นิกซ์ หรือ นุกซ์ (อังกฤษ: Nyx; กรีกโบราณ: Νύξ, นุกซ์; ละติน: Nox แปลว่า กลางคืน) เป็นหนึ่งในเทพดั้งเดิม (protogenoi)ในเทพปกรณัมกรีก นิกซ์เป็นเทพีแห่งราตรีซึ่งเกิดจากเคออสและเป็นคู่ของเอเรบัส (ความมืด) นิกซ์เป็นมารดาของเทพตัวแทนปรากฎการณ์ธรรมชาติ อีกหลายองค์ ซึ่งรวมถึงทานาทอส (ความตาย) และฮิปนอส (นิทรา) มีรูปลักษณ์เป็นหญิงสาวผู้งดงามและทรงอำนาจ

บทบาทในตำนาน

แก้
 
ภาพวาดของนิกซ์ โดย วิลเลียม อาดลอฟ บุกุโร

ในบทกวีเรื่อง ธีออโกนี กวีเฮซิโอด กล่าวว่านิกซ์และเอเรบัสเป็นผู้ให้กำเนิดเฮเมรา (กลางวัน) กับอีเธอร์ (อากาศ) จากนั้นนางจึงให้กำเนิดเทพอื่นโดยตัวนางเอง ซึ่งลูกๆของนิกซ์นี้หลายตัวถูกซูสใส่ไว้ในหีบของแพนโดรา ในแต่ละวันนั้นนิกซ์จะอยู่ในถ้ำอันมืดมิดใต้โลกขณะที่เฮเมราออกไปภายนอก และนางจะออกจากถ้ำในยามค่ำคืนเมื่อเฮเมรากลับมาแล้ว เกิดเป็นวัฏจักรของกลางวันและกลางคืน

ในมหากาพย์อีเลียดเล่ม 14 ของโฮเมอร์ ฮิปนอสได้กล่าวถึงครั้งที่ตนเคยช่วยฮีราซึ่งขอให้ฮิปนอสทำให้ซูสหลับใหล เพื่อให้นางมีโอกาสกลั่นแกล้งเฮราคลีสได้ เมื่อซูสรู้สึกตัวก็โกรธมากและจะจับฮิปนอสโยนลงไปในทะเล แต่ตอนนั้นฮิปนอสได้หนีไปหานิกซ์ผู้เป็นมารดาเสียแล้ว ฮิปนอสกล่าวไปอีกว่าซูสนั้นเกรงว่าจะทำให้นิกซ์โกรธจึงได้สะกดอารมณ์ของตนและปล่อยฮิปนอสไว้ ซึ่งต่อมาฮิปนอสก็ได้หนีกลับไปหานิกซ์ทุกครั้งที่ตนทำให้ซูสพิโรธ

บทบาทในสังคม

แก้

ลัทธิแห่งนิกซ์

แก้

ในกรีซนั้น นิกซ์ไม่ค่อยได้รับการบูชาเป็นเทพีหลักของลัทธิต่างๆนัก พาวซานิอัสได้ระบุว่านางมีวิหารอยู่ในเมืองเมการา.[1]

แต่นิกซ์ก็มักจะปรากฏในเรื่องราวเบื้องหลังของลัทธิต่างๆบ่อยครั้ง ในเทวสถานอาร์ทีมิสที่เอเฟซัสก็เคยมีรูปปั้นของนิกซ์อยู่ด้วย ลัทธิของชาวสปาร์ตาซึ่งบูชาฮิปนอสกับทานาทอส[2]ก็ได้ใช้ชื่อของนิกซ์ผสมกับเทพอื่นๆ เช่น ไดโอไนซัส นิกเทลิออส "ค่ำคืน"[3] และอโฟรไดที ฟิโลฟานนิกซ์ "ผู้รักราตรี"[4]

ด้านดาราศาสตร์

แก้

วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2550 สหพันธ์ดาราศาสตร์สากลได้เปลี่ยนชื่อดวงจันทร์ S/2005 P 2 ของดาวพลูโตเป็นนิกซ์ (Nix สะกดด้วยตัวอักษร i แทน y เพื่อไม่ให้สับสนกับดาวเคราะห์น้อย 3908 Nyx)

ก่อนหน้านั้น พ.ศ. 2540 สหพันธ์ดาราศาสตร์สากลได้เคยตั้งชื่อภูเขาบนดาวอังคารว่านิกซ์มาแล้วเช่นกัน

ลูกๆของนิกซ์

แก้

เอช. เจ. โรส ระบุว่านิกซ์ยังเป็นมารดาของเทพธิดาแห่งชะตากรรม มอยรี[5] ในเรื่อง เฮราเคลส ของยูริฟิเดสยังกล่าวว่านางได้ให้กำเนิดลีสซา (ความวิปลาส) จากเลือดของอูรานอสอีกด้วย[6]

อ้างอิง

แก้
  1. Pausanias 1.40.1).
  2. Pausanias 3.18.1.
  3. Pausanias 1.40.6)
  4. Orphic Hymn 55.
  5. H.J. Rose, Handbook of Greek Mythology, p.24
  6. Vellacott, Phillip (trans.) (1963). Herakles by Euripides. p. 815.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้