ทรัพยศาสตร์ หรือมีที่สะกดว่า ทรัพย์ศาสตร์ หรือต้นฉบับเดิมชื่อ ทรัพย์สาตร์ ชั้นต้น เป็นตำราวิชาเศรษฐศาสตร์ โดย พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) จัดพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2454 จัดเป็นหนึ่งในหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน ประเภทสารคดี และถือเป็นตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของไทย[1]

ทรัพยศาสตร์  
หน้าแรกของทรัพยสาตร์ ชั้นต้น เล่มแรก
ผู้ประพันธ์พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค)
ชื่อเรื่องต้นฉบับทรัพยสาตร์ ชั้นต้น
ประเทศสยาม
ภาษาไทย
หัวเรื่องเศรษฐศาสตร์, ทรัพย์
สำนักพิมพ์โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ
วันที่พิมพ์พ.ศ. 2454
ชนิดสื่อสิ่งพิมพ์
332 ส417ท

เนื้อหา แก้

หนังสือกล่างถึงสภาพความยากจนในสยาม แนวทางแก้ไขและพัฒนาเศรษฐกิจ และการจัดระบบเศรษฐกิจใหม่เพื่อลดการเอาเปรียบและความเหลื่อมล้ำทางสังคม[2]: 3 

ผู้เขียนแบ่งปัจจัยการผลิตออกเป็น 3 ประการ คือ ที่ดิน แรงทำการ และทุน ซึ่งในทัศนะของผู้เขียนมองว่าทุนเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย เนื่องจากช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการลงทุนทำให้เกิดผลตอบแทนงอกเงย ชี้ให้เห็นความเหลื่อมล้ำระหว่างสัดส่วนการถือครองทุนในระบบเศรษฐกิจ แรงงานได้ส่วนแบ่งจากการผลิตน้อย แต่นายทุนที่ผูกขาดปัจจัยการผลิตได้ส่วนแบ่งมาก อย่าไรก็ดี ผู้เขียนยังไม่ต้องการยกเลิกกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลเพราะมองว่ากรรมสิทธิ์ก่อให้เกิดแรงจูงใจในการทำงาน ผู้เขียนเสนอให้ใช้ระบบสหกรณ์และการรวมตัวกันจัดตั้ง "สมาคมคนทำงาน" นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เรียกร้องให้รัฐบาลจัดการศึกษาขั้นต่ำในชั้นประถมศึกษาโดยไม่เก็บเงินแก่ราษฎร[1]

การจัดพิมพ์ แก้

หนังสือดังกล่าวจัดพิมพ์สองเล่มใน พ.ศ. 2454 ต่อมาใน พ.ศ. 2474 ทองเปลว ชลภูมิ นำเฉพาะเล่มแรกมาพิมพ์ใหม่ชื่อ เศรษฐวิทยาชั้นต้น หลังจากนั้น ผู้เขียนได้ประพันธ์เล่ม 3 ออกมาชื่อ เศรษฐกิจและการเมือง ใน พ.ศ. 2477 แต่หาต้นฉบับไม่พบ[3][2]: 2 

ปฏิกิริยา แก้

หนังสือดังกล่าวได้รับความนิยมทันทีที่จัดพิมพ์ ทว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไม่พอพระทัยกับหนังสือเล่มนี้มากและมีรับสั่งให้พระยาสุริยานุวัตรยุติการเขียน[3] พระองค์ทรงใช้นามปากกา "อัศวพาหุ" วิจารณ์หนังสือดังกล่าวลงในวารสารสมุทสาร ของราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม ระบุว่า การแบ่งชนชั้นในสยามอย่างในยุโรปเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง และว่าหากผู้ใดมีความสามารถก็สามารถเลื่อนชนชั้นทางสังคมได้ทั้งนั้น[1] นอกจากนี้ยังวิจารณ์การใช้สำนวนภาษาและการนำเสนอข้อมูล พร้อมทั้งเสนอให้กระทรวงธรรมการไม่ควรใช้หนังสือเล่มนี้เป็นตำราเรียนอีกด้วย แม้กระทรวงธรรมการจะออกใบอนุญาตให้เป็นตำราเรียนแล้วก็ตาม[4] ต่อมารัฐบาลสั่งห้ามเผยแพร่หนังสือดังกล่าว ซึ่งเชื่อมโยงกับกฎหมายห้ามสอนลัทธิเศรษฐกิจในสยาม[2]: 2  จนกระทั่งกลับมาเผยแพร่ได้อีกครั้งเมื่อมีการจัดการเรียนการสอนลัทธิเศรษฐกิจในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเมื่อ พ.ศ. 2477[3]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 "ทรัพยศาสตร์ ตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของไทย วิชาต้องห้ามในอดีต". ศิลปวัฒนธรรม. 13 สิงหาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2020.
  2. 2.0 2.1 2.2 ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. "ความคิดทางเศรษฐกิจของพระยาสุริยานุวัตร". ใน ศักดิ์เกรียงไกร, สิริลักษณ์ (บ.ก.). พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) นักเศรษฐศาสตร์คนแรกของไทย (PDF) (1 ed.). กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. ISBN 974-07-5066-4. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-06-05. สืบค้นเมื่อ 2020-08-24.
  3. 3.0 3.1 3.2 นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (บ.ก.). "หนังสือต้องห้าม". สถาบันพระปกเกล้า. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 พฤษภาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2020.
  4. "ร.6 ทรงวิจารณ์ ทรัพยศาสตร์ ตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกในสยาม "ผู้แต่งไม่รู้จักชาติดีพอ"". ศิลปวัฒนธรรม. 2 กันยายน 2020. สืบค้นเมื่อ 2 กันยายน 2020.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  • พระยาสุริยานุวัตร (1975). ทรัพย์ศาสตร์ (3 ed.). สำนักพิมพ์พิฆเณศ – โดยทาง หอสมุดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.