ซีโควยา (เชโรกี: ᏍᏏᏉᏯ Ssiquoya ชื่อที่เจ้าตัวสะกด) [2][3] หรือ เซโควยา (เชโรกี: ᏎᏉᏯ Sequoya ชื่อที่มักสะกดกันในปัจจุบัน) มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า จอร์จ กิสต์ (อังกฤษ: George Gist) (ประมาณ พ.ศ. 2310–2386) เป็นช่างเงินชาวเชโรกีและเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรเชโรกีสำหรับเขียนภาษาเชโรกีในปีพ.ศ. 2364 ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในเพียงไม่กี่ครั้งที่บุคคลผู้ไม่รู้หนังสือจะสามารถสร้างระบบการเขียนที่มีประสิทธิภาพสำหรับภาษาหนึ่งได้[1][4] อักษรเชโรกีของซีโควยาได้แพร่หลายและเป็นที่ยอมรับในหมู่ชาวเชโรกี และทำให้อัตราการรู้หนังสือของชาวเชโรกีในสมัยนั้นสูงกว่าชาวอเมริกันที่อพยพมาจากยุโรปเสียอีก[1]

ซีโควยา
ᏍᏏᏉᏯ
เกิดป. 1770
ทัสคีกี, ชนชาติเชอโรคี (ใกล้กับน็อกซ์วิลล์, รัฐเทนเนสซีในปัจจุบัน)[1]
เสียชีวิตสิงหาคม 1843 (อายุ 72–73)
San Fernando de Rosa, โกอาวีลา, เม็กซิโก (ใกล้กับซาราโกซา, โกอาวีลา, ประเทศเม็กซิโกในปัจจุบัน)
สัญชาติเชอโรคี, อเมริกัน
ชื่ออื่นGeorge Guess, George Gist
อาชีพช่างเงิน, ช่างตีเหล็ก, นักการศึกษา, นักสู้, นักการเมือง, นักประดิษฐ์
คู่สมรสคนแรก: แซลลี (ไม่ทราบชื่อก่อนสมรส), คนที่ 2: U-ti-yu, ᎤᏘᏳ
บุตรภรรยาคนแรกมีลูกสี่คน ภรรยาคนที่สองมีลูกสามคน
บิดามารดาWut-teh กับ Nathanial Gist

การคิดค้นระบบการเขียน

แก้
 
ตัวอักษรที่ซีโควยาคิดค้นขึ้น เรียงตามลำดับที่เขาจัดไว้ในตอนแรก

ในฐานะช่างเงิน ซีโควยาจึงได้ติดต่อกับคนผิวขาวอยู่เป็นประจำ ทำให้ซีโควยาได้เห็น "ใบพูดได้" (talking leaves) หรือหนังสือ และเกิดแรงบันดาลใจที่จะสร้างระบบการเขียนสำหรับภาษาของตนบ้าง จึงได้เริ่มการคิดค้นตัวอักษรในช่วงประมาณปีพ.ศ. 2352 ในตอนแรกซีโควยาได้พยายามสร้างตัวอักษรขึ้นมาสำหรับคำแต่ละคำ โดยใช้เวลาเป็นปีเพื่อคิดตัวอักษรโดยแทบไม่สนใจไร่นาของตนเลย ทำให้บรรดาเพื่อนและเพื่อนบ้านคิดว่าเขาเสียสติไปแล้ว[5][6] กล่าวกันว่าภรรยาของเขาได้เผางานในช่วงแรก ๆ ของเขา เพราะคิดว่าเป็นเวทมนตร์[1]

