ความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ความเหลื่อมล้ำทางสังคมเกิดขึ้นเมื่อทรัพยากรในสังคมมีการกระจายอย่างไม่เสมอภาค ซึ่งก่อให้เกิดแบบรูปจำเพาะตามแนวจำพวกของบุคคลที่นิยามทางสังคม การเข้าถึงสินค้าสังคมในสังคมนั้นมีความแตกต่างกันเป็นลำดับมีสาเหตุจากอำนาจ ศาสนา เครือญาติ เกียรติภูมิ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ เพศ อายุ รสนิยมทางเพศและชนชั้น ความเหลื่อมล้ำปกติส่อความหมายถึงความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ แต่อาจสรุปอีกอย่างหนึ่งได้ว่าเป็นความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงโอกาส[1] สิทธิทางสังคม ประกอบด้วยตลาดแรงงาน บ่อเกิดของรายได้ บริการสาธารณสุข เสรีภาพในการพูด การศึกษา การมีผู้แทนทางการเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมือง[2] ความเหลื่อมล้ำทางสังคมนี้มีความเชื่อมโยงกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ปกติอธิบายบนพื้นฐานของการกระจายรายได้หรือความมั่งคั่งอย่างไม่เสมอภาค และเป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมชนิดที่มีการศึกษาอยู่บ่อยครั้ง ถึงแม้สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์และสังคมวิทยาโดยทั่วไปใช้แนวทางเข้าสู่ทางทฤษฎีต่างกันเพื่อพิจารณาและอธิบายความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แต่ทั้งสองวิชาก็วิจัยความเหลื่อมล้ำนี้เหมือนกัน อย่างไรก็ดีทรัพยากรสังคมและธรรมชาติก็มีการกระจายอย่างไม่เท่าเทียมในสังคมส่วนใหญ่นอกเหนือไปจากทรัพยากรทางเศรษฐกิจ และอาจช่วยส่งเสริมสถานภาพทางสังคมของบุคคล บรรทัดฐานของการจัดสรรยังมีผลต่อการกระจายสิทธิและเอกสิทธิ์ อำนาจทางสังคม การเข้าถึงสินค้าสาธารณะ เช่น การศึกษาหรือระบบตุลาการ การเคหะที่เพียงพอ การขนส่ง เครดิตและบริการทางการเงิน เช่น การธนาคาร ตลอดจนสินค้าและบริการทางสังคมอื่น

หลายสังคมทั่วโลกต่างอวดอ้างว่าตนเป็นคุณธรรมนิยม หมายความว่า การกระจายทรัพยากรในสังคมอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรมหรือความดี (merit)[a] แม้ว่าคุณธรรมนี้จะมีผลอยู่บ้างในบางสังคม แต่งานวิจัยแสดงว่าการกระจายทรัพยากรในสังคมมักเป็นไปตามการแบ่งประเภททางสังคมแบบมีลำดับชั้นจนไม่อาจเรียกสังคมเหล่านั้นว่า "คุณธรรมนิยม" ได้ ด้วยเหตุที่บุคคลที่มีสติปัญญา ความสามารถหรือคุณธรรมเป็นพิเศษก็ตามยังไม่อาจชดเชยการถูกเอาเปรียบทางสังคมที่เขาเหล่านั้นเผชิญ ในหลายกรณี ความเหลื่อมล้ำทางสังคมเชื่อมโยงกับความเหลื่อมล้ำทางเชื้อชาติ ชาติพันธุ์และเพศ ตลอดจนสถานภาพทางสังคม ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้อาจเกี่ยวข้องกับการฉ้อราษฎร์บังหลวง[3]

ตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ใช้บ่อยสุดในการเปรียบเทียบในประเทศต่าง ๆ ได้แก่ สัมประสิทธิ์จีนี[b] อย่างไรก็ดี ประเทศที่มีสัมประสิทธิ์จีนีเท่ากันแต่มีเศรษฐกิจ และ/หรือ คุณภาพชีวิตต่างกันมากก็ได้ ฉะนั้นจึงต้องนำมาเปรียบเทียบโดยใช้บริบทอื่นประกอบด้วย[4]

