ทางรถไฟสายหาดเจ้าสำราญ

ทางรถไฟสายหาดเจ้าสำราญ หรือ รถไฟรางเล็กสายเพชรบุรี-บางทะลุ เป็นทางรถไฟเอกชน เพราะเป็นเส้นทางรถไฟหลวงส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว[1] สร้างขึ้นในการเดินทางของเจ้านายและขนส่งเสบียงของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อเสด็จแปรพระราชฐานประทับ ณ พระตำหนักหาดเจ้าสำราญในจังหวัดเพชรบุรี[2] มีระยะทางราว 15 กิโลเมตร[3][4] ถือเป็นหนึ่งในเส้นทางคมนาคมหลักของข้าราชบริพารที่ตามเสด็จมาหาดเจ้าสำราญในขณะนั้น[5] เดินรถครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2464

ทางรถไฟสายหาดเจ้าสำราญ
ข้อมูลทั่วไป
สถานะยกเลิก
เจ้าของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่ตั้งจังหวัดเพชรบุรี
ปลายทาง
จำนวนสถานี2
การดำเนินงาน
ระบบรถไฟทางสั้น
ผู้ดำเนินงานเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (หม่อมราชวงศ์เย็น อิศรเสนา)
ประวัติ
เปิดเมื่อ15 เมษายน พ.ศ. 2464
ปิดเมื่อ31 พฤษภาคม พ.ศ. 2466
ข้อมูลทางเทคนิค
ระยะทาง15 กม. (9.32 ไมล์)
รางกว้าง75 เซนติเมตร
แผนที่เส้นทาง

km
สายใต้  ธนบุรี 
เพชรบุรี
0.00
สายใต้  สุไหงโก–ลก 
พระรามราชนิเวศน์
15.00
หาดเจ้าสำราญ

แต่ทว่าในการแปรพระราชฐานในแต่ละครั้งของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มักประสบปัญหาต่าง ๆ เป็นนิจ เช่น แหล่งน้ำจืดที่มีใช้อย่างจำกัด การเดินทางที่ยากลำบากใช้เวลานาน และปัญหาสุขอนามัยเพราะมีแมลงวันหัวเขียวชุมมาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบปัญหานั้นก็มิได้แปรพระราชฐานมาพระตำหนักหาดเจ้าสำราญอีก และหลังจากนั้นทรงโปรดเกล้าให้สร้างพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ส่งผลให้พระตำหนักหาดเจ้าสำราญจึงถูกทิ้งร้างไป ทางรถไฟก็ถูกรื้อถอนไปหลังจากนั้น

ประวัติ

แก้

การก่อสร้างและการใช้งาน

แก้

เอกสารบันทึกในรัชกาลที่ 6, บันทึกราชกิจรายวัน และบันทึกของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้ระบุไว้ตรงกันว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรด้วยโรครูมาติซึม จึงมีผู้ถวายคำแนะนำให้พระองค์เสด็จไปประทับรักษาพระองค์ ณ ชายทะลหัวหิน ซึ่งในขณะนั้นถือเป็นสถานที่ที่สวยงามและบรรดาชนชั้นสูงนิยมไปพักผ่อนหรือจับจองพื้นที่ แม้แต่เจ้านายเองก็ทรงสร้างพระตำหนัก เรือน และบ้านสำหรับตากอากาศในฤดูร้อนเป็นจำนวนมาก[3]

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้ข้าราชบริพารเสาะหาพื้นที่ที่มีอากาศเหมาะสมในการเสด็จพระราชดำเนินมาพักผ่อนพระวรกายและรักษาพระพลานามัยที่หัวหิน แต่พระองค์ก็ได้มีรับสั่งว่า การเสด็จไปพักผ่อนที่หัวหินจะไปรบกวนประชาชนที่ไปพักผ่อนที่หัวหิน จึงโปรดให้กองทัพเรือสำรวจหาพื้นที่ที่เหมาะสม และได้พบชายหาดที่ตรงกับพระราชประสงค์ที่ตำบลบางทะลุ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี (ปัจจุบันขึ้นกับตำบลเจ้าสำราญ อำเภอเมืองเพชรบุรี) ที่มีหาดทรายสวย น้ำทะเลใสมากพอที่จะให้พระเจ้าอยู่หัวลงสรง[3] ในปี พ.ศ. 2460 จึงโปรดให้สร้างพระตำหนัก เรือนสำหรับข้าราชบริพารอย่างง่าย ๆ ซึ่งทั้งหมดเป็นเรือนไม้มุงจาก เรียกว่า ค่ายหลวงบางทะลุ ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ และพระตำหนักหาดเจ้าสำราญ[6] พระองค์โปรดให้สร้างถนนจากเพชรบุรีถึงพระตำหนักสำหรับรถยนต์พระที่นั่ง ระยะทาง 15 กิโลเมตร และโปรดให้สร้างทางรถไฟขึ้นเสียด้วย[3]

ทั้งนี้เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (หม่อมราชวงศ์เย็น อิศรเสนา) ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการทางรถไฟสายบางบัวทอง ได้ขอพระราชทานเป็นแม่กองในการสร้างทางรถไฟสำหรับลำเลียงผู้โดยสารและเสบียง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ข้าราชบริพาร[3] ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จด้วยรถไฟพระที่นั่งนี้หลายครั้ง โดยครั้งแรกเสด็จเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2464 พระนางเธอลักษมีลาวัณโดยเสด็จด้วยรถไฟพระที่นั่งนี้ครั้งหนึ่ง[7] ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาโดยเสด็จบนรถไฟพระที่นั่งสองครั้ง[7]

