บิกโฟร์ (บริษัทตรวจสอบบัญชี)

บิกโฟร์ (อังกฤษ: Big Four) คือเครือข่ายบริษัทให้บริการด้านวิชาชีพที่ใหญ่ที่สุดสี่แห่งของโลก ประกอบธุรกิจด้านการตรวจสอบบัญชี บริการให้ความเชื่อมั่น ภาษีอากร การบริหารจัดการ ที่ปรึกษาทางธุรกิจ คณิตศาสตร์ประกันภัย บริการด้านการเงิน และบริการด้านกฎหมาย ซึ่งกลุ่มบริษัททั้งสี่แห่งนี้เป็นผู้ให้บริการตรวจสอบบัญชีแก่บริษัทมหาชนจำกัด (บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) และบริษัทจำกัดจำนวนมากมาย และมีรายงานว่าเป็นผู้ให้บริการตรวจสอบบัญชีกว่าร้อยละ 99 ของบริษัทที่อยู่ในดัชนีฟุตซี 100 (FTSE 100) และร้อยละ 96 ของบริษัทที่อยู่ในดัชนีฟุตซี 250 (FTSE 250) อันเป็นดัชนีที่รวบรวมบริษัทมหาชนจำกัดขนาดกลางชั้นนำ[1]

ข้อมูลที่เผยแพร่แก่สาธารณชนล่าสุดของบิกโฟร์มีดังต่อไปนี้

บริษัท รายได้
(ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
จำนวนพนักงาน
(คน)
รายได้ต่อหัวพนักงาน
(ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคน)
ปีงบประมาณ สำนักงานใหญ่ ประเทศไทย อ้างอิง
ดีลอยต์ 3,680 244,400 150,573 ค.ศ. 2016 สหรัฐอเมริกา ดีลอยท์ ทูช โธมัทสุ ไชยยศ สอบบัญชี [2]
ไพรซ์วอเทอร์เฮาส์คูเปอส์ 3,590 223,468 160,649 ค.ศ. 2016 สหราชอาณาจักร ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส [3]
อีวาย 2,960 231,000 128,139 ค.ศ. 2016 สหราชอาณาจักร สำนักงาน อีวาย [4]
เคพีเอ็มจี 2,540 188,982 134,510 ค.ศ. 2016 เนเธอร์แลนด์ เคพีเอ็มจี ภูมิไชย สอบบัญชี [5]
หมายเหตุ: ตัวเลขรายได้ตามตารางด้านบนเป็นรายได้รวมของเครือข่ายบริษัทแต่ละแห่ง ไม่ใช่รายได้ของบริษัทเดี่ยวแห่งใดแห่งหนึ่ง

ในอดีตกลุ่มบริษัทเหล่านี้เป็นที่รู้จักกันในนาม บิกเอกท์ (Big Eight) ก่อนจะลดลำดับลงมาเป็น บิกซิกซ์ (Big Six) และ บิกไฟว์ (Big Five) จากการควบรวมกิจการตามลำดับ ต่อมาในปี ค.ศ. 2002 กลุ่มบิกไฟว์ก็ถูกลดลำดับลงมาเหลือเป็นบิกโฟร์ภายหลังการล่มสลายของอาเธอร์แอนเดอร์เซิน (Arthur Andersen) จากการที่บริษัทเข้าไปมีส่วนพัวพันในเรื่องอื้อฉาวเอ็นรอน

ตัวอย่างเครือข่ายบริษัทให้บริการด้านวิชาชีพรายใหญ่แห่งอื่น ๆ ได้แก่ บีดีโอ, อาร์เอสเอ็ม, มาซาร์ส, แกรนต์ ธอร์นตัน, โครว์ ฮอร์วาร์ท, เอชแอลบี และคลิฟตัน ลาร์สัน อัลเลน เป็นต้น

