ไม้เลื้อย หรือ ไม้เถา คือ พืชที่ไม่มีเนื้อไม้แข็ง ทำให้ไม่สามารถทรงตัวได้โดยลำพัง ลำต้นเลื้อยไปตามดินหรือพันสิ่งที่อยู่ใกล้เคียงเป็นที่ยึดเกาะเพื่อพยุงให้ลำต้นเจริญอยู่ได้ โดยอาจมีอวัยวะพิเศษช่วยในการเกี่ยวยึด เช่น ราก มือเกาะ ขอเกี่ยว[1] ไม้เลื้อยเป็นประเภทหนึ่งในการจำแนกพืชตามโครงสร้างและทรงของลำต้น คือ ไม้ยืนต้นหรือไม้ต้น, ไม้พุ่ม, ไม้ล้มลุกหรือพืชลำต้นอ่อนและ ไม้เถาหรือไม้เลื้อย (vines หรือ climber)

พลู ไม้เลื้อยชนิดหนึ่งเป็นที่รู้จักดีในประเทศไทย

ศัพทมูลวิทยา

แก้

ไม้เลี้อย บางครั้งอาจเรียก ไม้เถา หรือ ไม้เถาเลื้อย ในภาษาอังกฤษโดยทั่วไปไม้เลื้อยเรียก vine มาจากภาษาละติน vīnea "เถาองุ่น" (grapevine) และ "ไร่องุ่น" (vineyard) ซึ่งมาจาก vīnum แปลว่า "ไวน์" (wine) และในบางพื้นที่ไม้เลื้อยแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ vine คือพืชไม้เลื้อยเฉพาะสกุลองุ่น และ climber หรือ climbing plant สำหรับไม้เลื้อยชนิดอื่นที่เหลือ

ในภาษาจีน 藤本植物 (Téngběn zhíwù, เถิงเปิ่นจึอู้) แปลตามตัวว่า "พืชเถา" หมายถึง ไม้เถา หรือพืชตระกูลหวาย

รูปแบบการเจริญเติบโต

แก้
 
มือเกาะ (tendril)
 
เถาองุ่นเลื้อยปกคลุมปล่องไฟ

พืชประเภทไม้เลื้อย หรือไม้เถา โดยทั่วไปเจริญเติบโตมีลำต้นเลื้อย (trailing stem) ตั้งแต่เริ่ม เช่น พวงชมพู กระเทียมเถา สร้อยอินทนิล[2] บอระเพ็ด ตำลึง อัญชัน[3] กลอย นมตำเลีย[4] เป็นต้น บางครั้งไม้เลื้อยอาจรวมพืชจำพวกไม้รอเลื้อย (scandent) หรือที่เรียก ไม้พุ่มกึ่งเลื้อย, ไม้พุ่มกึ่งไม้เถา, หรือ ไม้พุ่มรอเลื้อย ซึ่งเติบโตเป็นพุ่ม (shrub) ในช่วงแรกสามารถทรงตัวอยู่ได้เมื่อขึ้นอยู่ตามลำพัง และแตกกิ่งก้านรอบทิศโดยกิ่งก้านไม่เลื้อยทอดลงดิน ต่อเมื่อกิ่งก้านบางส่วนทอดเอนเข้าใกล้ต้นไม้อื่นหรือสิ่งอื่นที่อยู่ใกล้เคียง กิ่งก้านนั้นจะเลื้อยพันสิ่งนั้น ๆ (เป็นไม้เลื้อยในบางเวลาเมื่อทอดเอนกับสิ่งยึดเกาะได้) [2][5][6] เช่น ถอบแถบน้ำ สักขี สำมะงา[7] การเวก นมแมว โนรา เฟื่องฟ้า[2][5] เป็นต้น

