ตระกูลหวั่งหลี
ตระกูลหวั่งหลี เป็นตระกูลนักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีนจากซัวเถา ประเทศจีนเริ่มต้นธุรกิจตั้งแต่ธุรกิจผลิตวุ้นเส้น การค้าฝ้าย ค้าปอ เรื่อยมาจนถึงธุรกิจตลาดสด มายังธุรกิจศูนย์การค้าและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งธุรกิจประกันภัย ธนาคาร ฯลฯ ก่อตั้งบริษัทอย่างนวกิจประกันภัย พูนผล พูลพิพัฒน์ ฯลฯ
หวั่งหลี | |
---|---|
ตระกูลบรรพบุรุษ | แซ่ตั้ง |
ประเทศ | ประเทศไทย |
ถิ่นพำนักปัจจุบัน | กรุงเทพมหานคร |
นิรุกติศาสตร์ | หฺวั่ง-หฺลี ภาษาแต้จิ๋ว: 黌 (หวั่ง)+利 (หลี) "โรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ" |
ถิ่นกำเนิด | หมู่บ้านโจ่ยโคย ตำบลซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน |
ต้นตระกูล | ตันฉื่อฮ้วง แซ่ตั้ง |
สถานที่พำนักในอดีต | บ้านหวั่งหลี |
ตระกูลที่เกี่ยวข้อง | ตระกูลล่ำซำ |
ทรัพย์สิน | ล้ง 1919 หวั่งหลี พูนผล พูลพิพัฒน์ ชัยทิพย์ ซิโน พอร์ท ธนาคารนครธน (อดีต) นวกิจประกันภัย |
ประวัติ
แก้ต้นตระกูลคือ ตันฉื่อฮ้วง แซ่ตั้ง เป็นพ่อค้าที่ล่องเรือไปมาระหว่างซัวเถากับกรุงเทพ เพื่อนำข้าวไทยไปค้าขายในที่อื่น พร้อมทั้งนำผ้าไหมจากจีนกลับมาขายในไทย เมื่ออายุ 27 ปี จึงได้ตัดสินใจตั้งรกรากที่ไทย เมื่อ พ.ศ. 2414 อันเป็นปีที่ 3 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตันฉื่อฮ้วง มีภรรยาอยู่ที่เมืองจีนแล้วหนึ่งคน และมีภรรยาชาวไทยนามว่า หนู ตระกูลโปษยานนท์ มีลูกด้วยกัน 4 คน เป็นชาย 2 หญิง 2 หลังจากตันฉื่อฮ้วงสร้างบ้านหวั่งหลี ขยายธุรกิจค้าข้าวจนเจริญรุ่งเรือง และได้ริเริ่มกิจการโรงสีขึ้นอีก 2 โรง จน พ.ศ. 2447 ตันฉื่อฮ้วง ตัดสินใจเดินทางกลับไปใช้ชีวิตกับภรรยาชาวจีนที่หมู่บ้านโจ่ยโคย ตำบลซัวเถา โดยให้บุตรชาย ตันลิบบ๊วย มาเป็นผู้สานต่อกิจการแทน
ตันลิบบ๊วยได้ขยายกิจการทำท่าเรือและโกดังเก็บสินค้า พร้อมกับตั้งบริษัทหวั่งหลีขึ้น มีการตั้งฝ่ายการเงิน เพื่อความคล่องตัวในด้านการแลกเปลี่ยนเงินในกิจการของบริษัท และตั้งแผนกประกันเรือรวมทั้งสินค้า เพื่อป้องกันความเสียหายในการเดินเรือบรรทุกสินค้า หลังสงครามโลกครั้งที่สองได้ตั้งห้างฮ่วงหลีจั่น เพื่อทำหน้าที่แลกเปลี่ยนและส่งเงินตราต่างประเทศ ภายหลังห้างฮ่วงหลีจั่นต่อมาได้กลายเป็นบริษัทธนาคารหวั่งหลีจั่น และธนาคารหวั่งหลี ตามลำดับ ก่อนที่จะเป็นธนาคารนครธนซึ่งได้ร่วมธุรกิจกับธนาคารซิตี้แบงก์ ก่อนที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดจะมาร่วมกิจการในระยะหลัง ส่วนแผนกประกันภัยได้เปลี่ยนเป็นบริษัท หล่วงหลีประกันภัย และเป็นบริษัท นวกิจประกันภัย ในปัจจุบัน[1]
รุ่นที่ 3 บุตรชายของตันลิบบ๊วย ที่ชื่อ ตันซิวเม้ง เข้ามาทำธุรกิจให้เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมพาณิชย์จีนในประเทศไทยระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ก่อนจะเสียชีวิตจากเหตุลอบสังหาร ทำให้ตันซิวติ่งต้องเข้ามาพัฒนากิจการ ในขณะเดียวกันที่ทองพูล ผู้เป็นภรรยา ผันตัวมาเป็นนักธุรกิจหญิง เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทพูนผล บริษัทพูลพิพัฒน์ ฯลฯ รวมถึงขยายธุรกิจไปสู่การผลิตวุ้นเส้น โกดังสินค้า การค้าฝ้าย ค้าปอ การจัดการตลาด และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ[2] และบริการบริหารจัดการศูนย์การค้าต่าง ๆ
พ.ศ. 2531 วุฒิชัย หวั่งหลี รุ่นที่ 4 ตัดสินใจนำกิจการค้าข้าวออกจาก ธุรกิจกงสีของตระกูลมาบริหารจัดการด้วยตนเอง ตั้งเป็นบริษัท ชัยทิพย์ จำกัด ทำการตลาดตราสินค้าพนมรุ้งสำหรับตลาดในประเทศ และตรา Qing Ling Zhi สำหรับตลาดฮ่องกง[3]
บริษัท ซิโน พอร์ท จำกัด ซึ่งมี บริษัท หวั่งหลี จำกัด ถือหุ้น 30% และอีก 70% เป็นการถือในนามบุคคลของลูกหลานตระกูลหวั่งหลีเฉพาะกลุ่มที่ยังคงอาศัยอยู่ในประเทศไทยและผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ ได้บูรณะล้ง 1919 แต่เดิมคือ ฮวยจุ่งล้ง ที่ดินตกทอดในตระกูลของพระยาพิศาลศุภผล (ชื่น) ต้นตระกูลพิศาลบุตร จนกระทั่งตันลิบบ๊วย รุ่น 2 ของตระกูลหวั่งหลีซึ่งมีบ้านในที่ดินติดกันได้ซื้อที่ดินมาเมื่อ พ.ศ. 2462[4]
อ้างอิง
แก้- ↑ "เรื่องเล่า…เจ้าสัว "หวั่งหลี" การค้าจีน-ไทย 150 ปีก่อน". ประชาชาติธุรกิจ.
- ↑ สุวิชา พุทซาคำ. "บ้านหวั่งหลี". เดอะคลาวด์.
- ↑ ""วุฒิพล หวั่งหลี" ผู้พลิกฟื้นและสานต่ออาณาจักรค้าข้าว ระดับท็อปของประเทศ". ทิสโก้.
- ↑ พัฐรัศมิ์ ว่องไชยกุล. "ตระกูล 'หวั่งหลี' ชุบชีวิต 'ล้ง 1919' ตำนานท่าเรือกลไฟ 167 ปีแห่งคลองสาน". ฟอบส์ประเทศไทย.