บั๊ญหมี่
บั๊ญหมี่ (bánh mì) เป็นคำภาษาเวียดนามที่แปลว่า "ขนมปัง" แต่ในตำรับอาหารเวียดนามยังหมายถึงบาแก็ตหรือขนมปังฝรั่งเศสทรงสั้นชนิดหนึ่งที่มีผิวบางกรอบและเนื้อนุ่มโปร่ง ผ่าตามยาวแล้วนำส่วนผสมต่าง ๆ มาใส่ระหว่างกลางอย่างแซนด์วิชและเสิร์ฟเป็นอาหาร นอกจากนี้ยังมีการกินบั๊ญหมี่ (ขนมปังธรรมดา) เป็นอาหารหลักด้วย
บั๊ญหมี่ไส้หมูแดงและผัก | |
ชื่ออื่น | แซนด์วิชเวียดนาม, แซนด์วิชไซ่ง่อน |
---|---|
ประเภท | แซนด์วิช |
แหล่งกำเนิด | เวียดนาม |
คิดค้น | คริสต์ทศวรรษ 1950[1] |
ส่วนผสมหลัก | บาแก็ตเวียดนาม (หรือเรียกว่า บั๊ญหมี่ เช่นเดียวกับชื่ออาหาร) |
บั๊ญหมี่เวียดนามแบบฉบับคือการผสมผสานระหว่างเนื้อสัตว์และผักจากตำรับอาหารเวียดนามพื้นเมือง (เช่น หมูยอ ผักชี แตงกวา แคร์รอตดอง หัวไชเท้าดอง) กับเครื่องปรุงรสจากตำรับอาหารฝรั่งเศส (เช่น ปาเต) ร่วมกับพริกและมายองเนส[2] อย่างไรก็ตาม ยังมีความนิยมใส่ส่วนผสมอื่นอย่างหลากหลายตั้งแต่ไข่ดาว เนื้อหมูปั้นก้อน หมูแดง หมูหย็อง แฮม ปลากระป๋อง เนย แยม ไปจนถึงไอศกรีม ในเวียดนามนิยมกินบั๊ญหมี่เป็นอาหารเช้าหรือเป็นของว่าง
บาแก็ตได้รับการเผยแพร่เข้าสู่เวียดนามในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในขณะที่เวียดนามเป็นส่วนหนึ่งของอินโดจีนของฝรั่งเศส และกลายเป็นอาหารหลักชนิดหนึ่งในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในคริสต์ทศวรรษ 1950 แซนด์วิชที่มีลักษณะเฉพาะตัวแบบเวียดนามปรากฏชัดขึ้นในไซ่ง่อนโดยกลายเป็นอาหารริมทางยอดนิยมซึ่งยังเป็นที่รู้จักในชื่อ บั๊ญหมี่ส่ายก่อน ("บั๊ญหมี่ไซ่ง่อน")[3] หลังสงครามเวียดนาม ชาวเวียดนามโพ้นทะเลได้ทำให้บั๊ญหมี่เป็นที่นิยมในประเทศต่าง ๆ เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา สหรัฐ บั๊ญหมี่ในประเทศเหล่านี้มักมีขายในร้านขนมปังของชาวเอเชีย
อ้างอิง
แก้- ↑ "The best Vietnamese Sandwich to Fall in Love With". Authenticfoodquest.com. สืบค้นเมื่อ 20 Mar 2020.
- ↑ Daniel Young. "East Meets West in 'Nam Sandwich" เก็บถาวร 2020-03-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, New York Daily News, 25 September 1996.
- ↑ Saigon-Style Banh Mi, Los Angeles Times