ภาพรวม แก้

ความเหลื่อมล้ำทางสังคมพบในเกือบทุกสังคม ความเหลื่อมล้ำทางสังคมนั้นเกิดขึ้นจากปัจจัยเชิงโครงสร้างหลายประการ เช่น ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และสถานภาพพลเมือง และมักมีวจนิพนธ์ทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์มานิยาม เช่น คนจน "สมควร" (สาเหตุเกิดจากคนคนนั้นเอง) หรือ "ไม่สมควร" หรือไม่[5] ในสังคมเรียบง่าย ผู้ที่มีบทบาทและสถานภาพทางสังคมน้อยกว่าสมาชิกอื่น ความเหลื่อมล้ำทางสังคมอาจมีต่ำมาก ตัวอย่างเช่นในสังคมชนเผ่า หัวหน้าเผ่าอาจมีเอกสิทธิ์บางอย่าง ใช้เครื่องมือบางชนิด หรือสวมสัญลักษณ์ประจำตำแหน่งที่ผู้อื่นห้ามสวม แต่ชีวิตประจำวันของหัวหน้าเผ่านั้นก็แทบไม่ต่างจากสมาชิกเผ่าคนอื่น นักมานุษยวิทยาเรียกวัฒนธรรมที่มีความสมภาคสูงนี้ว่า "เน้นความเป็นญาติ" (kinship-oriented) ซึ่งดูจะให้ค่าแก่ความปรองดองทางสังคมมากกว่าความมั่งคั่งหรือสถานภาพ วัฒนธรรมดังกล่าวแตกต่างจากวัฒนธรรมที่เน้นวัตถุซึ่งมีการให้รางวัลสถานภาพและความมั่งคั่ง ซึ่งมีการแข่งขันและความขัดแย้งเกิดขึ้นทั่วไป นอกจากนี้วัฒนธรรมเน้นความเป็นญาติอาจมุ่งมั่นขัดขวางมิให้เกิดลำดับชั้นทางสังคมเสียด้วยซ้ำ เพราะเชื่อว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งและขาดเสถียรภาพ[6] ในโลกปัจจุบัน ประชากรส่วนใหญ่ของโลกอาศัยอยู่ในสังคมซับซ้อน และยิ่งสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามช่องว่างระหว่างคนจนสุดและรวยสุดในสังคม[3]

ความเหลื่อมล้ำทางสังคมสามารถจำแนกได้เป็นสังคมสมภาค (egalitarian), สังคมมีชนชั้น (ranked) และสังคมมีการจัดช่วงชั้น (stratified)[7] สังคมสมภาคได้แก่ชุมชนที่ส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคมผ่านโอกาสและสิทธิเท่าเทียมกัน ฉะนั้นจึงไม่มีการเลือกปฏิบัติ บุคคลที่มีทักษะพิเศษไม่ถูกมองว่าเหนือกว่าคนที่เหลือ ผู้นำไม่มีอำนาจมีแต่อิทธิพล บรรทัดฐานและความเชื่อของสังคมสมภาคสนับสนุนการแบ่งปันและมีส่วนร่วมอย่างเท่ากัน ถัดมาสังคมมีชนชั้นส่วนใหญ่เป็นชุมชนเกษตรกรรมที่มีการจัดกลุ่มแบบลำดับชั้นจากหัวหน้าซึ่งมองว่ามีสถานภาพในสังคม ในสังคมนี้มีการจัดจำแนกบุคคลตามสถานภาพและเกียรติภูมิ ไม่ใช่ตามการเข้าถึงอำนาจและทรัพยากร หัวหน้าเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด ตามด้วยครอบครัวและญาติของหัวหน้า และผู้ที่เกี่ยวดองกับเขาลดลงก็มีชนชั้นต่ำลงไปด้วย สังคมมีการจัดช่วงชั้นเป็นสังคมที่จัดบุคคลในแนวดิ่งเป็นชนชั้นสูง ชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง การจัดจำแนกนี้คำนึงถึงทั้งความมั่งคั่ง อำนาจและเกียรติภูมิ ชนชั้นสูงส่วนใหญ่เป็นผู้นำและผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในสังคม ทั้งนี้บุคคลสามารถเลื่อนจากชนชั้นหนึ่งไปอีกชนชั้นหนึ่งได้ และสถานภาพทางสังคมสามารถสืบทอดจากรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่งได้[2]