โครงสร้างทางกฎหมาย แก้

บริษัทบิกโฟร์ทั้งสี่แห่งล้วนแล้วแต่มีสถานะเป็นเครือข่ายบริษัทให้บริการด้านวิชาชีพ ไม่มีบริษัทใดที่มีสถานะเป็นบริษัทเดี่ยว เป็นเครือข่ายของบริษัทหลากหลายแห่งที่บริหารงานและมีเจ้าของแยกเป็นอิสระจากกัน แต่ตกลงกับบริษัทสมาชิกแห่งอื่น ๆ ในเครือข่ายในการใช้ชื่อบริษัท เครื่องหมายการค้า และมาตรฐานด้านคุณภาพร่วมกัน ซึ่งในแต่ละเครือข่ายได้มีการจัดตั้งนิติบุคคลขึ้นมาประสานงานกิจกรรมระหว่างบริษัทสมาชิกโดยเฉพาะ เช่นในกรณีของเคพีเอ็มจีที่ได้จัดตั้งนิติบุคคลกลางสำหรับการประสานงานในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนเครือข่ายบริษัทบิกโฟร์อีกสามแห่งที่เหลือล้วนแล้วแต่จัดตั้งนิติบุคคลดังกล่าวในสหราชอาณาจักร มีสถานะเป็นบริษัทจำกัดตามกฎหมายสหราชอาณาจักร โดยนิติบุคคลเหล่านี้ไม่ได้ดำเนินงานเพื่อให้บริการด้านวิชาชีพแก่บุคคลภายนอก และไม่มีอำนาจควบคุมบริษัทสมาชิกของตนแต่อย่างใด เป็นการบริหารงานในลักษณะเดียวกับเครือข่ายบริษัทที่พบเห็นได้ทั่วไปในวิชาชีพด้านกฎหมาย

ในหลาย ๆ กรณี บริษัทสมาชิกแต่ละแห่งจะดำเนินงานในประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น และจะจัดโครงสร้างให้สอดรับกับสภาพกฏเกณฑ์หรือกฎหมายของประเทศนั้น ๆ แต่อาจมีกรณีเฉพาะบ้างในบางประเทศ เช่น ในปี ค.ศ. 2007 เคพีเอ็มจีได้รวมบริษัทสมาชิก 4 แห่งเข้าเป็นบริษัทเดียวกัน เป็นต้น

ในกรณีของอีวาย บริษัทได้รวมนิติบุคคลทางกฎหมายแต่ละแห่งเข้าเป็นหน่วยบริหารจัดการ 3 กลุ่ม จากหน่วยการดำเนินงานตามภูมิศาสตร์ 4 กลุ่ม คือ กลุ่มอเมริกา กลุ่มเอเมีย (EMEIA; ยุโรป ตะวันออกกลาง อินเดีย และแอฟริกา) และกลุ่มเอเชียแปซิฟิก ซึ่งหน่วยบริหารจัดการเหล่านี้ดำเนินงานโดยบริษัทท้องถิ่นของภูมิภาคแต่ละแห่ง แต่ไม่ได้เป็นผู้ให้บริการด้านวิชาชีพโดยตรง และไม่ได้เป็นเจ้าของในบริษัทสมาชิกท้องถิ่นของเครือข่ายแต่อย่างใด[6]

อ้างอิง แก้

  1. Mario Christodoulou (2011-03-30). "U.K. Auditors Criticized on Bank Crisis". Wall Street Journal.
  2. "2016 Global Report - Deloitte - Global Reports, insights, services, and solutions". Deloitte. สืบค้นเมื่อ 7 September 2015.
  3. PricewaterhouseCoopers. "Global Annual Review 2016". PwC.
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-10-09. สืบค้นเมื่อ 2017-03-09.
  5. "2016 KPMG International Annual Review". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-03-12. สืบค้นเมื่อ 13 December 2016.
  6. "Legal Disclaimer". www.ey.com. สืบค้นเมื่อ 2016-10-11.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้