ถนนเสือป่า (อักษรโรมัน: Thanon Suea Pa) เป็นถนนในท้องที่แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร โดยแยกจากถนนเจริญกรุงที่แยกเสือป่าไปออกถนนหลวงที่แยกโรงพยาบาลกลาง

ถนนเสือป่า

ถนนเสือป่าสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. 2464 เนื่องจากเกิดเพลิงไหม้ที่ตำบลตรอกเต้าหู้ ตอนริมถนนเจริญกรุง ท้องที่อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่ายเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2464 ทำให้ทรัพย์สินของประชาชนเสียหายมาก เพราะพื้นที่ในละแวกดังกล่าวมีบ้านเรือนปลูกสร้างเบียดเสียด และไม่มีถนนใหญ่ไม่เพียงพอให้ป้องกันอันตรายได้ทันท่วงที อีกทั้งยังไม่สะอาด เป็นเหตุให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บแก่ราษฎร กรมสุขาภิบาล กระทรวงนครบาล จึงกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าควรตัดถนนผ่านละแวกนี้ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในการสัญจรไปมา และเพื่อบำรุงความสะอาดเรียบร้อย ตลอดจนสามารถช่วยเหลือป้องกันอันตรายในเวลาที่มีเหตุเกิดขึ้น

ในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงนครบาลตัดถนนเสือป่า ถนนยมราชสุขุม ถนนเจ้าคำรพ และถนนศรีธรรมาธิราช รวมทั้งขยายตรอกเต้าหู้ ตั้งแต่ถนนเจริญกรุงไปบรรจบกับถนนยมราชสุขุม และโปรดเกล้าฯ ให้ถมคูแยกจากคลองจักรวรรดิที่ถมแล้วไปเชื่อมกับตรอกเต้าหู้ด้วย โดยถนนเสือป่าตัดตั้งแต่ถนนเจริญกรุงไปออกถนนหลวงข้างโรงพยาบาลกลาง ขนาดกว้าง 10 วา เพื่อเป็นทางเชื่อมกับถนนราชวงศ์

เมื่อมหาอำมาตย์นายกเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงนครบาล กราบบังคมทูลขอรับพระราชทานนามถนน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราชจดนามสถานที่สำคัญที่อยู่ใกล้เคียงถนน หรือนามบุคคลสำคัญผู้อยู่ใกล้หรือเกี่ยวข้องเพื่อจะได้ทรงถือเป็นเกณฑ์ในการพระราชทานชื่อและได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อถนนสายนี้ว่า "ถนนเสือป่า" เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2464 เพื่อเป็นการระลึกถึงกิจการเสือป่าของพระองค์[1]

ปัจจุบัน ถนนเสือป่าเป็นแหล่งจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและไอทีต่าง ๆ เช่นเดียวกับคลองถมที่อยู่ใกล้เคียง โดยเฉพาะซองและปลอกหุ้มโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีจำหน่ายทั้งขายปลีกและขายส่ง[2]

อ้างอิง

แก้
  1. "กว่าจะมาเป็นกรุงเทพฯ". กรุงเทพมหานคร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-20. สืบค้นเมื่อ 2018-02-13.
  2. "เสือป่าพลาซ่า แหล่งค้าส่งสินค้าไอที เคสมือถือ ราคาถูกสุดๆ". smeleader.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°44′44″N 100°30′34″E / 13.74548°N 100.50931°E / 13.74548; 100.50931