มีความเหลื่อมล้ำทางสังคม 5 ระบบหรือชนิด ได้แก่ ความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง ความเหลื่อมล้ำของการปฏิับติและความรับผิดชอบ ความเหลื่อมล้ำทางการเมือง ความเหลื่อมล้ำในชีวิต และความเหลื่อมล้ำของสมาชิกภาพ; ความเหลื่อมล้ำทางการเมืองเป็นความแตกต่างที่เเกิดจากความสามารถเข้าถึงทรัพยากรภาครัฐ จึงไม่มีความเสมอภาคของพลเมือง สำหรับความแตกต่างทางการปฏิบัติและความรับผิดชอบ บุคคลบางกลุ่มได้รับประโยชน์มากกว่าและได้เเอกสิทธิ์เร็วกว่าคนอื่น ในสถานีงาน บางกลุ่มมีความรับผิดชอบมากกว่า จึงได้รับค่าตอบแทนมากกว่าและผลประโยชน์ดีกว่ากลุ่มที่เหลือแม้มีคุณวุฒิเท่ากัน; ความเหลื่อมล้ำของสมาชิกภาพคือจำนวนสมาชิกในครอบครัว ชาติหรือศาสนา ความเหลื่อมล้ำของชีวิตเกิดจากความไม่เสมอภาคของโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนคนนั้น สุดท้ายความเหลื่อมล้ำของรายได้และความมั่งคั่งนั้นเกิดจากมีรายได้รวมไม่เท่ากัน[7]

ตัวอย่างสำคัญของความเหลื่อมล้ำทางงสังคม ได้แก่ ช่องว่างของรายได้ ความเหลื่อมล้ำทางเพศ สาธารณสุขและชนชั้นทางสังคม ในด้านสาธารณสุข บุคคลบางกลุ่มได้รับการรักษาดีกว่าและเป็นวิชาชีพมากกว่ากลุ่มอื่น ความแตกต่างของชนชั้นทางสังคมยังประจักษ์ชัดในระหว่างการชุมนุมสาธารณะโดยที่ชนชั้นสูงได้รับที่นั่งดีที่สุด รวมทั้งการได้รับการต้อนรับและได้รับจัดลำดับความสำคัญก่อน[7]

สถานภาพในสังคมมี 2 ประเภท แบ่งเป็นลักษณะที่ติดตัวมาแต่กำเนิด (ascribed) และลักษณะที่หามาได้ภายหลัง (achieved) ลักษณะที่ติดตัวมาแต่กำเนิดคือเกิดมาพร้อมกับมีลักษณะนั้น หรือได้รับกำหนดจากผู้อื่นซึ่งบุคลนั้นควบคุมแทบไม่ได้โดยสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่น เพศ สีผิว รูปทรงตา สถานที่เกิด เพศสภาพ อัตลักษณ์ทางเพศ บิดามารดาและสถานภาพทางสังคมของบิดามารดา ลักษณะที่หามาได้ภายหลัง ได้แก่ ลักษณะที่บุคคลประสบความสำเร็จหรือเลือกเอง เช่น ระดับการศึกษา สถานภาพสมรส สถานะความเป็นผู้นำ และการชี้วัดคุณธรรมอย่างอื่น ในบางสังคม สถานภาพทางสังคมเกิดจากปัจจัยติดตัวมาแต่กำเนิดและที่หามาได้ภายหลังผสมกัน อย่างไรก็ดี ในบางสังคมคำนึงเฉพาะปัจจัยที่ติดตัวมาแต่กำเนิดในการตัดสินสถานภาพทางสังคมของบุคคล ฉะนั้นจึงมีการเปลี่ยนแปลงสถานภาพทางสังคมน้อยถึงไม่มีเลย และช่องทางให้เกิดความเสมอภาคทางสังคมน้อยตามไปด้วย[8] ความเหลื่อมล้ำทางสังคมประเภทนี้ทั่วไปเรียก ความเหลื่อมล้ำทางวรรณะ (caste)

ที่ทางทางสังคมของบุคคลในโครงสร้างภาพรวมของสังคมชนิดที่มีการจัดช่วงชั้นเป็นเหตุและผลของแทบทุกแง่มุมชีวิตสังคมและโอกาสในชีวิตของบุคคล[9] ตัวชี้วัดดีที่สุดเลือกมาตัวเดียวที่บอกสถานภาพทางสังคมในอนาคตของบุคคล คือ สถานภาพทางสังคมที่เขาผู้นั้นเกิดมา แนวทางเข้าสู่ทางทฤษฎีที่อธิบายความเหลื่อมล้ำทางสังคมมุ่งสนใจปัญหาว่าการจำแนกทางสังคมเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และมีการจัดสรรทรัพยากรประเภทใด (ตัวอย่างเช่น ปริมาณสำรองหรือทรัพยากร)[10] บทบาทของความร่วมมือและความขัดแย้งของมนุษย์ในการจัดสรรของทรัพยากรคืออะไร และความเหลื่อมล้ำประเภทและแบบต่าง ๆ มีผลต่อการทำหน้าที่โดยรวมของสังคมอย่างไร