วัตถุประสงค์

แก้
 
เถาของบอระเพ็ดมีเปลือกแข็งคล้ายไม้ แต่ข้างในไม่มีเนื้อไม้แบบไม้ยืนต้น

ไม้เลื้อย มีลำต้นที่มีรูปแบบการเจริญเติบโตแบบอาศัยการเลื้อย พัน เกาะ เพื่อวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ ไม้เลื้อยวิวัฒนาการโดยสร้างตามแนวยาว (ยืดยาว) แทนที่จะลงทุนใช้พลังงานจำนวนมากในการสร้างเนื้อเยื่อ (เนื้อไม้) ที่ใช้เป็นโครงสร้างในการทรงตัว อาจอาศัยหินที่เปิดโล่ง พืชอื่น หรือสิ่งพยุงอื่น ๆ ในการสนับสนุนการเจริญเติบโต และสามารถเข้าถึงแสงแดดได้ด้วยการลงทุนพลังงานน้อยที่สุด เป็นรูปแบบการเจริญเติบโตที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในพืชเช่น พวงชมพู สายน้ำผึ้ง ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์รุกรานในบางส่วนของอเมริกาเหนือ และขี้ไก่ย่าน ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์รุกรานในประเทศไทย ไม้เลื้อยเขตร้อนบางชนิดเจริญเติบโตแบบเบนออกจากแสง (skototropism ― ในทางตรงข้ามของการเบนเข้าหาแสง) พยายามงอกไปยังทิศทางที่ไม่มีแสง การเจริญเติบโตลักษณะนี้เพื่อทำให้กิ่งก้านของไม้เลื้อยงอกไปถึงโคนต้นไม้ และอาศัยปีนขึ้นไปยอดไม้ที่สว่างกว่าได้อย่างรวดเร็ว[8]

รูปแบบการเจริญเติบโตของไม้เลื้อยอาจสามารถครองพื้นที่ขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องปีนสูง เช่น แพงพวยฝรั่ง และ หูเสือเลื้อยใบด่าง (Glechoma hederacea) นอกจากนี้ไม้เลื้อยสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพพื้นที่ เช่น เถาของไม้เลื้อยสามารถหยั่งรากลงดินในพื้นที่ที่มีดินอุดมสมบูรณ์เป็นหย่อม ๆ มีดินน้อยหรือไม่มีเลย และใบส่วนใหญ่ยังเจริญเฉพาะในบริเวณที่สว่างและโล่งหรือมีแสงแดดส่องถึงเป็นช่วง ๆ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากทั้งสองสภาพแวดล้อม

วิวัฒนาการและกลไกการเลื้อย

แก้
ยอดพันพันตามเข็มนาฬิกา (twining vine หรือ bine) ของ Fockea edulis
เถาที่มีมือเกาะ ของ Brunnichia ovata

กลไกการเลื้อย

แก้

วิวัฒนาการของพฤติกรรมการเลื้อยของพืช แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการพัฒนาความหลากหลายของพันธุ์พืช วิวัฒนาการอย่างอิสระในพืชวงศ์และสกุลต่าง ๆ ทำให้มีวิธีการเลื้อยที่แตกต่างกัน ได้แก่

  • ลำต้นพัน ― ยอดของลำต้นงอกไต่ขึ้นที่สูงโดยปลายยอดม้วนพันสิ่งพยุง (twining stem, เรียกพืชจำพวกนี้ว่า twiner) เช่น พืชสกุลมอร์นิ่งกลอรี่และผักบุ้ง, สังวาลย์พระอินทร์, วีสเตียเรีย
  • รากเกาะ ― การงอกและยึดด้วยราก (root climbing, เรียกพืชจำพวกนี้ว่า root climber) เช่น พลู, พริกไทย, พืชสกุล Hedera ได้แก่ ไอวี่
  • ก้านใบบิด หรือพันสิ่งพยุง เช่น กล็อกซิเนียเลื้อย, สกุลพวงแก้วกุดั่น การพันเลื้อยด้วยก้านใบมักไม่ทำลายโครงสร้างอาคารที่มันยึดเกาะ[9]
  • มือเกาะ ― โดยการสร้าง 'ส่วนขยาย' ที่ไวต่อการสัมผัส (tendril) และสามารถจับได้โดยหมุนเกลียวรอบวัตถุที่เป็นสิ่งพยุงและไต่ขึ้นที่สูงอย่างมีเสถียรภาพ[10] ยังสามารถใช้เป็น "สมอ" แทรกเข้าในรู รอยแตก และรอยแยก (ลักษณะเดียวกับแองค์เคอร์ปีนผา) โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้าง[11]
  • มือเกาะจำพวกตีนกาว ที่มีแผ่นกาวที่ปลายรากอากาศหรือมือเกาะ ซึ่งยึดติดแน่นกับสิ่งพยุงและจะทิ้งรอยไว้บนตัวพยุงเมื่อลอกหรือแกะออก เช่นกำแพง (clinging aerial rootlets หรือ root tendril) เช่น เถาคันแดง (Parthenocissus quinquefolia), มะเดื่อเถา (หรือเรียก ตีนตุ๊กแกเกาะผนัง ―Ficus pumila)
  • ใช้หนามเกี่ยวเพื่อปีนขี้นสูงและขณะเดียวกันกดให้พืชอื่นลงด้านล่าง เช่น กุหลาบเลื้อย หรือโครงสร้างขอเกี่ยวอื่น ๆ เช่น พืชสกุลการเวก, กระดังงาจีน (Artabotrys hexapetalus) เรียกพืชจำพวกนี้ว่า rambler

