ล้ง 1919 (จีน: 廊 1919; อังกฤษ: Lhong 1919) เป็นศูนย์การค้าแนวราบริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้านฝั่งธนบุรี ตั้งอยู่ที่ปลายสุดของถนนเชียงใหม่ แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร ดำเนินกิจการโดย ตระกูลหวั่งหลี ตั้งอยู่ติดกับบ้านหวั่งหลี มีเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ และพื้นที่อาคาร 6,800 ตารางเมตร โดยอยู่ฝั่งตรงข้ามกับย่านตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ ในฝั่งพระนคร[1] เปิดตัวเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ล้ง 1919
แผนที่
ที่ตั้งถนนเชียงใหม่ แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
พิกัด13°44′03″N 100°30′27″E / 13.7342904°N 100.5076298°E / 13.7342904; 100.5076298
เปิดให้บริการ2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 (6 ปี)
ผู้พัฒนาตระกูลหวั่งหลี
ผู้บริหารงานหวั่งหลี
พื้นที่ชั้นขายปลีก6 ไร่
จำนวนชั้นสูงสุด 2 ชั้น
ขนส่งมวลชน สถานีคลองสาน
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนฮ่วยจุ่งโล่ง
ขึ้นเมื่อ23 มิถุนายน พ.ศ. 2566
เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร
เลขอ้างอิง0008882
ภาพพาโนรามาของโครงการ

ล้ง 1919 เกิดขึ้นจากการบูรณะอาคารเก่าทั้งหมด มีความโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมจีน ก่ออิฐถือปูนและการใช้โครงสร้างไม้ที่ยังคงเก็บรูปแบบอย่างเดิมไว้ ลักษณะของโครงการนี้คล้ายคลึงกับ เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนต์ ที่ตั้งอยู่ไม่ห่างกันมากนัก ภายใน ล้ง 1919 ประกอบด้วย โกดังเก่าของตระกูลหวั่งหลี ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว ศาลเจ้าจีนเก่าแก่ในเขตคลองสาน ท่าเรือหวั่งหลี ลานกิจกรรมกลางแจ้ง และ Co-Working Space[2]

ประวัติ

แก้

เดิมบริเวณนี้เป็นท่าเรือของพระยาพิศาลศุภผล (ชื่น) ต้นตระกูลพิศาลบุตร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2393 โดยมีชื่อว่า "ฮวยจุ่งล้ง" (火船廊; แปลว่า ท่าเรือกลไฟ[3]) เป็นท่าเรือกลไฟและโกดังสินค้าสำหรับรองรับเรือสินค้าจากหัวเมืองประเทศต่าง ๆ เช่น มลายู สิงคโปร์ จีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง ต่อมาขายให้แก่นายตันลิบบ๊วย แห่งตระกูลหวั่งหลี ในปี พ.ศ. 2462 จนกระทั่งภายหลังบริษัทหวั่งหลี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของครอบครัวเข้ามาเป็นผู้บริหารดูแล

ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 ตระกูลหวั่งหลี ได้มีโครงการที่จะเปลี่ยนที่นี่ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและจุดหมายตาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเริ่มเข้ามาพัฒนาพื้นที่และเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 โดยเป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ จุดถ่ายรูป ร้านจำหน่ายสินค้าศิลปะและหัตถกรรม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ความสัมพันธ์ไทย-จีน และสถานที่พักผ่อน[1]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 Decor (2017-11-03). "ล้ง 1919 โบราณสถาน สถาปัตยกรรมจีน ยุค ร.๔ อายุกว่า 167 ปี มรดกหวั่งหลี มรดกแผ่นดิน". สืบค้นเมื่อ 2018-01-28.
  2. เปิดแล้ว!! ล้ง 1919 (LHONG 1919) ที่เที่ยวใหม่ ใจกลางกรุงเทพฯ, Website:www.govivigo.com/ .สืบค้นเมื่อ 30/09/2561
  3. กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. "กรุงธนบุรี ในสมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์." วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2555, หน้า 93

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้