ฌัก ปีแยร์ บรีโซ

(เปลี่ยนทางจาก ฌัก ปีแยร์ บริสโซ)

ฌัก ปีแยร์ บรีโซ (ฝรั่งเศส: Jacques Pierre Brissot) เป็นสมาชิกคนสำคัญของกลุ่มฌีรงแด็ง กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศฝรั่งเศสระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศสและเป็นได้รองประธานที่ประชุมใหญ่แห่งชาติ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายตรงข้ามเขาได้ใช้กำลังอาวุธเข้าบีบบังคับสภาให้ปลดและจับกุมตัวเขาตลอดจนสมาชิกฌีรงแด็งคนอื่น ๆ ท้ายที่สุดเขาถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตีน

ฌัก ปีแยร์ บรีโซ เดอ วาร์วีล
Jacques Pierre Brissot de Warville
รองประธานที่ประชุมใหญ่แห่งชาติ
ดำรงตำแหน่ง
20 กันยายน ค.ศ. 1792 – 30 ตุลาคม ค.ศ. 1793
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
ฌัก ปีแยร์ บรีโซ

15 มกราคม ค.ศ. 1754(1754-01-15)
ชาทร์, ฝรั่งเศส
เสียชีวิต31 ตุลาคม ค.ศ. 1793(1793-10-31) (39 ปี)
ปลัสเดอลากงกอร์ด, ปารีส, ฝรั่งเศส
สาเหตุการเสียชีวิตกีโยตีน
ที่ไว้ศพ48°52′25″N 2°19′22″E / 48.873611°N 2.322778°E / 48.873611; 2.322778
อาชีพนักเขียน, นักหนังสือพิมพ์, นักการเมือง
ลายมือชื่อ

ประวัติ

แก้

ฌัก ปีแยร์ บรีโซ เกิดในชาทร์ ราชอาณาจักรฝรั่งเศส มีบิดาเป็นเจ้าของโรงแรม เขาเข้าศึกษาด้านกฎหมายและเข้าทำงานเป็นทนายความในปารีส ต่อมาเมื่อเขาสมรสเขาและครอบครัวก็ย้ายไปอาศัยอยู่ในลอนดอน โดยมีภรรยาของเขาช่วยในการแปลผลงานของเขาเป็นภาษาอังกฤษ บรีโซเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมาจากการเขียนหนังสือ Mercure de France, Courrier de l'Europe และอื่น ๆ อีกหลายเล่ม เขาเป็นนักสิทธิมนุษยชน และยังเป็นผู้เสนอแผนให้เกิดความรวมกลุ่มกันของเหล่าปัญญาชนทั้งยุโรปฝ่านหนังสือพิมพ์ที่ชื่อว่า Journal du Lycée de Londres ซึ่งมีตัวเขาเป็นบรรณาธิการ แต่แผนการของเขาไม่สำเร็จ ไม่นานหลังจากนั้นเขาก็กลับไปยังปารีส

เขามีชื่อเสียงขึ้นอย่างมากในปี ค.ศ. 1785 เมื่อเขาส่งจดหมายเปิดผนึกถึงจักรพรรดิโยเซฟที่ 2 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ โดยเนื้อหานั้นเป็นการสนับสนุนความชอบธรรมในการล้มล้างระบอบกษัตริย์ที่ไม่พึงธรรมของฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1788 เขาได้ไปเยือนสหรัฐอเมริกา และได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของบัณฑิตยสถานศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์อเมริกัน เขายังรับเอาแนวคิดอุดมคติของสหรัฐอเมริกามาและเชื่อว่าจะสามารถนำไปใช้ในการพัฒนารัฐบาลฝรั่งเศสได้ ซึ่ง ณ จุด ๆ นี้ เขาเริ่มคิดที่จะพาครอบครัวย้ายถิ่นฐานมายังสหรัฐอเมริกา ตัวเขาเองยังมีความสนิทชิดเชื้อกับทอมัส เจฟเฟอร์สัน ทูตสหรัฐอเมริกาประจำปารีสอีกด้วย