ในรูปแบบอื่นได้แก่ เฟตเทอร์บุช (Pieris phillyreifolia) เป็นไม้เถาที่เลื้อยโดยไม่มีรากเกาะ มือเกาะ หรือหนาม แต่ใช้การแทรกลำต้นของมันเข้าไปในรอยแยกในเปลือกของไม้ยืนต้นที่มีเปลือกเป็นเส้นใย ลำต้นเฟตเทอร์บุชที่อยู่ในเปลือกของต้นไม้อื่นมีลักษณะแบนเป็นพิเศษ และงอกกิ่งออกมาจากซอกไม้เป็นระยะ ๆ และถี่ขึ้นในจุดที่มีแสงส่องเช่น ใกล้ยอดไม้

ไม้เลื้อยส่วนใหญ่เป็นไม้ดอก ไม้เลื้อยยังแบ่งได้เป็นพวกมีผิวไม้ (มีเปลือกลำต้นแข็ง) เช่น วีสเตียเรีย กีวี และบอระเพ็ด และไม้เลื้อยที่เป็นไม้ล้มลุก (มีลำต้นอ่อน) เช่น มอร์นิ่งกลอรี่

กลุ่มไม้เลื้อยแปลกกลุ่มหนึ่งคือเฟิร์นสกุลย่านลิเภา ซึ่งเป็นเฟิร์นเถา เลื้อยด้วยใบ โดยการคลี่ใบออกจากปลายและงอกยาวออกไปเรื่อย ๆ ไม่หยุด จนปกคลุมก่อตัวเป็นพุ่มเมื่อบนต้นไม้ หรือก้อนหิน[17]

รูปแบบการเลื้อย

แก้
 
L: รูปซ้าย การพันเกลียวของเถาที่เติบโตหมุนเป็นเกลียวทวนเข็มนาฬิกา จากพื้น เรียกการพันรูปตัว S (S-twist)
R: รูปซ้าย การพันเกลียวของเถาที่เติบโตหมุนเป็นเกลียวตามเข็มนาฬิกา จากพื้น เรียกการพันรูปตัว Z (Z-twist)[18][19]
แปลงปลูกฮอปส์ ใช้ลวดสลิงขึงในแนวตั้งให้ยอดฮอปส์ไต่พันเกลียวขึ้นไป
ลวดสลิงขึงสูง 5–6 เมตร เต็มไปด้วยฮอปส์เมื่อเก็บเกี่ยว

รูปแบบการเลื้อยพันปลายยอดของลำต้น (ลำต้นพัน) หรือ เกลียวเถาวัลย์ ( twining vines) อาจเรียก การพันเกลียว หรือ ไบน์ (bine) เป็นการเจริญเติบโตของไม้เลื้อยที่ไต่ขึ้นโดยใช้ยอดของมันที่งอกออกเป็นเกลียวไปเรื่อย ๆ ตรงกันข้ามกับไม้เลื้อยที่ปีนโดยใช้มือเกาะหรือตีนกาว เกลียวเถาวัลย์ส่วนมากมีซี่ฟัน, ก้านที่หยาบ หรือมีขนแปรงชี้ลงด้านล่างเพื่อช่วยยึดเกาะ เช่น ฮอปส์ (ที่ใช้ในการปรุงเบียร์) เป็นตัวอย่างที่สำคัญในเชิงพาณิชย์ของการปลูกพืชแบบการพันเกลียว[20][21]

ทิศทางการหมุนของปลายยอดในระหว่างการปีนป่ายเป็นไปด้วยตัวมันเอง และไม่ได้มาจากการไล่ตามแสงอาทิตย์ขึ้นไปสู่ท้องฟ้า (อย่างที่บางครั้งคิดไว้) ทิศทางของการบิดพันจึงไม่ขึ้นอยู่กับว่าพืชกำลังเติบโตอยู่ด้านใดของโลกที่แบ่งตามเส้นศูนย์สูตร

