ตลาดน้ำตลิ่งชัน

ตลาดน้ำตลิ่งชัน เป็นตลาดน้ำริมคลองชักพระ แขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2530 ตามนโยบายของผู้บริหารกรุงเทพ[1]

ตลาดน้ำตลิ่งชัน

ตลาดน้ำตลิ่งชัน ตั้งอยู่บริเวณหน้าสำนักงานเขตตลิ่งชัน เปิดดำเนินการในวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 07.00-17.00 น. มีสินค้ามากมายจัดจำหน่าย โดยช่วงแรกของทางเข้ามีไม้ดอกไม้ประดับจำหน่าย ถัดมาจะเป็นร้านขายขนมไทยและอาหารของฝาก ภายในตลาดนั้นได้มีการจัดทำเรือนแพลอยน้ำ ให้นักท่องเที่ยวได้ซื้ออาหารจากพ่อค้าแม่เค้าที่ขายบนเรือมานั่งรับประทานบนแพ และมีบริการเรือนำเที่ยวพาไปยังสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง เช่น วัดปากน้ำภาษีเจริญ โดยซื้อตั๋วได้บนฝั่ง[2]

ประวัติ แก้

 
ลักษณะของร้านค้า

จำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเมื่อ พ.ศ. 2530 มีนโยบายจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวตามนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ได้วางแผนให้สำนักงานเขตต่าง ๆ เสนอกิจกรรมท่องเที่ยวของตัวเอง นายประชุม เจริญลาภ ผู้อำนวยการเขตตลิ่งชันในขณะนั้นรับนโยบายมาประชุมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ จึงเกิดแนวคิดว่าเขตตลิ่งชันมีเอกลักษณ์คือตลาดน้ำตั้งแต่ในอดีต จึงได้เสนอไปยังกรุงเทพมหานครและต่อมาได้รับการอนุมัติ

สำนักงานเขตตลิ่งชันได้มองหาพื้นที่รอบเขต พบว่าบริเวณวัดช่างเหล็ก วัดตลิ่งชัน หน้าโรงเรียนตลิ่งชัน และหน้าสำนักงานเขตตลิ่งชันเป็นพื้นที่เหมาะสมในการทำเป็นตลาดน้ำ แต่สถานที่ที่เหมาะสมที่สุดคือหน้าสำนักงานเขตตลิ่งชัน เพราะสถานที่อื่นมีที่จอดรถไม่เพียงพอและแออัดไม่สามารถขยายพื้นที่ต่อไปได้ แต่บริเวณหน้าสำนักงานเขตตลิ่งชันมีที่จอดรถของทางสำนักเขต มีสวนสาธารณะ และยังตั้งอยู่ริมคลองที่สามารถสร้างแพริมน้ำได้ เริ่มแรกหลังประชาสัมพันธ์เรื่องตลาดน้ำก็มีคนสนใจเป็นจำนวนมาก ขอติดต่อเข้ามาขายของ ในช่วงแรกมี 20–30 ซุ้ม ภายหลังมีผู้ค้าเพิ่มขึ้น ประชาชนได้ช่วยกันออกทุนทรัพย์เพื่อสร้างโป๊ะแพริมคลองชักพระจำนวน 13 หลัง แต่จะแตกต่างจากตลาดน้ำดั้งเดิมคือมีลักษณะเป็นตลาดบกแต่มีการสร้างโป๊ะแพขึ้นริมน้ำ

จนเมื่อ พ.ศ. 2534 มีการเปลี่ยนแปลงองค์กรบริหารในสำนักงานเขตตลิ่งชัน ซึ่งไม่ได้ให้ความสนใจในการพัฒนาตลาดน้ำเท่าที่ควร เพราะผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ ขาดงบประมาณจึงทำให้ตลาดน้ำถูกปล่อยปละละเลยจนทรุดโทรมลง กลุ่มผู้ค้าตลาดน้ำพยายามปรับปรุงพัฒนาแต่ก็ยังไม่คึกคักเหมือนตอนเริ่มเปิดใหม่ ในช่วงปี พ.ศ. 2535 แทบไม่มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการเลย

จนกระทั่ง พ.ศ. 2541 เมื่อสำนักงานเขตตลิ่งชันเปลี่ยนชุดบริหารใหม่ เรืออากาศโทอิราวัสส์ ปัทมะสุคนธ์ มารับตำแหน่งผู้อำนวยการเขตตลิ่งชัน จึงเข้ามาปรับปรุงตลาดน้ำตลิ่งชันอีกครั้ง ประกอบกับในช่วงนั้นประเทศไทยอยู่ในช่วงปีอเมซิงไทยแลนด์ ได้มีการปรับปรุงซ่อมแพโป๊ะ ปรับปรุงสภาพแวดล้อม ที่จอดรถ วางแผนส่งเสริมการท่องเที่ยว กำหนดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น วันลอยกระทง วันสงกรานต์ ประเพณีชักพระ จึงทำให้ตลาดน้ำตลิ่งชันกลับมาคึกคักเหมือนเดิม[3]

อ้างอิง แก้

  1. "ตลาดน้ำ ความต้องการของคนใน". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-27. สืบค้นเมื่อ 2021-04-27.
  2. "เพลิดเพลินเจริญใจ...ในตลาดน้ำตลิ่งชัน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-03-05. สืบค้นเมื่อ 2015-01-17.
  3. ศรัณยพงศ์ โชติวรรณ์. "ผลกระทบของตลาดน้ำตลิ่งชันต่อชุมชนริมน้ำคลองชักพระ แขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

13°46′35″N 100°27′24″E / 13.776367°N 100.456660°E / 13.776367; 100.456660