ตัวแปรที่พิจารณาว่ามีความสำคัญสูงสุดในการอธิบายความเหลื่อมล้ำและรูปแบบที่ตัวแปรเหล่านั้นประกอบกันให้เกิดความเหลื่อมล้ำและผลลัพธ์ทางสังคมในสังคมหนึ่ง ๆ นั้นเปลี่ยนแปลงได้ตามกาละเทศะ นอกเหนือไปจากความสนใจในการเปรียบเทียบและหาความแตกต่างของความเหลื่อมล้ำทางสังคมในระดับท้องถิ่นและรดับชาติ ในห้วงกระบวนการโลกาภิวัฒน์สมัยใหม่ ก่อให้เกิดคำถามน่าสนใจว่า ความเหลื่อมล้ำในระดับโลกมีลักษณะเป็นอย่างไร และความเหลื่อมล้ำระดับโลกเช่นนั้นจะเป็นอย่างไรในอนาคต ผลของโลกาภิวัฒน์ลดระยะทางของกาละเทศะ ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระดับโลกซึ่งวัฒนธรรมและสังคม และบทบาททางสังคมซึ่งสามารถเพิ่มความเหลื่อมล้ำระดับโลกให้สูงขึ้น[8]

แผนที่โลกแสดงดัชนีการพัฒนามนุษย์ที่ปรับตามความเหลื่อมล้ำแล้ว (inequality-adjusted HDI) ในปี 2014 ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการพัฒนามนุษย์สำหรับบุคคลเฉลี่ยในสังคม
สัดส่วนการถือครองความมั่งคั่ง (สีแดง) แบ่งตามกลุ่มความมั่งคั่ง (สีน้ำเงิน) ข้อมูลจากเครดิตสวิส ปี 2017

เชิงอรรถ แก้

  1. "Merit" ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสามารถ ความพยายามและความสำเร็จ เช่น มีการศึกษาสูง อาชีพการงานดี ประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน เป็นต้น
  2. เป็นการวัดการกระจุกตัวของความมั่งคั่งและรายได้ในประเทศเป็นค่าระหว่าง 0 (กระจายเท่ากันหมด) ถึง 1 (กระจุกอยู่ที่คนคนเดียว)

อ้างอิง แก้

  1. Caves, R. W. (2004). Encyclopedia of the City. Routledge. ISBN 9780415252256.
  2. 2.0 2.1 Wade, Robert H. (2014). "The Piketty phenomenon and the future of inequality" (PDF). Real World Economics Review (69–7): 2–17. สืบค้นเมื่อ 26 June 2017.
  3. 3.0 3.1 Rugaber, Christopher S.; Boak, Josh (27 January 2014). "Wealth gap: A guide to what it is, why it matters". AP News. สืบค้นเมื่อ 27 January 2014.
  4. "Reports | Human Development Reports". hdr.undp.org. สืบค้นเมื่อ 1 February 2017.
  5. Walker, Dr. Charles. "New Dimensions of Social Inequality". www.ceelbas.ac.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-01-21. สืบค้นเมื่อ 22 September 2015.
  6. Deji, Olanike F. (2011). Gender and Rural Development. London: LIT Verlag Münster. p. 93. ISBN 978-3643901033.
  7. 7.0 7.1 7.2 Osberg, L. (2015). Economic inequality in the United States. Routledge.
  8. 8.0 8.1 Sernau, Scott (2013). Social Inequality in a Global Age (4th edition). Thousand Oaks, CA: Sage. ISBN 978-1452205403.
  9. Neckerman, Kathryn M. & Florencia Torche (2007). "Inequality: Causes and Consequences". Annual Review of Sociology. 33: 335–357. doi:10.1146/annurev.soc.33.040406.131755. JSTOR 29737766.
  10. Cullati, Stéphane; Kliegel, Matthias; Widmer, Eric (2018-07-30). "Development of reserves over the life course and onset of vulnerability in later life". Nature Human Behaviour. 2 (8): 551–558. doi:10.1038/s41562-018-0395-3. ISSN 2397-3374. PMID 31209322.

บทอ่านเพิ่มเติม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

 
Wikiquote
วิกิคำคมภาษาอังกฤษ มีคำคมที่กล่าวโดย หรือเกี่ยวกับ: ความเหลื่อมล้ำทางสังคม