อุทยานแห่งชาติไทรทอง

(เปลี่ยนทางจาก น้ำตกไทรทอง)

อุทยานแห่งชาติไทรทอง ตั้งอยู่ที่จังหวัดชัยภูมิ มีภูมิประเทศเป็นเขาสูง มีอากาศเย็นช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคมของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน อันเป็นฤดูการท่องเที่ยวดอกปทุมมา (Curcuma alismatifolia)

ดอกกระเจียว หรือดอกปทุมมา บานในทุ่งภายในอุทยาน

อุทยานแห่งชาติไทรทองมีเนื้อที่ประมาณ 319 ตารางกิโลเมตร (120 สแควร์ไมล์) กินเนื้อที่อำเภอหนองบัวระเหว อำเภอเทพสถิต อำเภอภักดีชุมพล และอำเภอหนองบัวแดง เปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2535[1] มีพื้นที่ติดกับอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม และยังเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำหลายสาย มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติเป็นอย่างมาก ป่าที่นี่ส่วนใหญ่เป็นป่าเบญจพรรณ[2]

ลักษณะภูมิประเทศ แก้

อุทยานแห่งชาติไทรทองอยู่ในเขตเทือกเขาพระยาฝ่อ และเทือกเขาพังเหย มีลักษณะภูมิประเทศประกอบด้วยภูเขาสูงต่ำหลายลูกเรียงรายสลับซับซ้อน มีระดับความสูงตั้งแต่ 300 เมตรจากระดับน้ำทะเล ถึงสูงสุดที่ยอดเขาพังเหย 1,008 เมตร เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำของลำห้วยโป่งขุนเพชร ลำห้วยเชียงทา ลำห้วยแย้ ลำห้วยยาง ล้ำน้ำเจา ลำน้ำเจียง ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำชี

ลักษณะภูมิอากาศ แก้

พื้นที่ป่าแห่งนี้จัดอยู่ในภูมิอากาศประเภทฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดู อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุม สามารถแบ่งฤดูกาลออกได้เป็น 3 ฤดู คือ

  • ฤดูฝน เริ่มต้นตั้งแต่ระหว่างเดือนพฤษภาคม - เดือนตุลาคม ลักษณะของฝนที่ตกส่วนมากจะเป็นพายุฝนฟ้าคะนอง อิทธิพลของพายุดีเปรสชั่นจะได้รับไม่มากนัก ฝนตกมากในช่วงเดือนกันยายน
  • ฤดูหนาว เริ่มต้นตั้งแต่ระหว่างตุลาคม - เดือนกุมภาพันธ์
  • ฤดูร้อน เริ่มต้นตั้งแต่เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - เดือนพฤษภาคม

พืชพรรณและสัตว์ป่า แก้

สภาพป่าของอุทยานแห่งชาติไทรทองสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

  • ป่าดิบแล้ง พบทางตอนเหนือของเทือกเขาพระยาฝ่อ และตอนกลางของเทือกเขาพังเหย พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ตะแบก กระบาก ตะเคียนหิน มะค่าโมง มะม่วงป่า ประดู่ หรือ ประดู่ป่า นนทรีป่า สาธร และเขล็ง ฯลฯ
  • ป่าเต็งรัง พบมากบริเวณพื้นที่สันเขาและพื้นที่ลอนลาดตอนล่างในเทือกเขาพังเหย พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ก่อ พะยอม เต็ง รัง พลวง ตีนนก กว้าว แดง รัก กระบก ส้าน ไผ่ และหญ้าชนิดต่างๆ
  • ป่าเบญจพรรณ พบไม่มากนัก พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ประดู่ แดง ตะแบก มะค่าโมง และไผ่ชนิดต่างๆ

สัตว์ป่า ที่พบเห็นได้ในเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง ได้แก่ หมูป่า อ้น อีเห็น ชะมด เก้ง กระจง กระรอก กระแต กระต่ายป่า นกตะขาบทุ่ง นกกะปูด อีกา หรือ กา เหยี่ยว ไก่ป่า ตะกวด แย้ ตุ๊กแก กิ้งก่า งู กบ ปาด เขียด อึ่งอ่าง ฯลฯ และพบปลาบางชนิดตามแหล่งน้ำต่างๆ

สถานที่สำคัญในอุทยาน แก้

  • น้ำตกไทรทอง - น้ำตกสูงประมาณ 5 เมตร และมีลานหินกว้าง 80 เมตร
  • หินเทิน - เป็นหินธรรมชาติ ขนาดกว้างประมาณ 10 เมตร สูง 5 เมตร ตั้งอยู่บนหินที่กว้างประมาณ 3 ฟุต
  • ผาหำหด - เป็นชะง่อนหินเล็ก ๆ ขนาดกว้าง-ยาว ประมาณ 1 เมตร ยื่นออกไปนอกภูเขาทั้งแผ่น ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 864 เมตร และเป็นจุดสูงของเทือกเขาพังเหย สามารถมองวิวทิวทัศน์รอบด้าน เห็นถึงทัศนียภาพของอำเภอภักดีชุมพล[2] ผาหำหดนี้เดิมชื่อ "ผาน้ำผึ้ง" เนื่องจากใต้หน้าผามีผึ้งมาทำรัง แต่ชาวบ้านได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ผาหำหด" จากคำพูดของผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิคนหนึ่ง ที่เคยเดินทางมาที่นี้ แล้วอุทานเนื่องจากความน่าหวาดเสียวว่า "เห็นแล้วหำหดเลย" [3]
  • ผาพ่อเมือง - เป็นแนวผา ตั้งอยู่บนสันเขาทางทิศตะวันตก ก่อนถึงผาหำหดประมาณ 300 เมตร มีระดับความสูง 700-908 เมตร [3] ชื่อนี้ตั้งเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ที่เคยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเคยเดินทางมาที่นี่

การเดินทาง แก้

เดินทางด้วยทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 21 ถึงตัวอำเภอบึงสามพัน จังหวัดเพชรบูรณ์ เลี้ยวเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 225 มุ่งไปจังหวัดชัยภูมิ ประมาณ 75 กิโลเมตรถึงทางเข้าอุทยาน

อ้างอิง แก้

  1. "Sai Thong National Park". Department of National Parks (Thailand). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-14. สืบค้นเมื่อ 23 June 2014.
  2. 2.0 2.1 "บันทึกพงไพร". ช่อง 5. 2017-01-15. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-01-23. สืบค้นเมื่อ 2017-01-15.
  3. 3.0 3.1 ผาหำหด....[ลิงก์เสีย] ไทยโพสต์ แทบลอยด์, 8-11 กุมภาพันธ์ 2552, หน้า 12

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

15°52′17″N 101°30′54″E / 15.871389°N 101.515°E / 15.871389; 101.515