translated, Gladys Yang, Yang Xianyi, Foreign Languages Press, 1959; reprinted: University Press of the Pacific, 2000. ISBN 0-89875-154-3.
  • Michael Dillon. (1998). China: a cultural and historical dictionary. Routledge. ISBN 0700704396.
  • Paul S. Ropp. (1990). "The Distinctive Art of Chinese Fiction," in Ropp, ed., The Heritage of China: Contemporary Perspectives on Chinese Civilization. Berkeley, Oxford: University of California Press.
  • Ruan, Fangfu; Matsumura, Molleen (1991). Sex in China: studies in sexology in Chinese culture. Perspectives in sexuality. Springer. ISBN 0306438607.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้