การปฏิวัติฝรั่งเศส

แก้

การลุกฮือในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1789 ทำให้บรีโซได้กลายเป็นผู้สนับสนุนและกระบอกเสียงที่สำคัญ เขายังเป็นผู้นำของการรณรงค์เลิกทาสและในปี ค.ศ. 1790 ก็จัดตั้งขบวนการต่อต้านระบอบทาสในปารีส ในที่สุดเขาก็ได้รับเลือกให้เข้าเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ และต่อมาเป็นสมาชิกที่ประชุมใหญ่แห่งชาติ ต่อมาบรีโซได้เข้าร่วมกับพรรคฌีรงแด็ง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกมองว่าเป็น 'พรรคสงคราม'

หลังพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกควบคุมตัวและถูกนำพระองค์ไปขึ้นศาลในข้อหา "ทรยศต่อประเทศ" และกระทำ "อาชญากรรมต่อรัฐ" บรีโซและพรรคฌีรงแด็งก็ได้เสนอให้ทำการกักขังพระองค์ไว้เป็นตัวประกันและทำการต่อรอง แต่ก็ไม่เป็นผล ในที่สุดพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็ถูกประหารชีวิต การที่เขาคัดค้านการประหารชีวิตพระเจ้าหลุยส์ เนื่องจากเชื่อว่าหากประหารพระองค์แล้ว ฝรั่งเศสจะสูญเสียอำนาจในการต่อรองกับนานาชาติ และกังวลเกี่ยวกับการลุกฮือของฝ่ายนิยมระบอบกษัตริย์

ถูกถอดถอนและประหารชีวิต

แก้

ด้วยกลัวที่ฝรั่งเศสจะต้องทำสงครามกับจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ประกอบกับความความวุ่นวายในฝรั่งเศสยังไม่จบลงจากการจลาจลของฝ่ายนิยมเจ้า บรีโซเสนอญัตติให้มีการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ค.ศ. 1791 แต่ญัตติไม่ได้รับการตอบสนอง จนในปลายเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1793 ในที่ประชุมสภาที่พระราชวังตุยเลอรี พรรคลามงตาญได้เสนอญัตติให้ถอดถอนคณะกรรมการสภาทั้งสิบสองพร้อมทั้งควบคุมตัวบรีโซและสมาชิกพรรคฌีรงแด็ง โดยที่มีทหารพร้อมอาวุธและปืนใหญ่ได้เข้าล้อมที่พระราชวังตุยเลอรีไว้[1] แต่สภาได้ลงมติไม่รับญัตติ เช่นนั้นแล้ว ฟรองซัว อ็องรีโย ผู้บัญชาการกองทหารจึงแจ้งว่า "ไปบอกประธานโง่ของเจ้าซะว่าเขากับสภาถึงจุดจบแล้ว และถ้าภายในหนึ่งชั่วโมงเขาไม่ส่งตัวกรรมการทั้งสิบสองคนมา ที่นี่โดนชั้นเป่ากระจุยแน่" [2]

ด้วยคำขู่นั้น สภาจึงลงมติเห็นชอบในวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1793 ทำให้บรีโซและสมาชิกพรรคฌีรงแด็งอีก 28 คนถูกจับกุม แม้เขาจะสามารถหลบหนีจากการควบคุมตัวแต่ก็ถูกจับกุมได้ เขาและสมาชิกพรรคฯ ถูกนำตัวพิจารณาคดีในศาล ด้วยข้อหา "สมคบกับต่างประเทศ โดยเฉพาะกับอังกฤษ ในการขัดขวางการปฏิวัติฯ"[3] คำพิพากษาในวันที่ 30 ตุลาคม ตัดสินให้ประหารชีวิตบรีโซและสมาชิกพรรคฌีรงแด็งทั้ง 28 คน[4] บรีโซถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตีนในวันต่อมา ณ ปลัสเดอลากงกอร์ด ขณะมีอายุได้ 39 ปี

อ้างอิง

แก้
  1. David Andress, The Terror 175.
  2. David Andress, The Terror 176.
  3. David Andress, The Terror 228.
  4. David Andress, The Terror 229.