  • ไม้เลื้อยที่มีเถาหมุนตามเข็มนาฬิกาเสมอ (การหมุนตามเข็มนาฬิกาต้องมองจากจุดเดิมของเถาไปสู่ปลายที่งอกใหม่ หรือมองจากล่างขึ้นบน) ได้แก่ ถั่วรันเนอร์ (Phaseolus coccineus) และมอร์นิงกลอรี (bindweed; สกุล Convolvulus)
  • ไม้เลื้อยที่มีเถาหมุนทวนเข็มนาฬิกาเสมอ ได้แก่ ถั่วแขก (Phaseolus vulgaris) และสายน้ำผึ้ง (สกุล Lonicera)

การหมุนที่ตรงข้ามกันของ มอร์นิงกลอรี และสายน้ำผึ้ง เป็นแนวคิดของเนื้อเพลงเชิงเสียดสี "Misalliance"[22] เขียนและร้องโดยไมเคิล ฟรานเดอร์ (Michael Flanders) และโดนัลด์ สวอนน์ (Donald Swann)

อ้างอิง

แก้
  1. "ไม้เลื้อย". www.nectec.or.th.
  2. 2.0 2.1 2.2 "plant". il.mahidol.ac.th.
  3. "สมุนไพรประเภท ไม้เถา,ไม้เลื้อย". Herbs In Thailand.
  4. "ไม้เลื้อย - สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ". www.saranukromthai.or.th.
  5. 5.0 5.1 "เกร็ดพรรณไม้ เรื่อง ไม้ยืนต้น...ไม้พุ่ม...ไม้ล้มลุก...ไม้เถา...ไม้เลื้อย..." ๑๐๘ พรรณไม้ไทย. 2019-07-10.
  6. "Creepers". mannuthynursery. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-19. สืบค้นเมื่อ 17 July 2013.
  7. "ข่าวประชาสัมพันธ์ - ป่าชายเลน25, สถานี25, st25, สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 25 (อ่าวลึก), ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนที่ 16 (อ่าวลึก กระบี่)". dmcrth.dmcr.go.th.
  8. Glimn-Lacy, Janice; Kaufman, Peter B. (2006). Botany Illustrated. Springer. doi:10.1007/0-387-28875-9. ISBN 978-0-387-28870-3.
  9. "Climbing Plants with Petiole Tendril (Leaf Stalk Tendrils)". www.fassadengruen.de.
  10. "Tendril | plant anatomy". Encyclopedia Britannica (ภาษาอังกฤษ).
  11. "Stem Tendril Climbers". www.fassadengruen.de.
  12. 12.0 12.1 Cooper, W.E.; de Boer, H.J. (2011). "A taxonomic revision of Trichosanthes L. (Cucurbitaceae) in Australia, including one new species from the Northern Territory". Austrobaileya. 8 (3): 364–386. ISSN 0155-4131.
  13. "Figure 1. Sample of climbing organs found in Bignonieae. —A..." ResearchGate (ภาษาอังกฤษ).
  14. 14.0 14.1 Sousa-Baena, Mariane S.; Sinha, Neelima R.; Hernandes-Lopes, José; Lohmann, Lúcia G. (2018-04-03). "Convergent Evolution and the Diverse Ontogenetic Origins of Tendrils in Angiosperms". Frontiers in Plant Science. 9: 403. doi:10.3389/fpls.2018.00403. ISSN 1664-462X. PMC 5891604. PMID 29666627.{{cite journal}}: CS1 maint: PMC format (ลิงก์)
  15. www.studiestoday.com https://www.studiestoday.com/useful-resources-science-cbse-class-6-science-getting-know-plants-exam-notes-241372.html. {{cite web}}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  16. Koch, Ana Kelly; Ilkiu-Borges, Anna Luiza (2016). "Flora das cangas da Serra dos Carajás, Pará, Brasil: Passifloraceae". Rodriguésia. 67 (5spe): 1431–1436. doi:10.1590/2175-7860201667543. ISSN 2175-7860.
  17. "ลิเภา - ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ ม.อุบล : phargarden.com". www.phargarden.com.
  18. Haldeman, Jan. "As the vine twines". Native and Naturalized Plants of the Carolinas and Georgia. สืบค้นเมื่อ 16 January 2018.
  19. Weakley, Alan S. (May 2015). Flora of the Southern and Mid-Atlantic States. UNC Herbarium, North Carolina Botanical Garden, University of North Carolina at Chapel Hill. สืบค้นเมื่อ 16 January 2018.
  20. bine at Merriam-Webster
  21. Cone Heads at Willamette Week
  22. Misalliance