พระราชวังตุยเลอรี
พระราชวังตุยเลอรี (ฝรั่งเศส: Palais des Tuileries) เป็นวังที่เคยตั้งอยู่ในกรุงปารีส เคยตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแซน เป็นที่ประทับหลักในกรุงปารีสของพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าอ็องรีที่ 4 จนถึงจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 วังแห่งนี้ถูกเผาทำลายโดยกลุ่มปฏิวัติที่ชื่อว่าคอมมูนปารีสในปี ค.ศ. 1871[1] รัฐสภาฝรั่งเศสมีมติให้รื้อถอนซากวังทั้งหมดทิ้งในปีค.ศ. 1882 และพื้นที่แห่งนี้ก็กลายเป็นสวนตุยเลอรีมาจนถึงปัจจุบัน
หน้าวังตุยเลอรีมีความกว้างทั้งหมด 266 เมตร ตัววังแรกเริ่มถูกก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบเรอแนซ็องส์ ส่วนที่ต่อเติมในคริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18 มีสถาปัตยกรรมแบบพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 และบารอก ส่วนที่ต่อเติมในศตวรรษที่ 19 มีสถาปัตยกรรมแบบฟื้นฟูคลาสสิกและบารอกใหม่
ประวัติ
แก้พระราชวังตุยเลอรีเริ่มสร้างในปี 1564 ตามความปรารถนาของพระนางแคทเธอรีน เดอ เมดีชี[2] ราชินีหม้ายในพระเจ้าอ็องรีที่ 2 ซึ่งเสด็จสวรรคตทันด่วนจากอุบัติเหตุ ต่อมาในรัชสมัยพระเจ้าอ็องรีที่ 4 ตัววังได้รับการขยายไปทางทิศใต้จนไปบรรจบกับห้องจัดแสดงริมแม่น้ำ กร็องด์กาลรี (Grande Galerie) และยังขยายปีกตะวันตกจนจรดไปถึงอาณาเขตสนามของพระราชวังลูฟวร์
ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 พระราชวังตุยเลอรีถูกขยายครั้งใหญ่ที่สุดระหว่างปี 1659 ถึง 1661 ตัวมีการขยายวังไปทางเหนือ ส่วนที่ถูกสร้างเพิ่มใหม่คือโรงละครตุยเลอรี (Théâtre des Tuileries)[3] และระหว่างปี 1664 ถึง 1666 ครอบหน้าและท้องพระโรงกลางถูกแก้ไขใหม่โดยสถาปนิกหลวง หลุยส์ เลอ วู (Louis Le Vau) เขายกบันไดใหญ่ในท้องพระโรงกลางออกทำเป็นโถงแนวกว้าง และมีการสร้างโดมทรงสี่เหลี่ยมเหนือห้องโถงชั้นบน มีการสร้างบันไดใหญ่องค์ใหม่ไว้ที่ทางเข้าปีกเหนือของวัง มีการก่อสร้างอาคารชุดที่ประทับที่ตกแต่งอย่างหรูหราที่ปีกใต้ ห้องบรรทมขององค์กษัตริย์อยู่ชั้นระดับดินหันหน้าไปหาพระราชวังลูฟวร์ โดยมีห้องขององค์ราชินีอยู่ชั้นบนตำแหน่งเดียวกัน
ตุลาคม 1789 ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พร้อมด้วยพระมเหสี ถูกบังคับให้ออกจากพระราชวังแวร์ซาย และถูกนำตัวมาประทับไว้ที่พระราชวังตุยเลอรีภายใต้การสอดส่อง พระเจ้าหลุยส์และพระมเหสีแอบหลบหนีจากตุยเลอรีในคืนวันที่ 20 มิถุนายน 1791 แต่ก็ถูกจับกุมที่เมืองวาแรนและถูกนำตัวกลับมาที่ตุยเลอรี
อ้างอิง
แก้- ↑ « Quand Paris brûlait… » เก็บถาวร 2021-03-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Valeurs actuelles.
- ↑ L'établissement est transféré à son emplacement actuel, rue de Charenton, en 1779.
- ↑ Coeyman 1998, pp. 45–46.