จักรพรรดิซ่งเฉินจง

(เปลี่ยนทางจาก ซ่งเสินจง)

ซ่งเสินจง (จีน: 宋神宗; พินอิน: Sòng Shénzōng; 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1048 – 1 เมษายน ค.ศ. 1085) พระนามเดิมว่า จ้าว ซฺวี (จีนตัวย่อ: 赵顼; จีนตัวเต็ม: 趙頊; พินอิน: Zhào Xū) เป็นจักรพรรดิองค์ที่ 6 ของราชวงศ์ซ่ง (宋朝) แห่งจักรวรรดิจีน และเมื่อแบ่งราชวงศ์ซ่งออกเป็นสมัยเหนือกับสมัยใต้ นับเป็นจักรพรรดิองค์ที่ 6 ของราชวงศ์ซ่งเหนือ (北宋朝) เสวยราชย์ตั้งแต่ ค.ศ. 1067 จนสวรรคตใน ค.ศ. 1085

ซ่งเสินจง
พระบรมสาทิสลักษณ์บนม้วนกระดาษแขวนผนัง ปัจจุบันเก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติในไทเป ไต้หวัน
จักรพรรดิแห่งราชวงศ์ซ่ง
ครองราชย์25 มกราคม ค.ศ. 1067 – 1 เมษายน ค.ศ. 1085
ราชาภิเษก25 มกราคม ค.ศ. 1067
ก่อนหน้าจักรพรรดิซ่งอิงจง (宋英宗)
ถัดไปจักรพรรดิซ่งเจ๋อจง (宋哲宗)
ประสูติ25 พฤษภาคม ค.ศ. 1048(1048-05-25)
จ้าว จ้งเจิน (趙仲鍼; ค.ศ. 1048–1067)
จ้าว ซฺวี (趙頊; ค.ศ. 1067–1085)
สวรรคต1 เมษายน ค.ศ. 1085(1085-04-01) (36 ปี)
พระนามเดิม
จ้าว ซฺวี
พระสมัญญานาม
จักรพรรดิถี่หยวนเสี่ยนเต้า ฝ่ากู่ ลี่เซี่ยน ตี้เต๋อ หวังกง อิงเหวิน เลี่ยอู่ ชินเหริน เชิ่งเซี่ยว (體元顯道法古立憲帝德王功英文烈武欽仁聖孝皇帝) (ได้รับใน ค.ศ. 1113)
พระอารามนาม
เสินจง (神宗)
ราชวงศ์ราชวงศ์ซ่ง
พระราชบิดาจักรพรรดิซ่งอิงจง
พระราชมารดาเกาฮองเฮา (高皇后)

จ้าว ซฺวี เดิมชื่อ "จ้าว จ้งเจิน" (趙仲鍼) เป็นโอรสของจ้าว ฉู่ (趙曙) ผู้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิซ่งอิงจง (宋英宗) กับเกาฮองเฮา (高氏) พระอัครมเหสี ผู้ได้เป็นจักรพรรดินีฐานันดรศักดิ์ "เซฺวียนเหรินหฺวงโฮ่ว" (宣仁皇后) จ้าว ซฺวี ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาใน ค.ศ. 1067 และทรงสนพระทัยในนโยบายของหวัง อานฉือ (王安石) อย่างยิ่ง จึงตั้งหวัง อานฉือ เป็นอัครมหาเสนาบดี (宰相) หวัง อานฉือ ดำเนิน "นโยบายใหม่" (新法) เพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ของชนชั้นรากหญ้า นักวิชาการเห็นกันว่า นโยบายดังกล่าวเทียบได้กับรัฐสวัสดิการในสมัยปัจจุบัน และกลายเป็นลักษณะสำคัญของรัชกาลนี้

ใน ค.ศ. 1076 จ้าว ซฺวี ทรงส่งกองทัพไปตีราชวงศ์ลี้ (Nhà Lý) ของเวียดนาม ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิลี้ เญิน ตง (Lý Nhân Tông) แต่ล้มเหลว[1]

จ้าว ซฺวี ยังทรงพยายามลดกำลังของรัฐเพื่อนบ้านอย่างราชวงศ์เซี่ยตะวันตก (西夏) ของชาวตั่งเซี่ยง (党項; Tangut) ด้วยการรุกไล่ทัพเซี่ยออกจากกานซู่ (甘肃) ซึ่งประสบผลสำเร็จในเบื้องแรก แต่มาล้มเหลวเอาในยุทธการนครหย่งเล่อ (永乐城之战) เมื่อ ค.ศ. 1082 จึงเป็นผลให้ราชวงศ์เซี่ยกลับเข้มแข็งยิ่งกว่าเก่าและกลายเป็นเสี้ยนหนามสำหรับราชวงศ์ซ่งในอีกหลายทศวรรษถัดมา

ในรัชกาลของพระองค์มีการผลิตเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์หลายฉบับ เช่น พงศาวดาร จือจื้อทงเจี้ยน (資治通鑑) ของซือหม่า กวัง (司馬光) ที่เริ่มตั้งแต่ราชวงศ์โจว (周朝) มาจนราชวงศ์ซ่ง และ อู่จิงชีชู (武經七書) ที่ประมวลตำราพิชัยสงคราม 7 ฉบับเอาไว้[2]

ไมเคิลเดอะเซเวนท์โดคัส (Michael VII Doukas) จักรพรรดิแห่งจักรวรรดิบิซันทีน (Byzantine Empire) ยังส่งราชทูตมาจีนเมื่อ ค.ศ. 1081 ซึ่งตรงกับรัชกาลของพระองค์อีกด้วย[3]

ครั้น ค.ศ. 1085 จ้าว ซฺวี ประชวรสวรรคต พระราชโอรสของพระองค์ จ้าว ซฺวี่ (趙煦) จึงขึ้นสืบราชสมบัติต่อเป็นจักรพรรดิซ่งเจ๋อจง (宋哲宗) แต่เนื่องจากจ้าว ซฺวี่ ยังทรงพระเยาว์ เซฺวียนเหรินไทเฮา ผู้เป็นพระอัยยิกาจึงสำเร็จราชการแทน

อ้างอิง

แก้
  1. Maspéro, Georges (2002). The Champa Kingdom: The History of an Extinct Vietnamese Culture. White Lotus Press. p. 71. ISBN 978-974-7534-99-3.
  2. Sawyer, Ralph D. (1993). The Seven Military Classics of Ancient China. Westview Press. p. 489. ISBN 978-0-8133-1228-6.[ลิงก์เสีย]
  3. Sezgin, Fuat; Ehrig-Eggert, Carl; Mazen, Amawi; Neubauer, E. (1996). نصوص ودراسات من مصادر صينية حول البلدان الاسلامية. Frankfurt am Main, Germany: Institute for the History of Arabic-Islamic Science at the Johann Wolfgang Goethe University. p. 25.