ซีโควยาไม่ประสบความสำเร็จจนกระทั่งเขาได้ล้มเลิกความตั้งใจที่จะสร้างตัวอักษรขึ้นสำหรับคำแต่ละคำ และได้พยายามที่จะสร้างตัวอักษรขึ้นมาสำหรับพยางค์แต่ละพยางค์แทน หลังจากนั้นประมาณหนึ่งเดือน เขาได้สร้างตัวอักษรขึ้นมา 86 ตัว ซึ่งหลายตัวมีหน้าตาเหมือนอักษรละตินที่เขาได้แบบอย่างมาจากหนังสือสอนสะกดคำ[5] Janine Scancarelli นักวิชาการทางด้านอักษรเชโรกีกล่าวว่า "ตัวอักษรหลายตัวมีรูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงกับอักษรละติน ซีริลลิก กรีก และเลขอารบิก แต่ก็ไม่มีความสัมพันธ์ทางด้านเสียงในภาษาดังกล่าวกับภาษาเชโรกีแม้แต่น้อย"[1]

เนื่องจากเขาไม่สามารถหาคนที่ต้องการจะเรียนรู้อักษรที่เขาประดิษฐ์ขึ้นมาได้ ซีโควยาจึงสอน Ayokeh (หรือ Ayoka) ลูกสาวของเขาเอง[1] และได้เดินทางไปยังพื้นที่ที่ปัจจุบันเป็นรัฐอาร์คันซอ ซึ่งมีชาวเชโรกีอาศัยอยู่จำนวนหนึ่ง เขาได้พยายามโน้มน้าวให้หัวหน้าของคนในท้องถิ่นเห็นความสำคัญของอักษร และได้สาธิตให้ดู โดยให้คนเหล่านั้นพูดคำมาคำหนึ่ง แล้วเขาก็เขียนคำลงไป จากนั้นก็ให้ลูกสาวของเขาอ่านคำที่เขาเขียนไว้ การสาธิตดังกล่าวได้ทำให้เขาได้สอนอักษรกับคนเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย ซึ่งทำให้เกิดข่าวลือว่าเขาได้สอนวิชาการใช้เวทมนตร์กับพวกนักเรียน หลังจากที่สอนเสร็จแล้ว เขาได้ทดสอบการอ่านเขียนของนักเรียน ซึ่งก็ทำให้ชาวเชโรกีในที่แห่งนั้นเข้าใจว่าซีโควยาได้สร้างระบบการเขียนที่ใช้งานได้จริง[6]

เมื่อซีโควยากลับมาทางตะวันออก เขาได้นำจดหมายปิดผนึกที่บันทึกคำพูดของหัวหน้าชาวพื้นเมืองที่อาร์คันซอมาด้วย และได้อ่านข้อความดังกล่าวให้กับชาวเชโรกีทางตะวันออกฟัง ทำให้มีชาวเชโรกีทางตะวันออกสนใจเรียนอักษรเชโรกีเพิ่มขึ้นอีก[5][6]

ในปีพ.ศ. 2368 ชนชาติเชโรกีได้รับระบบการเขียนดังกล่าวอย่างเป็นทางการ และระหว่างปีพ.ศ. 2371 - 2377 นักเขียนและบรรณาธิการได้ใช้อักษรของซีโควยาตีพิมพ์ เชโรกี ฟีนิกซ์ หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของชนชาติเชโรกี ซึ่งตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษและภาษาเชโรกี[4]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 Wilford, John Noble. "Carvings From Cherokee Script’s Dawn ." New York Times. 22 June 2009 (retrieved 23 June 2009)
  2. Morand, Ann (2003). Treasures of Gilcrease: Selections from the Permanent Collection. Tulsa, OK: Gilcrease Museum. ISBN 097256571X. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  3. Holmes, Ruth Bradley (1976). Beginning Cherokee: Talisgo Galiquogi Dideliquasdodi Tsalagi Digoweli. Norman: University of Oklahoma Press. ISBN 0-8061-1362-6. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  4. 4.0 4.1 "Sequoyah" เก็บถาวร 2007-11-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, New Georgia Encyclopedia, accessed 3 Jan 2009
  5. 5.0 5.1 5.2 G. C. (1820-08-13). "Invention of the Cherokee Alphabet". Cherokee Phoenix. Vol. 1 no. 24.
  6. 6.0 6.1 6.2 Boudinot, Elias (1832-04-01). "Invention of a new Alphabet". American Annals of Education.