ยกเลิกเส้นทาง

แก้

แต่ในการเสด็จประทับแรมในแต่ละครั้งของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมักเกิดปัญหานานัปการสำหรับข้าราชบริพาร ได้แก่ น้ำจืดที่หายาก รถไฟที่เสียบ่อยการเดินทางใช้เวลานาน และแมลงวันหัวเขียวที่มีจำนวนมากต้องคอยไล่มิให้รบกวนในหลวงตลอดเวลา ในการเสด็จประทับแรมครั้งสุดท้าย มีมหาดเล็กคนหนึ่งบริภาษอย่างกระซิบกระซาบว่า "หาดเจ้าสำราญ แต่ข้าราชบริพารเบื่อ" แม้จะทราบถึงพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ก็มิทรงถือโทษโกรธแต่อย่างใดเพียงแต่เสด็จกลับก่อนกำหนด[4] และมีพระราชดำรัสด้วยว่า "ไม่อยากจะเข้าไปรบกวนความสนุกสบายของเขา"[3] ภายหลังทางจังหวัดเพชรบุรีจึงกราบบังคมทูลพบพื้นที่ตากอากาศแห่งใหม่ที่ตำบลห้วยทรายเหนือ มีน้ำจืดเพียงพอ จึงโปรดเกล้าให้สร้างพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ณ ที่แห่งนั้นเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2467[4] พระตำหนักหาดเจ้าสำราญจึงถูกทิ้งร้างไป ทางรถไฟก็ถูกรื้อถอนไปหลังจากนั้น

ปัจจุบันได้รื้อรางทางรถไฟสายนี้จนสิ้นแล้ว และภายหลังจึงได้สร้างทางหลวงแผ่นดินทับเส้นดังกล่าว ปัจจุบันคือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3177 เพชรบุรี-หาดเจ้าสำราญ

การเดินรถ

แก้

รถจักรไอน้ำที่ใช้เดินรถในทางรถไฟสายนี้เป็นของเก่าที่นำมาปรับปรุงใหม่ จึงมักเสียบ่อย ๆ และมีกำลังลากจูงน้อย[3] ทั้งขบวนจะมีตู้โดยสารจำนวน 6 ตู้[4] ไม่รวมตู้สำหรับลำเลียงน้ำจืดไปด้วย[7] ส่วนรางนั้นมีความกว้าง 75 เซนติเมตร[8] มิได้รองด้วยหินโรยทาง[4] ตัดทางไม่ค่อยตรง[7] เวลาเดินรถ ขบวนก็จะส่ายไปมาน่าเวียนหัว[3][4][7] บางครั้งตู้โดยสารก็ถูกเหวี่ยงจนหลุดออกมาก็มี[4] แม้จะมีระยะทางเพียง 15 กิโลเมตร แต่รถไฟสายนี้ใช้ระยะเวลาการเดินทางถึง 5 ชั่วโมง[3][4] กล่าวกันว่ารถไฟช้ามากถึงขนาดที่ผู้โดยสารสามารถลงไปทำธุระบางอย่างแล้ววิ่งตามขึ้นมารถไฟก็ทัน หรือลงไปจากขบวนรถแล้วเดินตามรถไฟก็ยังได้[3] และหลายครั้งที่ผู้โดยสารต้องทนตากแดดระหว่างรอซ่อมรถไฟที่เสียอยู่เป็นนิจ[3]

ทางรถไฟสายนี้ไม่มีสถานีรายทาง มีสถานีต้นทางคือสถานีหลวงพระรามราชนิเวศน์ และหาดเจ้าสำราญเป็นสถานีปลายทาง ซึ่งสถานีแห่งหลังนี้มีลักษณะเป็นพลับพลาก่ออิฐถือปูน บานประตูกระจกสี่ด้าน[7] ทั้งนี้ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จต้องตีตั๋วก่อนขึ้นรถไฟเสียด้วย[7]

อ้างอิง

แก้
  1. โรม บุนนาค (16 กรกฎาคม 2564). "รวมตำนานรถไฟสายเอกชน! พระเจ้าอยู่หัวเป็นเจ้าของเองก็มี อีกสายมีของแปลกหนึ่งเดียวในโลก!!". ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 3 มิถุนายน 2566. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. http://www.pantown.com/board.php?id=20572&area=3&name=board1&topic=23&action=view หาดเจ้าสำราญ
  3. 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย (31 ธันวาคม 2559). ""หาดเจ้าสำราญ" สถานที่ประทับทรงพระสำราญในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 4.7 โรม บุนนาค (5 กันยายน 2559). "เจ้าสำราญ..แต่ข้าราชบริพารเบื่อ!! จึงเป็นที่มาของ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน!". MGR Online. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-10. สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. TJ (5 พฤษภาคม 2560). "99 ปี แอนนิเวอร์ซารี่ หาดเจ้าสำราญ ร.ศ.137 ลิ้มรสอาหารทะเลเด็ดๆ กว่า 100 ร้านค้า". Amarin TV. สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. ราชกิจจานุเบกษา,พระบรมราชโองการ ประกาศ เปลี่ยนนามพระราชวังบ้านปืน และค่ายหลวงบางทลุ แขวงจังหวัดเพชรบุรี, เล่ม ๓๕, ตอน ๐ก, ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๑, หน้า ๑๐๘
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 7.6 "ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญ!". สมบูรณ์แก่นโน้ต. 2 กรกฎาคม 2553. สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. http://portal.rotfaithai.com/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=3021 รถไฟรางเล็ก สายเพชรบุรี-บางทะลุ