ดองดึง

สปีชีส์ของพืช
ดองดึง
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Monocots
อันดับ: Liliales
วงศ์: Colchicaceae
สกุล: Gloriosa
สปีชีส์: G.  superba
ชื่อทวินาม
Gloriosa superba
L.
ชื่อพ้อง
  • Eugone superba
  • Gloriosa rothschildiana
  • Methonica superba

ดองดึง (อังกฤษ: Climbing Lily, Turk's cap, Superb Lily; ชื่อวิทยาศาสตร์: Gloriosa superba) หรือ ดาวดึง, หัวฟาน, หัวขวาน, พันมหา (อีสาน) เป็นพืชชนิดหนึ่งจำพวกหัว ต้นมีลักษณะเป็นเถาปลายตั้ง ใบเดี่ยวรูปหอก ส่วนปลายแหลมยาวบิดม้วนช่วยยึดเกาะ ลักษณะของดอกเป็นดอกเดี่ยว กลีบเรียวยาว ขอบของดอกบิดเป็นคลื่นปลายกลีบมีสีแดง ที่โคนหากบานใหม่ ๆ จะมีสีเหลือง แต่เมื่อแก่จะมีสีส้ม ผลเป็นรูปกระสวยเมื่อแก่จะแตกออก เมล็ดมีสีส้ม หัวกลมเรียวมีหงอนเหมือนขวาน มักขึ้นตามป่าดงดิบเขาชื้น หรือที่รกร้างว่างเปล่าที่มีความชุ่มชื้นสูง ขยายพันธ์ด้วยเมล็ดหรือแยกเหง้า

สรรพคุณ แก้

  • หัว เมื่อนำมาตำแล้วใช้ทาจะมีสรรพคุณช่วยแก้โรคปวดข้อ แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย แก้ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ส่วนหัวแห้งหากนำมาปรุงเป็นยารับประทานจะสามารถรักษาโรคเรื้อน กามโรค ขับลม ซึ่งหากใช้ในปริมาณมากเกินไปอาจเกิดอันตรายได้
  • ราก มีสรรพคุณ แก้จุกเสียด ลดเสมหะ ทาแก้โรคผิวหนัง
  • เมล็ดและหัวของดองดึงนำมาโขลกให้ละเอียด ใช้เป็นยาเบื่อสัตว์ ส่วนหัวของดองดึงมีพิษถึงตาย[1]

สารที่สำคัญในดองดึง แก้

ส่วนหัวมีสารสำคัญหลายชนิด ได้แก่ colchicine, superbine, gloriosine และแอลคาลอยด์อื่น ๆ สาร colchicine มีสรรพคุณในการรักษาโรคปวดข้อได้ดี แต่เป็นมีพิษต่อเซลล์โดยไปยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ ซึ่งทำให้สามารถนำไปรักษาโรคมะเร็งได้ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครโมโซม ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการผสมพันธุ์ให้แก่พืช เพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่

โทษของดองดึง แก้

สาร colchicine ภายในดองดึงนั้นส่งผลเสียต่อการแบ่งตัวของเซลล์ และเป็นพิษต่อทางเดินอาหาร อาการของพิษนั้นจะเกิดขึ้นประมาณ 2 ชั่วโมงหลังจากที่ได้รับประทานสารนี้เข้าไปในร่างกาย อาการคือ จะรู้สึกแสบร้อน ในปากและลำคอ คอแห้ง กระหายน้ำ มีความรู้สึกเหมือนหายใจไม่ออก กลืนไม่ลง คลื่นไส้ ปั่นป่วนในท้องและอาเจียนอย่างรุนแรง อุจจาระร่วง ปวดท้องปวดเบ่ง จนไม่มีอุจจาระ สาเหตุเป็นเพราะร่างกายเสียน้ำมาก ส่งผลให้หมดสติ หากไม่รีบแก้ไข อุณหภูมิในร่างกายต่ำลงและตายในที่สุด

โทษที่เกิดจากการยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ หลังจากที่ได้รับสารพิษเข้าไปประมาณ 10 ชั่วโมง จะเป็นช่วงที่อาการหนักที่สุด การขับถ่ายสารออกจากร่างกายจะเป็นไปอย่างช้าๆ พิษของสารที่เกิดจากการรับประทานเข้าไปแต่ละครั้ง จะถูกสะสมไว้ในร่างกาย และปะปนออกมากับน้ำนมของสัตว์ที่ได้รับสารนี้เข้าไป และจะเกิดเป็นพิษต่อคนที่กินนมที่มีสารพิษนี้เข้าไปด้วย

อ้างอิง แก้

  1. จารุพันธ์ ทองแถม. พืชมหัศจรรย์โลกวิกฤติ. กทม. เศรษฐศิลป์. 2555
  • สุดยอดสมุนไพรธรรมชาติที่ควรรู้ ศักดิ์ บวร สมิต,สนพ. ปีที่พิมพ์ มค.2543